เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 300 องค์กรผนึกคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์ต้าน “หมัก” นั่งนายกฯ รอบสอง ลั่น พปช.-พรรคร่วม เลิกดันทุรังเสนอ เหตุขาดความชอบธรรม เผยต้องเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม และวุฒิภาวะทางการเมือง เป็นที่ยอมรับ และสามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
แถลงการณ์เรื่อง คัดค้านการกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายสมัคร สุนทรเวช และก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่
จากการที่เมื่อวานนี้ (9 ก.ย.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการใช้อำนาจรัฐกระทำการที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งผลกำไรหรือรายได้
ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้สังคมไทยสามารถข้ามพ้นวิกฤต และความขัดแย้งทางการเมือง นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกอบด้วยสมาชิก 30 กว่าองค์กร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ประกอบด้วย สมาชิก 300 องค์กร และเครือข่ายภาคประชาชน ฯลฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเรียกร้องแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้
1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล ต้องไม่ดึงดันที่จะเสนอชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งขาดความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับเข้ามาสู่ตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง แต่จะต้องเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม และวุฒิภาวะทางการเมือง เป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
2) กลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมาต้อง เข้ามาสู่การหาทางออกร่วมกัน ตามหลักนิติรัฐและวิถีทางประชาธิปไตย
3) รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที เพื่อนำประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ
4) สร้างกระบวนการปฏิรูปการเมือง โดยการมีส่วนร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มเกษตรกร นักศึกษา นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุดมการณ์และปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
11 กันยายน 2551