xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อสิ้น “สมัคร”

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

หากผู้อ่านได้เห็นภาพประกอบ ที่นายสมัครนั่งกินอาหาร เอาดินสอแคะเศษอาหารในปาก บนที่นั่งนายกรัฐมนตรี กลางที่ประชุมรัฐสภา
จะทดแทนถ้อยคำอีกนับร้อยนับพันคำ

******

เมื่อประเทศไทยสิ้น “สมัคร” จากการเป็นผู้นำประเทศ หรือ เมื่อประเทศไทยหมดคนชื่อสมัคร

สังคมไทยคงต้องทบทวน ฟื้นฟู แก้ไขเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของประเทศหลายเรื่อง

1. ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง เพราะผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน ต้องมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย คือ รู้ว่าเป็นตัวแทนที่ต้องฟังประชาชน มีวัฒนธรรมและสปิริตของประชาธิปไตย คือ พร้อมลาออก ถอนตัว แก้ไขปัญหาด้วยการเสียสละ เพื่อให้ประเทศและสังคมเดินหน้า ก้าวหน้า

มิใช่ อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งแล้วเป็นประชาธิปไตยทันที และตลอดไป จะประพฤติปฏิบัติ จะหน้าด้าน ดึงดัน ไม่ฟังใครก็ได้ ไม่ใช้วัฒนธรรมและไม่มีสปิริตประชาธิปไตย

2. การเป็น “หุ่นเชิด” ไม่น่าจะเป็นของดีที่น่าภาคภูมิใจ เพราะขาดจิตวิญญาณ อิสระ เสรีชน ไม่มีจิตวิญญาณที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ เพื่อสังคมส่วนรวม

ที่ผ่านมา คนเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ที่อาจคล้อยตามไปว่า “เป็นนอมินีเสียหายตรงไหน” – “เห็นไหม ผมเป็นนายกฯ ไม่ต้องใช้เงินสักบาท”

ลองคิดดู ถ้า “คนไทย” คิดและยอมตนเป็น “หุ่นเชิด” ทั้งประเทศจะเป็นอย่างไร

3. ต้องฟื้นฟูสังคมให้ไม่เอาแบบอย่างนายสมัครที่พูดโกหกเป็นอาจิณ จนคิดไปว่า “การพูดเท็จเป็นความจำเป็น” การพูดโกหกแล้วจะได้ดี หรือพูดความจริงเพียงบางส่วน ปกปิดบางส่วน ไม่เป็นไร

ตัวอย่างพฤติกรรม “โกหกเป็นอาจิณ” ของนายสมัคร เช่น

- เมื่อรับตำแหน่งนายกฯ นายสมัครโกหกคนทั่วโลกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีคนตายเพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่ มีคนตายมากกว่า 40 คน และนายสมัครเคยพูดเองเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2520 ที่ฝรั่งเศส ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ว่ามีคนตาย 48 คน

- 4 ก.ย. 2551 นายสมัครพูดว่า “เวลานี้ คนที่ชุมนุมข้างใน (ทำเนียบ) อยากออก แต่กลุ่มพันธมิตรกันไว้ ไม่ให้ออก อย่างนี้มันเกินกว่าเหตุ” นายสมัครในฐานะนายกฯ ลงทุนพูดโกหก เพื่อหวังจะใช้กำลังตำรวจปิดล้อม ไม่ให้ประชาชนเข้าไปร่วมชุมนุมในทำเนียบ แต่ให้ออกได้ เป็นการพูดเท็จอย่างร้ายแรงอีกครั้ง

- 7 ก.ย. 51 นายสมัครอาศัยฐานะนายกรัฐมนตรี พูดความจริงครึ่งเดียวทางโทรทัศน์และวิทยุว่า การทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเลือกข้างว่าเห็นด้วยกับพันธมิตรหรือเห็นด้วยกับคณะรัฐมนตรี สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แล้วอ่านข้อความในมาตรา 165 วรรค 2 แต่เพียงส่วนเดียว เว้นที่จะบอกว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 165 ห้ามทำประชามติเกี่ยวกับความขัดแย้งของตัวบุคคลหรือคณะบุคคล

น่าเป็นห่วง หากวัฒนธรรมการพูดพล่อยๆพูดโกหก พูดความจริงครึ่งเดียว ทำให้คนหลงผิด แพร่ระบาดออกไปสู่คนไทย กลายเป็นวัฒนธรรมไทยในอนาคต สังคมไทยจะเป็นอย่างไร

พุทธวัจจนะ กล่าวว่า “คนที่พูดโกหก ไม่ทำชั่วไม่มี” เป็นการบอกว่า คนที่ทำชั่ว ทำบาป จึงจำเป็นต้องพูดโกหกเพื่อกลบเกลื่อน ใช่ไหม

4. ต้องฟื้นฟูสังคมให้ไม่นิยมความรุนแรง อย่าเอาแบบอย่างผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรง เช่น นายสมัครใช้กำลังตำรวจสลายการชุมนุมที่สะพานมัฆวานโดยอ้างว่าต้องการไปปิดหมายศาล

วางแผนให้ นปก. บุกเข้าใช้ความรุนแรงเพื่อจะได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน จนมีคนตายและบาดเจ็บ

ต้องให้เยาวชนปฏิเสธความรุนแรง ไม่เอาความรุนแรงเหล่านี้เป็นแบบอย่าง และพึงเข้าใจว่าความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหา อย่าเอาแบบอย่างในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่มีความรุนแรงเกิดในรัฐบาลสุจินดา นายสมัครก็เป็นรองนายกฯ ความรุนแรง 6 ต.ค. 2519 นายสมัครก็มีส่วนใช้สื่อปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก เกลียดชังนักศึกษาในธรรมศาสตร์ ใส่ความว่ามีอุโมงค์ มีญวนกินเนื้อหมา มีอาวุธสงคราม กระทั่งมีการล้อมฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ ทั้งๆ ที่ เป็นสถาบันการศึกษาที่นายสมัครเคยมาพึ่งพาเล่าเรียน

ต้องให้คนไทยยึดสันติวิธี และออกมาต่อต้านความรุนแรงที่อยู่ในวิถีคิดของนายสมัคร ที่ขณะนี้ก็ใช้สื่อปลุกระดม มีการจัดตั้งกลุ่มพลังภายนอก และพยายามใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ล้อมปราบประชาชนในทำเนียบ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนในธรรมศาสตร์ 6 ต.ค.2519

5. ต้องฟื้นฟูให้คนไทยรู้จักใช้ “สัมมาทิฐิ” เช่น รู้ว่าคำในพุทธศาสนาว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” ต้องพิจารณาว่าเป็นความกลัวที่จะทำดีหรือกลัวที่จะทำเพื่อประโยชน์สังคม โดยที่ประโยชน์ของตนเองอาจเสียหายไปบ้าง ก็ไม่ควรกลัว ความกลัวเช่นนี้จะทำให้เราเสื่อม คือ ไม่สามารถทำความดี

อย่าเอาอย่างนายสมัคร ที่มี “มิจฉาทิฐิ” อ้างคำว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” แต่กลายเป็นไม่กลัวที่จะเอาชนะ ไม่กลัวที่จะดันทุรัง ดื้อด้าน เลยขาดความ “ละอาย”

ลองคิดดู ถ้าต่อไป สังคมไทยยึดถือแนวทางอย่างนายสมัคร ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร

ขนาดคุณเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาออก เพราะลำบากใจที่จะอยู่ทำงานกับรัฐบาลนายสมัคร นายสมัครก็ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว กลับออกมาบอกว่านายเตชเป็นราชการมาก่อน ไม่ใช่นักการเมือง เหมือนกับจะบอกว่า ไม่ทนทาน ดื้อด้าน เหมือนนักการเมืองในระบอบทักษิณ

6. สังคมไทยต้องฟื้นฟูความรับผิดชอบต่อสังคม คนไทยต้องไม่ใช้ความคิดที่ว่า “เราจะไม่ยอมสูญเสียผลประโยชน์ของกลุ่มเรา แม้ประเทศโดยรวมจะดีขึ้น” จากคำพูดที่ว่า “ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา” โดยอ้างว่าเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความจริง “ยุบสภา ลาออก” ล้วนเป็นกระบวนการแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

นายสมัครคิดเอาเองว่า การยุบสภาหรือลาออกเป็นการยอมแพ้ เมื่อตนเองมาจากการเลือกตั้งแล้วต้องถูกต้องเสมอ ยอมไม่ได้ ถ้าตัวเราจะพ่ายแพ้ นายใหญ่นายหญิงเราจะพ่ายแพ้ ก็ให้บรรลัยฉิบหายไปด้วยกัน

วัฒนธรรมแบบนี้ ต้องได้รับการแก้ไข ฟื้นฟูโดยด่วนที่สุด

7. วัฒนธรรมหยาบช้า พูดคำหยาบ แสดงกริยาหยาบคาย ยืนจ้องหน้านักข่าว หลบเข้าส้วม ทำอารมณ์เสีย กลบเกลื่อน ไม่ตอบคำถามนักข่าว การกินอาหาร กัดแทะชิ้นเนื้อ ในห้องประชุมรัฐสภา บนที่นั่งประชุมของนายกรัฐมนตรี เอาดินสอจิ้มฟันเพื่อเขี่ยเศษเนื้อที่ติดไรฟัน รวมไปถึงการดื่มน้ำจากขวดในที่ประชุมระดับชาติที่มีการถ่ายทอดไปทั่วโลก เป็นแบบอย่างที่หยาบคาย รสนิยมต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เหมาะสม

จริงอยู่ พฤติกรรม อากัปกริยา ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของคนที่เติบโต ถูกเลี้ยงดูมา แต่การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนให้อยู่ในสังคมที่อารยะอย่างคนอื่นเขาก็เป็นสิ่งที่ควรทำมิใช่หรือ โดยเฉพาะเมื่อตนต้องมาเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศ

หรือว่า เคยมีความหยาบอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น และหยาบอย่างไร ก็ต้องแสดงออกไปอย่างนั้น แก้ไขสันดานไม่ได้

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงภาพสะท้อนของวัฒนธรรม และความรู้สึกนึกคิดบางอย่าง ที่สังคมไทยจะต้องช่วยกันฟื้นฟู ปรับเปลี่ยน แก้ไข ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและประชาธิปไตยที่แท้จริง

ทันที.. เมื่อสิ้น “สมัคร” !

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น