“สุชาติ นาคบางไทร” แกนนำ นปช.ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หมายเลข 4 เปิดตัวศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง-ประกาศหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในทำเนียบ 19 ก.ย.นี้ ยันไม่ได้ท้าทายและไม่หวั่นพันธมิตรฯ เพราะมั่นใจไม่ได้รับอันตราย
เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายวราวุธ ฐานังกรณ์ หรือสุชาติ นาคบางไทร แกนนำคนวันเสาร์ ไม่เอาเผด็จการ และหนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 4 แถลงเปิดศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง ที่บริเวณชั้น 3 ศูนย์การค้าประตูน้ำเซ็นเตอร์ พร้อมกล่าวว่า เหตุที่ตนตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะอยากเห็นการยกระดับของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และอยากพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองมหัศจรรย์ โดยจะมีนโยบายหลัก 10 ด้าน คือ 1.ป้องกันและยุติการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย 2.จัดตั้งกองกำลังประชาชนต้านปฏิวัติ 3.จะทำหวยบนดินที่ กทม.เพื่อนำมาพัฒนาการศึกษาของเด็กๆ 4.แม่ค้าขายของได้ทุกวัน 5.มอเตอร์ไซค์จะต้องขึ้นสะพานข้ามแยกและลอดอุโมงค์ได้ 6.จัดพื้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 7.จัดตั้งสภาทนายกรุงเทพฯ 8.จัดตั้งสมาคมผู้สื่อข่าวกรุงเทพฯ 9.ทำคนกรุงเทพฯให้รู้จักกันทุกคนผ่านเครือข่ายเว็บไซต์ของ กทม.เรียกว่า บีโคด (bCode) และ 10.สอนอินเทอร์เน็ต ภาษาอังกฤษ และฝึกพูดให้เด็ก กทม.อย่างไรก็ตาม หากได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้ตนจะจัดการปัญหาการชุมนุมให้ถูกที่ถูกทางภายใน 7 วัน โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากประกาศนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นายวราวุธ ได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 1/2551 นายวราวุธ ได้เรียกร้องให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความสงบสุขของคนกรุงเทพฯ ดังนี้ 1.ย้ายการชุมนุมไปที่แห่งอื่นที่ไม่ผิดกฎหมาย 2.คืนทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการโดยทันที และ 3.คืนพื้นผิวการจราจรบนถนนราชดำเนินและสะพานมัฆวานโดยทันที นอกจากนี้ ยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 /2551 ถึงแกนนำพันธมิตรฯ เรื่อง การหาเสียงบริเวณหน้าและในทำเนียบรัฐบาล โดยในวันที่ 19 กันยายนนี้ เวลา 15.00 น.จะไปหาเสียงบริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล และเวลา 15.30 น.จะเดินทางเข้าไปพบปะประชาชนด้านในทำเนียบ เพื่อประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งครั้งนี้
นายวราวุธ กล่าวว่า ทั้งนี้ ตนไม่ได้ท้าทายกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ที่ต้องเข้าไปหาเสียงครั้งนี้ เนื่องจากได้สอบถามทาง กกต.กทม.แล้วว่า สามารถเดินทางไปหาเสียงได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ยกเว้นเอกชนต้องได้รับการอนุญาตก่อน และที่สำคัญ การเข้าไปหาเสียงที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะต้องการเข้าไปตรวจสอบถึงปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากญาติของผู้ชุมนุมว่ามีการยึดบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เข้าร่วมกับชุมนุมพันธมิตรฯ โดยหากครบกำหนด 3 วัน จะคืนพร้อมกับเงินจำนวน 500-700 บาท ซึ่งเรื่องนี้ตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงต้องเข้าไปตรวจสอบก่อน เพราะหากถูกยึดบัตรประชาชนจริงประชาชนก็จะไม่สามารถเลือกตั้งในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ติดต่อหรือนัดหมายแกนนำพันธมิตรแต่อย่างใด แต่เชื่อว่า จะอนุญาตให้สามารถเข้าไปประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งครั้งนี้ และเชื่อว่า จะมีความปลอดภัย เพราะตนเดินทางไปเพียงลำพัง ไม่มีผู้ติดตาม และยังปราศจากอาวุธ เชื่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ทำอันตราย เพราะที่ผ่านมาพันธมิตรระบุว่า ชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธ ทำให้มั่นใจว่าจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ