xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยไตฉะสมาคม รพ.เอกชนสุดเขี้ยว แนะ รพ.อย่าเซ็นสัญญาล้างไต สปสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ป่วยโรคไตโวยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนร่อนหนังสือเวียนแนะ รพ.อย่าเซ็นสัญญากับ สปสช.ล้างไตโดยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ฉะอย่าเห็นแต่กำไร ด้าน “หมอเอื้อชาติ” โต้โยนคนริดรอนสิทธิผู้ป่วย คือ คนกำหนดค่าใช้จ่าย 1,500 บาทต่อครั้ง ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนแท้จริง ทำให้ประชาชนได้รับบริการไม่มีคุณภาพ ขณะที่ สปสช.ไม่สนหารพ.เอกชนอื่นทดแทนได้

วันที่ 10 กันยายน นายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ขอให้มีมนุษยธรรมต่อผู้ป่วยใกล้ตาย เนื่องจากนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และนพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เจ้าของเครือโรงพยาบาลแกษมราษฎร์ และในฐานะกรรมการหลักประกันฯ ได้ทำหนังสือเลขที่ 168/2551 วันที่ 2 ก.ย.ในนามสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแนะนำให้โรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกไม่เซ็นสัญญาเรื่องการล้างไตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกับ สปสช.

ทั้งนี้ หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า เนื่องจาก สปสช.จะให้โรงพยาบาลเซ็นสัญญาเรื่องล้างไตโดยจ่ายให้กับโรงพยาบาล 1,500 บาทต่อครั้ง ผม นพ.เอื้อชาติ และ นพ.เฉลิม ขอแนะนำให้ไม่เซ็นสัญญาเรื่องล้างไตกับ สปสช.เนื่องจากจะทำให้เสียราคาที่ระบบสวัสดิการสังคมและประกันสังคมจ่ายให้กับสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการราคา 2,000 บาทต่อครั้ง

“ไม่ควรนำเรื่องค่าใช้จ่ายที่ สปสช.จัดสรรให้ในการรับบริการล้างไตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมครั้งละ 1,500 บาท เพราะจะทำให้เสียราคาที่ระบบสวัสดิการสังคมอื่นให้ 2 พันบาท มาเป็นตัวอ้าง เพราะจะคิดเห็นแต่กำไรอย่างเดียวนั้นไม่ถูกต้อง ทุกวันนี้ผู้ป่วยก็จะล้มละลายอยู่แล้วหากมีการร่วมจ่ายมากขึ้น วัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือของ สปสช.ในการจัดทำสิทธิประโยชน์นี้ก็เท่ากับว่า ประชาชนเข้าไม่ถึงอยู่ดี และไม่อยากเชื่อว่า คนที่มาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เป็นผู้ที่เป็นกรรมการใน สปสช.เอง อีกทั้งยังเป็นกรรมการแพทยสภา แต่กลับเอาชีวิตของคนไข้เป็นตัวประกันเช่นนี้ จึงไม่น่าที่จะเป็นทั้งกรรมการของสปสช.และแพทยสภาเลย”นายสุบิล กล่าว

นายสุบิล กล่าวต่อว่า ราคาค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไต 1,500 บาทต่อครั้งนั้น เป็นราคาที่เหมาะสม เพราะสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนด ไม่ใช่ผู้ป่วยคิดเอาเอง โดยคิดต้นทุนทุกอย่างให้พอมีกำไรอยู่แล้ว และก็ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช.และมติ ครม.วันที่ 30 ต.ค.2550 มอบหมายให้ สปสช.ดำเนินการให้สิทธินี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ก็มีคลินิกเอกชนที่เปิดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมโดยเฉพาะส่วนใหญ่ก็มีราคา 1,500 บาท ซึ่งคลินิกเหล่านี้ก็อยู่ได้ แถมจะขยายสาขาด้วยการให้บริการในราคาเท่านี้” นายสุบิล กล่าว

นายสุบิล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีคนไทยป่วยโรคไตวายที่จำเป็นต้องฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมจำนวน 16,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยระบบสวัสดิการราชการและประกันสังคมทั้งสิ้น 10,000 ราย ที่เหลืออีก 6,000 กว่ารายเป็นสิทธิบัตรทอง และในจำนวนนี้อยู่ภาครัฐ 2,000 กว่าคน ส่วนที่เหลือ 4,000 คนใช้บริการสถานพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องรับบริการดังกล่าวสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เท่ากับว่าแต่ละครั้งต้องร่วมจ่ายครั้งละ 500 บาท สัปดาห์ละ 1,000-1,500 บาท หรือเดือนละ 4,000-6,000 บาท หรือ ปีละ 4.8-7.2 หมื่นบาท ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นนี้ไปตลอดชีวิต ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก นอกจากรายได้ของผู้ป่วยจะมีน้อยเนื่องจากร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำงานได้เหมือนคนปกติแล้ว และยิ่งหากคิดค่าบริการเพิ่มขึ้น ให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสในการเข้าถึงบริการลดน้อยลง

ด้านนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ราคาต้นทุนการล้างไต โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ประมาณ 1,900 บาทต่อครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ แต่หากคำนวณค่าฟอกเลือดราคา 1,500 บาท ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้มีการเซ็นสัญญาขึ้นนั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจะทำให้การบริการไม่มีคุณภาพ เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะการร้องเรียนฟ้องร้องระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วย

“ไม่มีอะไรที่ราคาถูกแล้วคุณภาพจะดี ผมเสนอให้เอาคุณภาพนำราคาไม่ใช่เอาราคาเป็นหลักแล้วเกิดปัญหาร้องเรียนกันขึ้น และผมไม่เคยพูดแม้แต่คำเดียวว่า ห้ามไปเซ็นสัญญา ไม่ได้ห้ามใครเลย สมาคมไม่เคยสั่งได้ ทุกคนมีอิสระเต็มที่ ผมแค่แนะนำสมาชิก และมีข้อมูลที่โรงพยาบาลอาจไม่รู้ หากสถานพยาบาลใดที่ทำไม่ได้ก็อย่าไปฝืนทำ แต่ถ้าทำได้ก็ทำไป ที่สำคัญสมาคมโรคไตฯ ถือเป็นคนกลางเมื่อเสนอราคาฟอกเลือดอยู่ที่ 1,900 บาทต่อครั้งผมก็เชื่อตามที่สมาคมโรคไตฯ ได้คำนวณไว้ และเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการราชการและประกันสังคมที่จ่ายให้ในราคา 2,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคมหรือกรมบัญชีกลางคงจะพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วไม่ได้หลับหูหลับตาจ่ายอย่างแน่นอน”นพ.เอื้อชาติ กล่าว

นพ.เอื้อชาติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลกลายเป็นแพะหากเกิดความผิดพลาดทางการรักษาขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อบริการ ทั้งรัฐบาล สปสช.ต่างก็ลอยตัว โดยที่ไม่มีใครสนใจเหตุผลที่แท้จริง ดังนั้น ผู้ที่ลิดรอนสิทธิของผู้ป่วยในการเข้าถึงการรักษา คือ ผู้ที่กำหนดค่าใช้จ่ายฟอกไต อยู่ที่ 1,500 บาทต่อครั้ง

นพ.เอื้อชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การให้จ่ายค่าบริการฟอกเลือดในราคาเดียวกันในทุกระบบจะเป็นการยกมาตรฐานการบริการของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ให้เท่าเทียมกัน ซึ่งแม้ว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะมีเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่สามารถนำมาหักลดค่าใช่จ่าย หรือต้นทุนได้ เนื่องจากเครื่องล้างไตเทียม 1 เครื่อง ก็ต้องใช้กับผู้ป่วย 1 คน หากมีผู้ป่วย 100 คน ก็ต้องใช้ 100 เครื่อง ไม่เพียงเท่านั้น โรงพยาบาลจะต้องใช้บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาลในการดูแล โดยเป็นไปตามเกณฑ์ในการดูแลผู้ป่วยของสมาคมโรคไตฯ กำหนดเป็นมาตรฐาน

“คนไทยส่วนใหญ่ถือว่าโชคร้าย แม้ต้องเสียเงินภาษีให้กับรัฐแต่ระบบการดูแลสุขภาพในภาพรวมสำนักงบประมาณกลับให้งบประมาณโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข น้อยนิดไม่เพียงพอกับการบริการ ซึ่งในระบบการบริการเมื่อได้งบน้อย ถูกกดขี่ ก็ทำงานไม่ไหว ซึ่งผมในฐานะที่ทำงานเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของ สปสช.มาแล้ว 5 ปี มีความเห็นแย้ง คัดค้านมาตลอด แต่ก็ไม่เป็นผล ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพมาตรฐานการรักษาฟ้องร้องกันมากมาย เรื่องการล้างไตด้วยการฟอกเลือดก็เช่นเดียวกัน ถือว่างบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งการที่ผมคัดค้านไม่เห็นด้วย ก็ไม่ใช่ผลประโยชน์ของโรงพยาบาลเอกชน แต่เป็นผลแประโยชน์ของประชาชน”นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ สปสช.เปิดให้สถานพยาบาลเอกชนเปิดให้ร่วมโครงการนี้ถึงวันที่ 15 ก.ย.จะได้พิจารณาว่ามีกี่แห่งที่เข้าร่วมโครงการ หากสถานพยาบาลเอกชนไม่เข้าร่วม ทาง สปสช.มีโครงการว่าจะหาสถานพยาบาลเอกชนแห่งอื่นมาเข้าร่วมทดแทน หากโรงพยาบาลเอกชนไม่ร่วมโครงการมาก จะขอความร่วมมือให้บริการผู้ป่วยไปก่อน 3 เดือน ในระหว่างนี้ก็จะหาสถานพยาบาลมารองรับบริการ

“เชื่อว่า สถานพยาบาลเอกชนก็คิดหนักอยู่เหมือนกัน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นงบประมาณที่สถานพยาบาลแห่งนั้น จะได้รับในระยะยาว หากปฏิเสธตั้งแต่ตอนนี้ก็จะไม่มีสิทธิได้รับงบประมาณนี้อีกตลอดไป ทั้งนี้ ศูนย์ไตเทียมของเอกชนที่เปิดให้บริการโดยเฉพาะนั้นก็มีมากมหลายแห่งที่ยินดีเข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายเนื่องจากเป็นหน่วยบริการอยู่แล้ว” นพ.วินัย กล่าว

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนควรมีความรับผิดชอบต่อคนไข้ด้วย ไม่ใช่เพียงหวังถึงกำไรสูงสุดของธุรกิจเพียงอย่างเดียว เพราะราคาค่าบริการที่กำหนดมานั้นก็เป็นราคาที่พออยู่ได้ จึงขอเรียกร้องว่าสมาคมฯอย่าเอาคนไข้เป็นตัวประกัน และแพทย์ที่ทำเช่นนี้ถือว่าอาจขัดต่อพ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ในกรณีที่มีการปฏิเสธคนไข้ ต้องเห็นใจคนไข้ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย

“การกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการเอาคนไข้เป็นตัวประกัน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบของประชาชนคนไทย เอาแต่กำไรสูงสุดอย่างเดียว ทั้งที่คลินิกเอกชนที่เปิดให้บริการฟอกเลือดยังสามารถดำเนินการได้ในราคา 1.5 พันบาทต่อครั้ง และยิ่งคนที่ออกมาทำเช่นนี้เป็นกรรมการแพทยสภา และกรรมการของสปสช.ด้วยยิ่งถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”น.ส.สารี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น