xs
xsm
sm
md
lg

พรก.ทำหาเสียงผู้ว่าฯกทม.วุ่น จัดเวทีปราศรัยเสี่ยงเจอใบแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 ก.ย.) นายพิงค์ รุ่งสมัย ประธาน คณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (ปธ.กกต.กทม.) เป็นประธานการประชุม กกต.กทม. และ กกต.ท้องถิ่น กทม. โดยมีนายชัยณรงค์ เทียนมงคล ผอ.กกต.กทม. พล.ร.ท.ณรงค์ ชโลธร ประธาน กกต.ทถ.กทม. นายรัฐพล มีธนาถาวร รองปลัด กทม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักปกครองและทะเบียน ศาลาว่าการ กทม.
ทั้งนี้ นายพิงค์ เปิดเผยว่า ได้มีการหารือถึงข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในเขตท้องที่กทม. หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อการหาเสียงเลือกตั้ง ของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อย่างมาก และได้เสนอความเห็นไว้ว่า ผู้สมัครควรจะหลีกเลี่ยงการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีปราศรัย หรือชุมนุม ไปเป็นหาเสียงด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น แจกแผ่นพับ ใบปลิว ติดโปสเตอร์ ออกสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต แทนเพื่อเลี่ยงการกระทำที่จะขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังกล่าว
ส่วนที่กทม.จัดพื้นที่ปราศรัยให้ผู้สมัครก็สามารถทำต่อไปได้ ซึ่งหากผู้สมัครรายใดสนใจต้องทำเรื่องแจ้งไปยัง กกต.กลาง กกต.กทม. หรือ กกต.ท้องถิ่น กทม. เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์ เป้าหมายการปราศรัย เพื่อป้องกันการเกิดข้อร้องเรียน หรือการทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การปราศรัยจะต้องมีผู้ร่วมฟัง ซึ่งเสี่ยงต่อการขัดพ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ห้ามชุมนุมคนเกินกว่า 5 คน ดังนั้นผู้สมัคร ที่ต้องการหาเสียงประเภทนี้ควรหลีกเลี่ยงวิธีการดังกล่าวน่าจะเป็นการดีกับตัวผู้สมัครเอง
ด้านนายชัยณรงค์ กล่าวว่า การกำหนดกรอบการหาเสียงให้ผู้สมัครนั้น ทางกกต.ไม่สามารถทำให้ได้ แต่หากผู้สมัครประสบปัญหาเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด สามารถทำเรื่องร้องเรียนมายัง กกต. , กกต.กทม. และ กกต.ท้องถิ่นได้ ซึ่งทางกกต. ก็จะนำข้อร้องเรียนมาประชุมหารือเพื่อตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หากผู้สมัครร้องเรียนให้เลื่อนวันเลือกตั้งจากวันที่ 5 ตุลาคม ออกไปก็สามารถทำได้ แต่จะได้รับการพิจารณาหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกกต.กลาง
นายชัยณรงค์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ทางกกต.จะมีการเรียกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนมาชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหาเสียงเลือกตั้ง ภายใต้พื้นที่กทม. ยังคงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่
ส่วน พล.ร.ท.ณรงค์ ชโรธร ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (ปธ.กกต.ทถ.กทม.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่คลี่คลาย จึงทำให้ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รายใหม่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอาจทำให้ว่าที่ผู้สมัครรายอื่นๆลังเลใจ และคิดหนักหากตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เพราะต้องสู้กับผู้สมัครที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯถึง 2 คน ซึ่งมีฐานเสียงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กกต.ทถ.กทม. ยืนยันที่จะเปิดรับสมัครให้ครบทั้ง 5 วัน ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 2 วันในการรับสมัคร ซึ่งคาดว่าในวันที่ 5 ก.ย.ซึ่งเป็นวันรับสมัครสุดท้าย จะมีผู้สมัครฯ เข้ามาสมัครเพิ่มเติมอย่างแน่นอน และคาดว่าจะมีผู้สมัครฯชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ไม่เกิน 15 คน
ขณะที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เบอร์ 5 เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ต้องปรับแผนการหาเสียงลงพื้นที่พบปะประชาชนทั้งหมด จนกว่าจะมีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินเมื่อใด ทั้งนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินกระทบต่อแผนการณรงค์หาเสียงเป็นอย่างมาก เพราะทีมงานผู้สมัครจะหาเสียงตามกฎหมายเลือกตั้งที่นอกเหนือจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ไม่ได้ จึงทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ จะหารือกับ กกต. เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ออกไปว่า การจะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกทม. (กต.กทม.) ในฐานะผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปหรือไม่ หากเห็นว่าสมควรเลื่อนก็ต้องแจ้งไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร (กกต. กทม.) และถ้า กกต.กทม. เห็นพ้องก็ต้องส่งเรื่องให้ กกต.กลางพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย
"จะต้องรอดูสถานการณ์ในขณะนี้ด้วยว่า สมควรเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปหรือไม่ เพราะนายกฯ ก็บอกว่าจะใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น จึงคิดว่าตอนนี้ยังไม่น่าจะเลื่อน แต่ถ้ามีการเลื่อนเวลาออกไป ก็อาจจะมีผลกระทบต่อแผนงานต่างๆ ที่ กทม.เตรียมเอาไว้ อาจทำให้เกิดปัญหาได้"
ส่วนการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้น อยากขอให้พึงระวังในการหาเสียง ควรหลีกเลี่ยงการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน รวมถึงการขึ้นเวทีปราศรัย กับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย เนื่องจากอาจมีผู้นำไปร้องคัดค้านการเลือกตั้งในภายหลังจนทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งจำนวนกว่า 154 ล้านบาท ทำให้หมดตัวได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าการหาเสียง ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ก็สามารถทำได้ เช่นการติดโปสเตอร์ แนะนำตัว การหาเสียงผ่านวิทยุ โทรทัศน์ แต่ทั้งนี้ จะต้องคิดเป็นค่าใช้จ่าย
เมื่อถามว่า หากการชุมนุมยังไม่ยุติ และมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปเรื่อยๆ อาจทำให้จัดเลือกตั้งไม่ได้ นายประพันธ์ กล่าวว่า ถึงอย่างไรการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้น เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าหากตำแหน่งว่างลง ก็ต้องมีการหาคนใหม่มาแทน แต่ถ้าในวันเลือกตั้งเกิดเหตุจลาจลในหน่วยเลือกตั้ง ผอ.กต.กทม. ก็สามารถสั่งยุติการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าวได้ แล้วสั่งให้มีการลงคะแนนใหม่ภายใน 15 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น