xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาจัดระเบียบ...ลัทธิคลั่งฝรั่ง (เกินงาม)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสสังคมในปัจจุบันนับวันจะยิ่งส่งผลให้ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยที่เคยมีมาถูกกลืนหายไป ไม่ว่าจะมองไปทางไหนสิ่งที่พบเจอกลับพบเห็นวัฒนธรรมจากต่างประเทศ(ที่ไม่ดี) หลั่งไหลเข้ามากลืนกินรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยให้สูญหายไปทีละน้อย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษาไทย ดนตรี หรือแม้กระทั่งกายแต่งกาย เป็นต้น

นี่เป็นปัญหาที่หลายคนอาจมองข้ามความสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากไม่มีการจัดการวัฒนธรรมจากภายนอกที่เหมาะสมแล้ว สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย
ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี  กุลละวณิชย์
  • เร่งจัดการ ‘ภาษาไทย’ ก่อนโดนแทรกแซง

    "สิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยคือการที่เรามีภาษาเป็นของตนเอง แต่ในปัจจุบันบริบทของภาษาไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว"

    ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ ขยายความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในการเสวนาเรื่อง“นโยบายการจัดการวัฒนธรรมไทย” ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร(มศว.) ว่า ณ วันนี้เมืองไทยมีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษากัน แน่นอนว่าในความหลากหลายนี้ปัญหาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากมองย้อนไปในอดีตก็เคยเกิดปัญหานี้เช่นกันเหมือนอย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้มีคำสั่งให้ผู้คนที่อยู่เมืองไทยเรียนรู้ภาษาไทย อีกทั้งคนไทยเองก็ต้องมีการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาบาลี ภาษามาลายู ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทำให้การติดต่อสื่อสารกันสะดวกขึ้น และเป็นการสร้างเอกภาพเพื่อให้คนต่างภาษากันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

    แต่ในปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแนวทางการจัดการจึงต้องการให้เกิดการรับรู้ถึงข้อมูลในเรื่องของภาษาเพื่อความเป็นระเบียบของสังคม

    ทั้งนี้ ความวุ่นวายในสังคมที่เกิดขึ้นในเวลานี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้ภาษาเช่นกัน สังเกตได้จากนักการเมืองที่พูดโดยไม่ระวังปาก บ้างก็พูดโดยไม่รู้จักการปรองดองจึงเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ตามมา

    ขณะที่ในส่วนของวัยรุ่นเอง คำพูดคำจาที่เปลี่ยนไปแม้เป็นเรื่องปกติของยุคสมัย แต่ก็ต้องรู้จักโอกาสและความเหมาะสม ไม่ใช่จะใช้คำพูดมาแทนภาษาทางการ ผู้ใช้ควรคำนึงถึงสถานการณ์นั้นๆ ด้วย อีกทั้งภาษาที่ใช้ทั่วไป เช่น ห้างร้านต่างๆ จะไม่นิยมใช้ภาษาไทยในการสื่อความหมาย เราจึงเห็นข้อความว่า OPEN NOW สำหรับร้านที่กำลังจะเปิดใหม่แทนที่จะใช้คำว่า “เปิดบริการเร็วๆ นี้” เป็นต้น ซึ่งความจริงแล้วไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย ตรงนี้เองจะทำให้วัฒนธรรมของเราถูกแทรกแซงได้ง่าย

    “ในเมื่อเรามีภาษาไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจที่เรามีภาษาเป็นของตัวเอง ก็ควรให้ความสำคัญในเรื่องของความเหมาะสม เพราะในเมื่อภาษาเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างกัน หากความเป็นระเบียบไม่เกิดขึ้น วัฒนธรรมโดนแทรกแซงบ้านเมืองก็คงจะหาความสงบเรียบร้อยได้ยาก นี่คือสิ่งที่เราคนไทยต้องตระหนักที่สุด” ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี เสนอแนะ

  • ศ.นพ.พูนพิศ อมาตยกุล
  • ‘ธุรกิจ’ ตัวการทำขนบ จารีตดนตรีบิดเบือน

    เมื่อพูดถึงการจัดการวัฒนธรรมด้านภาษาแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสนใจต่อไปคงหนีไม่พ้นการจัดการวัฒนธรรมด้านดนตรีซึ่งโดนแทรกแซงจนความเป็นระเบียบเริ่มหายไป

    ศ.นพ.พูนพิศ อมาตยกุล จากมูลนิธิราชสุดา ม.มหิดล อธิบายว่า ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ในปัจจุบันมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องโยงไปถึงเรื่องของอารมณ์ที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ สิ่งนี้เองทำให้แต่ละค่ายเพลงเกิดการแข่งขันขึ้นซึ่งเป็นที่มาของความไม่เป็นระเบียบ ไม่มีการควบคุมจัดการที่ถูกต้องทำให้มีแนวที่ฉีกออกไปหลากหลาย จนเกิดความเบี่ยงเบนและเข้าใจผิด ดังนั้นการจัดการจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับดนตรีที่เป็นธุรกิจ


  • ศ.นพ.พูนพิศ บอกอีกว่า ในอดีตการจัดการวัฒนธรรมด้านดนตรียังไม่มีชัดเจน ซึ่งต่างที่ต่างก็ดูแลของตนเอง โดยแยกเป็นดนตรีหลวง และดนตรีราษฎร์ แต่ต่างฝ่ายต่างก็ให้การช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยช่วยกันฝึกหัดร่วมกันได้ เพื่อต้องการที่จะเพิ่มจำนวนนักดนตรีโดยไม่ได้หวังค่าตอบแทน แต่จะมีการให้ในรูปแบบของค่ายกครูตามแต่ศรัทธา และจะมีคนนับน่าถือตามาก ซึ่งแตกต่างกับนักดนตรีปัจจุบันที่มีเป้าหมายอยู่ที่ค่าตอบแทน ผลกำไรเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ทุกคนมุ่งหวังที่จะก้าวกระโดด ไขว่คว้าเส้นทางที่จะทำให้มีชื่อเสียงโดยเร็วที่สุด และยังสร้างคนให้มีนิสัยในการเอาเปรียบเพื่อให้ตัวเองเด่นกว่าคนอื่น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในปัญหาของดนตรีที่มีธุรกิจมาเกี่ยวข้อง

    “การจัดการในสมัยนี้จะละเลยขนบด้านดนตรีที่เป็นมาแต่อดีต แต่เป็นการกระโดดข้ามขั้น อย่างเช่นค่านิยมของเด็กที่อยากดังในสมัยนี้ประกอบกับมีรายการที่สนองความต้องการอย่างรวดเร็ว ดังในรายการเรียลิตี้โชว์ค้นหานักร้องที่เกิดขึ้นมากมาย โดยเราก็จะเห็นถึงความพยายาม เห็นพัฒนาการของเด็ก แต่เป็นการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งการเรียนรู้เรื่องดนตรีนั้นไม่ควรข้ามขั้นจนเกินไป อาจเกิดผลเสียที่ทำให้มุ่งที่จะแข่งขัน โดยไม่คำนึงถึงแก่นแท้ของดนตรีที่ศิลปินควรจะได้รับ” ศ.นพ.พูนพิศขยายความ

    หากมองไปยังภาพรวมด้านดนตรีในปัจจุบันนั้น ศ.นพ.พูนพิศ ให้แนวคิดว่า ถึงยุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรดนตรีไทยไม่มีทางสูญหายแน่นอน แต่ตอนนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนดนตรีจากขนบเดิมเพื่อให้เข้ากับดนตรีสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งงานที่ดีและไม่ดี และเพลงที่เรียกว่าร่วมสมัยนั้นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ การรับรู้ การจดจำเพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้กับเพลงตลาดตามกระแสทั่วไปก็เป็นความอิสระของทั้งการแต่ง ทำนอง และรูปแบบการร้อง แต่อยู่ที่ว่าคนทำเพลงนั้นๆ จะปรุงแต่งเพลงเพื่อรองรับกับความต้องการในกลุ่มเป้าหมายได้ดีเพียงใด แต่ด้วยการเป็นธุรกิจดนตรีก็จะช่วยให้มีหลากหลายวิธีที่ดันให้เพลงนั้นติดลมบนได้ เช่น การบริการให้โหลดเป็นเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือเพื่อสร้างความจดจำ เป็นต้น

    “จึงอยากให้คนในวงการดนตรีเข้าใจดนตรีให้มากขึ้น คือต้องอ่าน ต้องวิจัย และถกกันถึงปัญหาให้มากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างหมกมุ่นอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อแต่งเพลงโดยไม่หารือ พบปะกับใครเลย และที่สำคัญอย่าทำอะไรที่เบียดกับขนบเดิมมากจนเกินไป” ศ.นพ.พูนพิศ แนะนำ
    อาจารย์วิถี พานิชพันธ์
  • จัดการวัฒนธรรมการแต่งกายสู่การอนุรักษ์

    สุดท้ายมาว่ากันด้วยเรื่องการจัดการด้านการแต่งกาย ซึ่ง อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จากม.นเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ให้ข้อมูลว่า ในส่วนที่มีการศึกษานั้นจะเน้นไปในส่วนของการแต่งกายของชาวเหนือ ที่เป็นไปในรูปแบบการแต่งกายเชิงอนุรักษ์ ที่มีการพัฒนาเครื่องแต่งกายท้องถิ่นล้านนามาดัดแปลงให้เข้ากับปัจจุบัน และการแต่งกายให้เข้ากับงานพิธีกรรมพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่ให้นักศึกษาที่สนใจได้สัมผัสของจริง เพื่อเป็นการซึมซับเรื่องราวอนุรักษ์ไปในตัว

    เช่นในส่วนของพิธีกรรมที่เน้นบูชาเทวดา องค์เทพ จะเป็นการแต่งกายด้วยชุดขาว หรือแม้ในงานต่างๆนั้นคนเหนือส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการให้เกียรติเจ้าภาพ อย่างในงานศพก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดดำเสมอไป แต่จะมีการนุ่งสิ้นตีนจกที่มีสีสัน แต่ถือเป็นการให้เกียรติทั้งเจ้าภาพและผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งเป็นจารีตเดิมของชาวเหนือ แต่หากใส่ชุดม่อฮ่อมไปในงานพิธีก็จะถือเป็นการไม่ให้เกียรติกันเพราะชุดม่อฮ่อมนั้นจะใช้ในการทำงานเท่านั้น

    “หากจะมีการแต่งกายแบบชาวพื้นเมือง ชุดล้านนาแท้นั้นก็คงไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเพราะชุดนั้นจะมีลักษณะที่โป๊เกินไป ดังนั้นเมื่อได้มีการจัดการด้านวัฒนธรรมการแต่งกายแล้วจะทำให้ทราบถึงการนำเครื่องแต่งกายมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ ความเหมาะสมในแต่ละโอกาส อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ของพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปอีกด้วย” อ.วิถี ทิ้งท้าย

  • กำลังโหลดความคิดเห็น