xs
xsm
sm
md
lg

RECYCLE-A-BICYCLE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สองขาปั่น สองล้อหมุน เกื้อหนุนกัน สร้างสรรค์สังคม

จักรยาน....สำหรับบางคนอาจมีความหมายมากกว่า พาหนะ 2 ล้อ

บางคนมีอดีตที่สนุกสนานกับการได้ปั่นจักรยานเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ ซึ่งอาจจะเป็นคันเดียวกับที่เคยใช้ปั่นไปเรียนหนังสือ ไปตลาด ไปทำธุระใกล้บ้าน หรือแม้แต่การเดินทางเพื่อไปทำงาน

นอกจากนี้ยังมีบางคนที่เลือกวิธีออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน และมีอีกไม่น้อยที่มีจักรยานเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพ

เนื่องจากจักรยานเป็นพาหนะที่ราคาไม่แพง มีประโยชน์ใช้งานหลากหลาย อีกทั้งไม่ต้องใช้น้ำมันเหมือนกับรถยนต์ ทำให้มีการใช้จักรยานกันอย่างแพร่หลายเรื่อยมาทั้งในตัวเมืองและชนบททั่วประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่าจักรยานเป็นพาหนะยอดนิยมของครอบครัวในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้

เพราะความสำคัญของการใช้จักรยานที่กล่าวมา ซึ่งช่วยพัฒนาทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจิตของผู้คนในสังคมให้ดีขึ้น ทาง ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (Thailand Cycling Club) ซึ่งเวลานี้กำลังใช้ความพยายามที่มีทั้งหมด ผลักดันให้คนในสังคมเห็นถึงคุณค่าและหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น จึงได้เริ่มกิจกรรมภายใต้โครงการรีไซเคิลจักรยานขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 โดย ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจักรยานเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม ใช้งานไม่ได้ว่าสามารถนำกลับมาซ่อมแซมแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้ ซึ่งจะเป็นการดีกว่าทิ้งเป็นขยะหรือเศษเหล็กอันจะเป็นการลดปริมาณขยะด้วยทางหนึ่ง

อีกทั้งการนำจักรยานที่ได้รับการรีไซเคิลแล้วไปบริจาคต่อนั้นยังเป็นประโยชน์แก่เด็กนักเรียนตามชนบทที่บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียนและเดินเท้ามาโรงเรียนวันละหลายกิโลเมตร ได้มีจักรยานขี่ไปโรงเรียนช่วยให้มาโรงเรียนทันเวลา และเป็นการออกกำลังกาย รักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอีกด้วย

เริ่มรีไซเคิลจักรยาน

มงคล วิจะระณะ หรือที่นักปั่นรู้จักกันในนาม น้าหมี รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า การรีไซเคิลจักรยานของทางชมรมฯ ได้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ.2540 โดยชมรมฯ ได้ประชาสัมพันธ์ขอรับบริจาคจักรยานเก่าเหลือใช้ตามบ้าน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจร่วมบริจาคพอสมควรทั้งในรูปจักรยานเก่า จักรยานใหม่ และเงินเพื่อใช้ซื้ออะไหล่และจักรยานใหม่บ้าง ซึ่งในครั้งแรกอาสาสมัครของชมรมฯ ออกตระเวนรับจักรยานตามที่ผู้บริจาคแจ้งมา

พอในปี 2541 ชมรมฯ รวบรวมจักรยานเก่าได้จำนวนพอสมควร ฝ่ายช่างของชมรมฯ ได้ไปสำรวจสภาพของจักรยานเหล่านั้น ว่ามีจำนวน ขนาด และความเสียหายอย่างไรบ้าง โดยทำบันทึกรายละเอียดเหล่านี้ติดไว้ที่จักรยานทุกคัน และแจ้งฝ่ายจัดหาอะไหล่เพื่อจัดหาอะไหล่ให้พร้อมก่อนนัดวันซ่อมแซม ในช่วงแรกๆ นั้น ชมรมฯ ได้รับการสนับสนุนอะไหล่บางส่วนจากสมาคมส่งเสริมจักรยานไทย และใช้เงินบริจาคในโครงการจัดซื้ออะไหล่ที่จำเป็นต้องใช้นอกจากการสนับสนุนจากสมาคมฯ หลังจากนั้นเป็นการนัดฝ่ายช่างอาสาสมัครจากสมาชิกชมรมฯ ไปช่วยกันซ่อมแซม โดยซ่อมเฉพาะรายการใหญ่ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น ดัดล้อ ดัดซี่ลวด ตัดโซ่ เป็นต้น แต่เก็บรายการเล็กๆ พร้อมอะไหล่ที่คิดว่าเด็กๆ พอทำได้เองไว้ก่อน

ในระหว่างนั้น ชมรมฯ ได้ขอความร่วมมือจากเครือข่ายที่มีอยู่ให้ช่วยคัดเลือกโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนที่ต้องเดินเท้ามาโรงเรียนวันละหลายกิโลเมตร และประสานไปยังโรงเรียนนั้นๆ แจ้งให้จัดหาเด็กนักเรียนอายุพอเหมาะกับขนาดของจักรยานที่ได้ซ่อมไว้ และนัดหมายให้เด็กมาอยู่ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มสมาชิกชมรมฯ ที่โรงเรียนด้วย โดยชมรมฯ จัดทริปจักรยานรีไซเคิลรับสมาชิกและช่างอาสาสมัครเดินทางไปร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งอาจมีจักรยานใหม่บ้างในบางครั้ง เมื่อถึงโรงเรียนแล้ว ในการบริจาคจักรยานแรกๆ นั้น ได้ใช้วิธีนำจักรยานมาเรียงแถวตามลำดับความสูงของจักรยาน ขณะเดียวกันก็จัดเด็กเข้าแถวตามลำดับความสูง แล้วจึงมอบจักรยานให้เด็ก แบบไม่ต้องมีพิธีการอะไรมากมาย

“จากวันแรกที่ทำจนถึงวันนี้ก็ 25 ครั้งแล้ว ที่ได้นำจักรยานไปบริจาคในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1,500 กว่าคัน และล่าสุดได้รับบริจาคจักรยานเหลือใช้ของนักศึกษามาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งภายในเดือนกันยายนที่จนถึงนี้จะนำไปมอบต่อให้โรงเรียนที่จังหวัดเพชรบูรณ์

“จักรยานที่ให้เด็กเป็นเจ้าของไปเลยนั้น จะทำให้เด็กมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและจะดูแลรักษาจักรยานของตนเองอย่างดี และให้เด็กแต่ละคนนำจักรยานของตนมาเข้ารับการอบรม โดยฝ่ายช่างและผู้ช่วย (สมาชิกที่ไปร่วมกิจกรรม) เป็นพี่เลี้ยงแนะนำวิธีซ่อมพื้นฐานให้ เช่น ปะยาง เปลี่ยนยาง เปลี่ยนสายเบรก เปลี่ยนบันได ใส่ตะแกรงท้าย ใส่ตะกร้าหน้า เปลี่ยนอาน เป็นต้น เสร็จแล้วมีการขี่จักรยานร่วมกันในระยะทางใกล้ๆ รอบๆ โรงเรียนระหว่างสมาชิกและเด็กๆ เพื่อทดสอบจักรยานที่มอบให้เด็กและเพื่อผูกความสัมพันธ์ระหว่างกัน เสร็จกิจกรรมบริจาคจักรยานแล้ว สมาชิกชมรมฯ ก็ปั่นจักรยานท่องเที่ยวต่อไป”

จักรยานรีไซเคิลจากประเทศสิงคโปร์

นอกเหนือจากการรับบริจาคจักรยานเก่า หรือจักรยานเสียตามบ้านเรือน และหน่วยงานแล้ว เคยมีชมรมจักรยานจากประเทศสิงคโปร์ (BIKE AID) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ขี่จักรยานและทำกิจกรรมเพื่อการกุศลในประเทศสิงคโปร์โดย เดวิด ฮุง (DAVID HOONG) ประธานชมรมจักรยานสิงคโปร์ ทราบข่าวโครงการรีไซเคิลจักรยานจึงได้ติดต่อขอร่วมโครงการด้วย

“มีการรวบรวมจักรยานเก่าในประเทศสิงคโปร์ แล้วส่งมาทางเรือโดยชมรมฯ ได้รับมอบจักรยานจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 2 ครั้ง รวมจักรยานที่รับมอบจากสิงคโปร์ จำนวน 274 คัน เป็นจักรยานหลายขนาด มีทั้งเสือหมอบ เสือภูเขา จักรยานจ่ายตลาด ทั้งสภาพดี และที่ต้องซ่อมแซม และอะไหล่จักรยานอีกบางส่วน

“ในการนี้ชมรมฯ ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้รับมอบและจัดสรรให้โรงเรียนในสังกัด สปช. ที่มีความจำเป็นต้องใช้จักรยานในการเดินทางมาโรงเรียน โดยชมรมฯ ได้จัดทริปรีไซเคิลจักรยาน เพื่อนำจักรยานที่ซ่อมแซมแล้วจากประเทศสิงคโปร์ไปมอบให้เด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง การบริจาคจักรยานรีไซเคิลครั้งต่อมา บางโรงเรียนขอจักรยานให้เป็นของโรงเรียนและให้เด็กนักเรียนยืมไปใช้ เมื่อเด็กเรียนจบก็ให้จักรยานแก่เด็กรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นการดีที่เด็กหลายๆ คนได้มีโอกาสได้ใช้จักรยานหมุนเวียนกันไป แต่โรงเรียนก็ต้องจัดให้มีการอบรม เพื่อบำรุงดูแลรักษาจักรยานให้ใช้ได้ต่อไป

“บางโรงเรียนรู้ว่าเราทำกิจกรรมแบบนี้ก็มีเขียนจดหมายเข้ามาขอให้ทางชมรมฯ ไปบริจาค ทางชมรมฯ ก็จะตรวจเช็กข้อมูล ไปดูพื้นที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีเงื่อนไขในการบริจาคด้วยว่าต้องเป็นเด็กที่เดินมาโรงเรียน โดยระยะทางระหว่างบ้านกับโรงเรียนห่างกันอย่างน้อย 2 กิโลเมตร”
                                                                                         
รับบริจาคจักรยาน ไม่ง่ายอย่างที่คิด

การบริจาคจักรยานอย่างต่อเนื่องทำให้จำนวนจักรยานรีไซเคิลลดน้อยลง ชมรมฯ จึงได้จัดทำแผ่นพับโครงการรีไซเคิลจักรยาน เพื่อประชาสัมพันธ์รับบริจาคจักรยานและเงินทุน โดยนำไปวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านจักรยานและอื่นๆ พร้อมทั้งขอความร่วมมือหนังสือพิมพ์ช่วยลงข่าวประชาสัมพันธ์ในการขอรับบริจาคจักรยานเก่า หรือใหม่และเงินทุนจัดหาซื้ออะไหล่ด้วย

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของทางชมรมฯ การตระเวนรับจักรยานตามบ้านผู้บริจาคนั้นพบว่าเนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัด การที่ผู้บริจาคไม่อยู่บ้านในวันธรรมดา ทำให้เสียเวลาและสูญเสียพลังงานมาก ไม่สะดวกในการตระเวนรับจักรยานต่อไป

“เมื่อก่อนทางชมรมฯ เคยขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี เพื่อขอให้ช่วยเป็นศูนย์กลางรับบริจาคให้ ซึ่งได้รับความสนับสนุนอย่างดี โดยห้างบิ๊กซีทั้ง 20 สาขา (8 สาขาในกรุงเทพฯ และ12 สาขาในต่างจังหวัด) รับเป็นศูนย์รับจักรยานเก่า โดยประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริจาคสามารถนำจักรยานไปมอบให้ที่ชั้นจอดรถของห้างฯ ได้ทุกสาขา ในวัน เวลาที่สะดวก และเมื่อแต่ละสาขาได้รับจักรยานจำนวนหนึ่งก็จะประสานให้ทางชมรมฯ ไปรับต่อไป โดยคณะกรรมการชมรมฯ ที่อาสาช่วยรับจักรยานตามสาขาต่างๆ ตามที่แต่ละคนสะดวก แล้วนำไปเก็บไว้ที่โรงงาน ในการนี้ชมรมฯ ได้รับจักรยานที่มีผู้บริจาคผ่านห้างบิ๊กซี จำนวน 44 คัน”

อาสาซ่อมสัญจร

และก่อนที่จักรยานจะส่งถึงมือของเด็กๆ ตามโรงเรียนในชนบทนั้นอย่าลืมว่าจักรยานทุกคันต้องได้รับการซ่อมแซม และทำให้สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ โดยบุคลากรที่มาลงมือลงแรงนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน จะเป็นสมาชิกของทางชมรมฯ มารวมตัวกันเพื่อช่วยกันรีไซเคิลจักรยานที่เสียหายเหล่านี้ ให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง

“ปัจจุบันนี้ โครงการรีไซเคิลจักรยานได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากการบริจาคหลายหลากรูปแบบ ทั้งจักรยานเก่า จักรยานใหม่ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งเงินบริจาคเข้ากองทุนโครงการ ทุกครั้งที่นำจักรยานไปมอบให้เด็กๆ จะมีการสอนการซ่อม การดูแลจักรยาน พร้อมกับมอบเครื่องซ่อมและอะไหล่ไว้เป็นส่วนกลางของโรงเรียน และซ่อมจักรยานให้เด็กๆ ในพื้นที่ที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ในแต่ละครั้งที่ซ่อม จะมีเด็กนักเรียนนำจักรยานมาให้ซ่อมมากมายนับร้อยคน จึงได้มีการริเริ่มโครงการขึ้นอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการอาสาซ่อมสัญจร  ซึ่งเป็นโครงการออกไปซ่อมจักรยานให้นักเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ในอนาคตจะออกไปซ่อมให้นักเรียนทั่วประเทศ

“แม้ว่าจำนวนสมาชิกในเวลานี้จะมีพลังงานเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมน่าอยู่ การทำงานของชมรมฯ จึงเป็นในลักษณะของอาสาสมัคร มีการจัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการใช้จักรยาน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ อีกทั้งสร้างกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้จักรยานเป็นทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น

“นอกจากนี้ การไปร่วมบริจาคจักรยานที่ทางชมรมจัดขึ้นนั้นยังถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้จักรยานในด้านต่างๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว การออกกำลังเพื่อสุขภาพให้แก่สมาชิกด้วย”

ถึงแม้เวลานี้โครงข่ายทางจักรยานที่เชื่อมโยงแต่ละเส้นทาง เพื่อให้จักรยานสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ในเมืองไทยยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามอีกมาก แต่ถ้าหลายๆ คนร่วมมือร่วมใจ ให้เกิดเป็นกลุ่มพลังผู้ใช้จักรยานที่เข้มแข็ง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งชมรมฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดกิจกรรมต่อไป...

*********************

เรื่อง-นาตยา บุบผามาศ
                                                                                             
ร่วมรีไซเคิลจักรยานเก่า
ยังมีเด็กนักเรียนทั่วประเทศที่มีความต้องการใช้จักรยานในการเดินทางไปเรียนอีกจำนวนมาก
หากท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งสามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นได้ กรุณาติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่...
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
849/53 จุฬาซอย 6 ถนนบรรทัดทอง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ10330
 โทร. 0-2612-4747  โทรสาร 0-2612-5511
อีเมล : tcc_thaicycling@hotmail.com




กำลังโหลดความคิดเห็น