xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ-กป.อพช.เหนือถกวิกฤตการเมือง ชี้“หมัก”ต้องรับผิดชอบ-พปช.ระดมคนชน พธม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – นักวิชาการอาวุโส/องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ร่วมถกปัญหาวิกฤต หาทางออกวิกฤตการเมืองยุค “สมัคร” ทุกฝ่ายเชื่อรัฐบาลนิยมความรุนแรง เจตนาไม่ผ่อนคลาย หลังเกมถก 2 สภาล้มเหลว – ส.ส.พปช.-เครือข่ายอำนาจรัฐ ระดมคนต้าน พธม. ชี้การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็น “ประชาขัดขืน-การเมืองภาคประชาชน” ที่เห็นอันตราย “ทุนการเมือง”มากขึ้นทุกขณะ พร้อมชี้ “หมัก” ต้องรับผิดชอบเหตุรุนแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่า ค่ำวันที่ 1 ก.ย.51 ที่ผ่านมา ก่อนที่กลุ่ม นปช.จะยกกำลังเข้ากดดัน พธม. จนเกิดการปะทะกันไม่กี่ชั่วโมง นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ หนึ่งใน 111 กรรมการพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ได้นำประชาชนในจังหวัดแพร่ จำนวนกว่า 2,000 คน เข้าปิดถนนในบริเวณตลาดเทศบาลเมืองแพร่ กล่าวโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่กำลังชุมนุมกันอยู่ในทำเนียบรัฐบาลอย่างรุนแรง หลังการกล่าวโจมตีกลุ่มพันธมิตรจบลงได้มีการจ่ายค่าตอบแทนผู้เข้าฟังหัวละ 300 บาท

ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้มีการลำเลียงประชาชนจำนวนหนึ่งจาก อ.เด่นชัย และอ.ลอง ไปร่วมชุมนุมกับ กลุ่ม นปก.ใน กทม. ซึ่งกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรนั้นได้รับการชักนำจาก ส.ส.แพร่ พรรคพลังประชาชน และอดีต ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักไทยร่วมกันนั้น ปัญหาดังกล่าวได้บานปลายออกไป โดยมีการประทะกันอย่างรุนแรงใน กทม. จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1 คน และผู้บาดเจ็บกว่า 40 คน และดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะบานปลายออกไปอีก ซึ่งรัฐบาลได้ออกประกาศสภาวะฉุกเฉินแล้วก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์จะยังไม่สงบลงง่ายๆ เนื่องจากรัฐบาลระดมคนเข้าไปสร้างความวุ่นวายเสียเอง

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.) นำโดยนายบุญยืน คงเพ็ชรศักดิ์ ประธาน กป.อพช.ภาคเหนือได้เชิญนักวิชาการอาวุโส อาทิ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ,อาจารย์ชยันต์ วรรธณะภูติ พร้อมด้วยตัวแทนทางศาสนา เข้าร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อหาทางออกภายใต้วิกฤตแบ่งขั้วการเมือง ที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ปัญหาใหญ่ที่นำมาสู่วิกฤตนั้นเกิดจากการระเมิดกฎหมายของรัฐบาล 2-3 รัฐบาลที่ผ่านมากับการฉกฉวยโอกาสของกลุ่มทุนพร้อมทั้งการทุจริตในโครงสร้างการบริหารของรัฐปัจจุบัน และบานปลายมาสู่การประท้วงอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาหรือทางออกนั้น ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันในการที่ต้อง ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ สื่อต้องเสนอความจริงหยุดการให้ข้อมูลทางสื่อที่บิดเบือน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด เข้าใจในสิ่งผิดสิ่งถูก อะไรดี อะไรชั่ว ไม่ตกอยู่ในวังวนของความชั่วร้ายคอรัปชั่น ต้องมีเวทีมีพื้นที่ให้ประชาชนได้พบปะกันแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน

นอกจากนั้น กป.อพช.ภาคเหนือ ยังมีมติร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการปฎิรูปการเมือง โดยทำหน้าที่เปิดเวทีให้ประชาชนได้พูดคุย และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมาจาก ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนใน 8 จังหวัดภาคเหนือ

อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ยึดทำเนียบที่เกิดขึ้นอย่างมองว่าเป็นวิกฤต แต่เป็นการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นการถอยหลังหรือเล่นนอกกรอบ การพัฒนาประชาธิปไตยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2475 มาจนถึงปัจจุบันประชาธิปไตยพัฒนามาเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับรู้และเรียนรู้ว่า รัฐประหาร ไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา การปฏิวัติใช้ไม่ได้อีกต่อไป การใช้การเมืองนอกสภา (ข้างถนน) ก็ถือว่าเป็นการเมืองภาคประชาชน ซึ่งหลังๆ มาพบว่าการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น มีการดื้อรั้น หรือศัพท์ทางวิชาการใช้คำว่า “ประชาขัดขืน” ถือเป็นหัวใจหลักของประชาธิปไตย เป็นการแสดงออกขึ้นพื้นฐานทางการเมือง แต่การใช้ในครั้งนี้เรียกว่า “อารยขัดขืน” คำว่า อารยะ อาจทำให้มองว่าเป็นการทำให้ดูดี ไม่ป่าเถื่อนหรือถูกจำกัดคำว่า ขัดขืนด้วย คำว่า อารยะ เป็นเรื่องของการกระทำที่มีเหตุผล

การที่มีรัฐบาลเกิดขึ้น เกิดจากการกระทำด้วยเหตุผลการที่ประชาชนเลือกรัฐบาลเข้าไปทำหน้าที่ แต่เมื่อเข้าไปแล้วไม่ทำตามความคาดหวัง จนทำให้ประชาไม่เห็นด้วย ก็ถือว่าเป็นการมอบให้ทำหน้าที่ชั่วคราว สิทธิ์ในการคัดค้านของประชาชนยังมีอยู่ คนส่วนน้อยในประเทศก็ยังมีสิทธิ์ในการคัดค้านเช่นเดียวกัน

ในประเทศไทยมีการกระทำแบบประชาขัดขืนอยู่แล้ว เช่น ยายไฮ ขัดขืนรัฐจากการสร้างเขื่อนราศีไสล ยายไฮลุกขึ้นสู้คนเดียว การขัดขืนทำได้ทุกสถานการณ์แต่ต้องยอมรับผลที่ตามมา เช่น ติดคุก เป็นต้น

อาจารย์ฉลาดชาย กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 2 กันยายน กกต.จะตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน การก่อเหตุความรุนแรงของกลุ่ม นปก. ก็เพื่อให้เกิดแรงกดดันต่อศาล ถ้าผ่านวันดังกล่าวไปวันหรือสองวันก็จะเกิดการคลี่คลาย ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้สถาการณ์ไม่รุนแรงไปกว่านี้ เมื่อศาลคัดสินจะมีการโต้เถียงต่อศาลซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเกินเลยในที่สุดสังคมจะไม่ยอมรับคนที่ออกมาโต้ถียงต่อศาล ส่วนหลังจากนี้จะต้องเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองทั้งระบบถือเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองของไทย

อาจารย์ชยันต์ วรรธณะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ กล่าวถึงทางออกในวิกฤตการเมืองขณะนี้ว่า ก่อนอื่นต้องมองว่าการพูดคุยไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะถ้าคิดเช่นนั้นคงพูดกันไม่ได้ จะเห็นว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยพูดคุยกันได้ไม่กี่คำก็มีปัญหากันเพราะการแบ่งฝักฝาย ลักษณะของการพูดคุยแบบมองต่างมุมหมดไปแล้วในสังคมไทย

การวิเคราะห์เหตุการณ์วันนี้เราต้องย้อนไปมองเหตุการณ์หลังรัฐธรรมนูญปี 2540เป็นต้นมา ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการแบ่งงานกันระหว่างทุน นักการเมือง ในระดับต่างๆ เห็นการเมืองเป็นธุรกิจ และการทุจริตในระดับโครงสร้าง การบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ การประชุมรัฐสภาของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ทำอะไรไม่ได้

ในช่วง 6 – 7 เดือนที่ผ่านมารัฐไม่มีกฎหมาย ไม่มีนโยบายแก้ปัญหาความยากจน แต่ไปสร้างเมกโปรเจกให้กับกลุ่มทุนซีกรัฐ เป็นการพัฒนาด้านผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองแทน

ในด้านการเมืองภาคประชาชน การต่อต้านอำนาจรัฐ เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2527 ช่วงที่มีเอ็นจีโอเกิดขึ้น ในภาคเหนือ และทำงานด้านวัฒนธรรมชุมชน ประชาชนมีประสบการณ์แรกคือการออกมาพัฒนากฎหมายป่าชุมชน หลังมีกฎหมายกระจายอำนาจประชาชนรู้จักการจัดการตนเอง ประชาชนแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐมากขึ้น เช่นการเรียกร้องสัญชาติชนเผ่าปี 2537 ประชาชนในจังหวัดต่างๆ เรียกร้องความเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ ของคนรากหญ้า ในขณะเดียวกันคนชั้นกลางในเมืองให้ความสำคัญกับการร่วมกันตรวจสอบเลือกตั้งแก้ปัญหาสุขภาพ

เราพบว่าการเมืองมีการพัฒนารวมตัวทุน ผันตัวเป็นการเมืองเชื่อมต่างประเทศเพิ่มทุนสะสม ทำให้ไม่มีการหันมาดูประชาชน แต่มีการใช้ประชานิยมเพื่อให้ความหวังและหาแนวร่วมประชาชนมาสนับสนุนเท่านั้น ไม่เคยมองเรื่องการมีส่วนร่วม หรือจะเรียกได้ว่า รัฐบาลในปัจจุบัน “พัฒนาความสามารถในการไม่เชื่อมโยงต่อกัน” ได้ดี ทำให้ชาวบ้านไม่เกิดความเข้าใจทางการเมือง

ความขัดแย้งทีเกิดขึ้นขณะนี้ พันธมิตรเห็นและเป็นส่วนหนึ่งที่มีความไม่พอใจของฝ่ายทุน ฝ่ายการเมืองระดับชาติ เราต้องมองด้วยความเข้าใจเช่นเดียวกับกลุ่มรากหญ้าที่ชื่นชอบประชานิยม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถจะวิเคราะห์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นจากนี้ต่อไป ประชาสังคมในภาคเหนือเห็นว่าควรทำอะไรก็ควรรีบทำเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ในขณะที่รัฐบาลมีอาวุธ และกำลังตำรวจอยู่ในมือ แต่กลับระดมประชาชนมาต่อต้าน ซึ่งเป็นวิธีการเดิมๆ ที่รัฐทำมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเหตุการณ์การรณรงค์ป่าชุมชนของเครือข่ายป่า การประท้วงของชาวบ้านปากมูล รัฐมีทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ยังไปปลุกปั่นให้ชาวบ้านที่จงรักภักดีต่อรัฐเข้าเผาบ้านชาวปากมูลที่มีการประท้วงรัฐอยู่

ทางออกขณะนี้คือ 1.ทำอย่างไรไม่ให้รุนแรงไปกว่านี้ ประชาชนทั้งประเทศต้องช่วยกันคิด 2. ต้องรอกระบวนการทางศาลในการตัดสินคนผิดคนถูก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การจัดการของรัฐไล่รื้อ ทุบตีประชาชน มีการใช้กำลัง ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ต้องรับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกมาแสดงจุดยืนขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการอาวุโส เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากรัฐนั้น สาเหตุสำคัญมาจาก การเปิดสภาผู้แทนราษฎรแล้วประสบความล้มเหลว การใช้อำนาจรัฐเกิดขอบเขต และการระดมคนเข้ามาเพื่อการประจันหน้าโดยการจัดการของรัฐ เช่นเดียวกับความขัดแย้งอื่นๆ ที่ประชาชนเรียกร้องทุกครั้ง เป็นพฤติกรรมที่องค์กรทางสังคมต้องออกมาให้ความรู้และตัดสินใจช่วยเหลือประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐด้วยมือเปล่าเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งคณะกรรมการ กป.อพช.ภาคเหนือจะมีการประชุมสรุปและประเมินสถานการณ์ทุกวันที่เชียงใหม่ ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมเข้าต่อต้านความรุนแรง และออกแถลงการณ์เพื่อให้รัฐหยุดการกระทำรุนแรงต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น