xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงของจักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โครงการจักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการ ก็มีทั้งเสียงชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย

โดยเฉพาะเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น หลังจากที่เปิดให้บริการเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว พบว่า มีจุดอ่อนหลายเรื่องที่ยังต้องแก้ไข ทั้งเรื่องเส้นทางจักรยานที่ทับซ้อนกับเส้นทางรถยนต์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่ เพราะเวลาที่ปั่นไปก็ต้องระวังรถ และระวังคน โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

ขณะที่เส้นทางจักรยานบางเส้นก็มีรถยนต์ รถทัวร์นักท่องเที่ยว มาจอดอยู่ในเลนจักรยานทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ ตลอดจนไม่มีตำรวจ และเจ้าหน้าที่เทศกิจมาคอยดูแลตลอดเส้นทาง ส่วนตัวรถจักรยานเอง ก็ขาดกระดิ่งส่งสัญญาณเสียง ล้อรถฝืด เบรกไม่ดี นอกจากนี้ สถานที่จอดยังต้องตากแดดตากฝน ซึ่งอาจส่งผลให้รถจักรยานเสื่อมสภาพได้เร็วอีกด้วย
 
ความจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไร...ต้องติดตาม
ก่อนโบกมือลาตำแหน่งพ่อเมือง กทม.ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ได้เอ่ยถึงที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าวว่า กทม.เป็นเมืองหลวงที่มีความหลากหลาย และมีเสน่ห์น่าท่องเที่ยวไม่แพ้เมืองใดในโลก เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปกรรม แหล่งวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม แหล่งเกษตรกรรมมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นสถานที่ที่รวมแหล่งท่องเที่ยวอันทรงคุณค่ามากมายที่ชาวไทยทุกคนภาคภูมิใจ

แต่ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงสถานที่ เนื่องจากการจราจร และพาหนะการเดินทางไม่เอื้ออำนวย กทม.จึงได้พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวโดยใช้จักรยาน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในเมืองชั้นนำทั่วโลก เพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงในเวลาที่จำกัด อีกทั้งยังเป็นโครงการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน อีกทางหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับโครงการวาระกรุงเทพสีเขียวอีกด้วย

ด้าน “นพดล ตัณศรารักษ์” หรือ พี่ตั้ม ประธานกรรมการบริหารบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้าง กทม.ในการจัดหาจักรยาน บอกว่า จักรยานของเราจะมีรูปแบบที่สวยงาม เมื่อใครพบเห็นก็จะรู้สึกว่าน่าขับขี่ โดยออกแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด แม้แต่คนที่ขี่จักรยานไม่เป็น ก็สามารถขี่ได้ง่าย โอกาสเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างน้อย โดยตัวรถจักรยาน บริเวณอานสามารถปรับระดับขึ้นลงได้ตามใจชอบ ส่วนแฮนด์จะออกแบบให้ไม่กว้างไม่แคบจนเกินไปเพื่อที่จะได้ขับขี่ได้สบายๆ เพราะถ้าแคบจะเป็นการเพิ่มความเร็วให้กับจักรยาน และจะไม่มีเกียร์ปรับระดับความเร็ว เพราะจักรยานท่องเที่ยวทั่วโลกจะถูกออกแบบให้ไม่มีเกียร์
 
ทั้งนี้ จักรยานท่องเที่ยวจะมีน้ำหนักมากกว่าจักรยานทั่วไปโดยจักรยานท่องเที่ยวจะหนักที่ 16 กิโลกรัม ซึ่งเหตุที่มีน้ำหนักมากกว่าจักรยานทั่วไปซึ่งปรกติจะอยู่ที่ 10 กิโลกรัมต้นๆ นั้น เพื่อความปลอดภัย ถ้าเบาเกินไปจะทำให้ขับขี่เร็ว รวมถึงป้องกันการลักขโมย

พี่ตั้ม บอกต่อว่า สำหรับวัสดุที่นำมาประกอบเป็นรถจักรยานท่องเที่ยวนั้น ตัวถังจักรยานผลิตจากเหล็กพ่นด้วยสีเขียว ตกแต่งด้วยฝาครอบตัวถังผลิตจากไฟเบอร์กลาส บริเวณส่วนหัวทำจากเหล็ก มีที่วางสัมภาระรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 10 กิโลกรัม และมีที่ล็อกจักรยานเข้ากับจุดจอด วงล้อตกแต่งด้วยฝาครอบล้อผลิตจากไฟเบอร์กลาส มีแผ่นทับทิมสะท้อนแสงติดด้านหน้าและหลังของตัวรถ โดยด้านหน้าเป็นสีขาว ด้านหลังเป็นสีแดง ขณะที่ชุดขับเคลื่อนแบบขับเคลื่อนด้วยโซ่ มีฝาครอบทำจากไฟเบอร์กลาสเช่นกัน แต่จะไม่มีที่นั่งสำหรับซ้อนท้ายเพราะถ้าซ้อนจะเกิดอันตราย แต่อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของตัวรถจักรยานอยู่ในระดับมาตรฐานสากล

“ผมอยากเชิญชวนคนกรุงเทพฯมาร่วมปั่นจักรยานชมกรุง ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถช่วยลดโลกร้อน ลดมลภาวะ ประหยัดพลังงาน โดยขอแนะนำให้การขี่จักรยานชมเมืองช่วงบ่ายๆ เย็นๆ เพราะจะเห็น กทม.ในมุมที่สวยมาก และการขี่จักรยานสามารถไปได้ทุกซอกมุม จึงทำให้เก็บรายละเอียดได้หมด ทั้งนี้ ถ้ามากันเป็นกลุ่มสามารถแจ้งความประสงค์ขอผู้นำเที่ยวได้ที่กองการท่องเที่ยว กทม.ทั้งนี้ ไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับอันตราย เพราะ กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ และตำรวจเป็นผู้ช่วยควบคุมการขับขี่ รวมถึงการมอนิเตอร์จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด และบริษัทฯมีการทำประกันภัยบุคคลไว้ด้วยหากเกิดเหตุ” พี่ตั้ม กล่าว
 
สำหรับโครงการจักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์ มีจักรยานในโครงการทั้งหมด 300 คันโดยมีสถานีจอดรถจักรยานให้บริการทั้งหมด 8 จุดๆ ละ 20-30 คัน คือ 1.หน้ากองการท่องเที่ยวถนนพระอาทิตย์ 2.สวนสันติชัยปราการ 3.เกาะกลางวัดบวรนิเวศถนนสิบสามห้าง 4.ท่าเตียน 5.สวนสราญรมย์ 6.ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกทม 7.สนามหลวงหน้าวัดพระแก้ว 8.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยเปิดให้บริการฟรีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย-ต่างประเทศ อายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-18.00 น.เสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น. โดยเมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับคู่มือจักรยานชมกรุง โดยภายในจะมีรายละเอียดแผนที่เส้นทาง แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวถึง 45 แห่ง ตามแนวเส้นทางจักรยานที่ผ่าน 3 ย่านเก่าแก่ในพื้นที่ชั้นใน กทม.
ได้แก่ ย่านคลองคูเมืองเดิม ย่านภูเขาทอง ย่านบางลำพู อาทิ วังท่าพระ พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หอกลองหอนาฬิกา พระราชอุทยานสราญรมย์ แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ ป้อมมหากาฬ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ถนนข้าวสาร ป้อมพระสุเมรุ และสวนสันติชัยปราการ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร และสวนหย่อมสิบสามห้าง พระที่นั่งอนันตสมาคม สวนสัตว์ดุสิต พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ด้าน “ไกรสร ม้าวมงคล” เจ้าหน้าที่ประจำจุดจอดบริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม.บอกว่า โดยเฉลี่ยในวันธรรมดาจุดนี้จะมีประชาชนมาใช้บริการจักรยานชมกรุงวันละ 5-10 ราย หรือรวมกัน 8 จุดประมาณวันละ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ขณะที่ในวันเสาร์-อาทิตย์ จะเพิ่มมากขึ้นและมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมท่องกรุงด้วยจักรยานยืมปั่นฟรีด้วย ทั้งนี้ เฉลี่ยอายุผู้ที่มาใช้บริการจะอยู่ที่ 20-40 ปี แต่เคยมีคุณลุงอายุ 60 ปี มายืมจักรยานไปปั่นด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ที่มีอายุมากแล้วทางเจ้าหน้าที่จะประเมินสุขภาพก่อนที่จะให้มีการยืม ซึ่งคุณลุงคนดังกล่าวปั่นครบรอบ

...ส่วนข้อติชมและข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเขาฝากบอกว่าพร้อมที่จะน้อมรับไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น