xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานอพยพจากเอเชียผวาตกงาน ขณะวิกฤตการเงินลุกลามทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – สำนักข่าวเอเอฟพีออกรายงานข่าวพูดถึงอาการอกสั่นขวัญแขวนในหมู่แรงงานอพยพชาวเอเชีย ที่ต้องเผชิญกับผลพวงของวิกฤตการเงินที่ลุกลามทั่วโลก ทั้งความเป็นไปได้ในการสูญเสียงาน ตลอดจนชะตาชีวิตของครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเกิด

ขณะที่พายุวิกฤตการเงินทั่วโลกพัดพาอาการหวาดแผ่ผวาปกคลุมทั่วตลาดหุ้นเอเชีย คริสตี อาร์เซียกา สาวใช้ชาวฟิลิปปินส์ ก็กระวนกระวายใจไม่แพ้กัน แม้เธอจะไม่ได้ถือหุ้นไว้ซักหน่วยก็ตามที

พักหลังมานี้ เจ้านายของอาร์เซียกาซึ่งเป็นนักธุรกิจ เริ่มมีอาการฉุนเฉียวมากยิ่งขึ้น ขณะที่เขามองการลงทุนของตนเองถูกกลืนกินในรายงานความเคลื่อนไหวราคาหุ้นที่เต็มไปด้วยสีแดงทั้งกระดาน และสาวใช้วัย 46 ปีผู้นี้ ก็มักต้องรองรับอารมณ์ต่าง ๆ นานาของเจ้านายเป็นประจำ

“เจ้านายของฉันจะตื่นขึ้นมาดูโทรทัศน์ทุก ๆ เช้า เพื่อตรวจสอบรายงานตลาดหุ้นล่าสุด ตั้งแต่ก่อนที่เขารับประทานอาหารเช้าด้วยซ้ำไป บ่อยครั้งเขามักจะเกรี้ยวกราดและบอกว่า อาจจะส่งฉันกลับบ้านก่อนที่สัญญาการจ้างงานจะสิ้นสุด” อาร์เซียกา กล่าว

“ความคิดที่จะต้องกลับบ้าน เล่นเอาฉันนอนไม่หลับเสียหลายคืน ครอบครัวของฉันจะเป็นอย่างไร แล้วไหนจะลูกอีก 2 คน ที่อยู่ในวัยเรียนอีก”

แรงงานอพยพจำนวนนับหมื่นนับแสน ซึ่งทำงานเป็นคนรับใช้,พนักงานร้านอาหารและกรรมกรในนครต่างๆ อันแสนจะมั่งคั่งแถบเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ หรือฮ่องกง พากันวิตกกังวลว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการการประหยัดค่าใช้จ่าย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงิน อาจส่งผลกระทบกับกระเป๋าเงินของนายจ้าง และในที่สุดพวกเขาอาจต้องตกงาน

นั่นหมายความว่า ค่าแรงที่คนงานส่งกลับบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อจุนเจือครอบครัวที่ยากจนของพวกเขา ก็จะสูญสิ้นตามไปด้วย แล้วยังรวมถึงเงินค่าอาหาร,เสื้อผ้า และการศึกษาอีก

มายรา กาตากูตาน วัย 34 ปี สาวใช้อีกคนหนึ่ง เล่าว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้ยินเจ้านายของเธอคุยโทรศัพท์อย่างเกรี้ยวกราดกับใครซักคน ที่คาดว่าน่าจะเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน พร้อมกับทวงเงินของเธอกลับคืน

“เจ้านายของฉันตะโกนใส่เขาทางโทรศัพท์ว่า “เอาเงินของฉันคืนมา” เมื่อเธอหันมามองที่ฉัน พร้อมกับน้ำตาที่เอ่อล้น เธอบอกฉันว่า “เธออาจต้องสูญเสียเงินก้อนโต” กาตากูตานกล่าว “ฉันกังวลว่า เธออาจจะให้ฉันออกจากงาน”

วิลเลียม โกอิส ผู้ประสานงานภาคพื้นทวีปขององค์การ “ไมแกรนต์ ฟอรั่ม อิน เอเชีย” กล่าวว่า มาตรการการตัดลดค่าใช่จ่ายครั้งใหญ่ จะทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศบ้านเกิดของแรงงานอพยพทวีความเลวร้ายลงอีก

“ขณะนี้ ครอบครัวต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาเงินค่าแรงของบรรดาแรงงานอพยพพบว่า ไม่มีอะไรส่งกลับมาเลย นอกจากนี้ ยังทำให้สถานการณ์ความยากจนเลวร้ายยิ่งขึ้นอีก” โกอิส กล่าวทางโทรศัพท์จากกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์

“ฟิลิปปินส์,อินโดนีเซีย,บังกลาเทศ และศรีลังกา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ส่งออกแรงงานมนุษย์รายใหญ่ จะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ”

ด้านธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ แถลงว่า แรงงานอพยพส่งเงินกลับมาตุภูมิรวมทั้งสิ้น 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ และคาดว่าน่าจะสูงถึง 15,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดทั้งปี 2008

**ศก.ชะลอตัว แรงงานอพยพหลายล้านอาจต้องกลับบ้าน**

อีกปัญหาหนึ่งที่จะตามมา คือ แรงงานอพยพจำนวนมหาศาลที่เอกสารไม่ถูกต้อง ซึ่งแอบลักลอบทำงานอยู่ในฮ่องกง,ญี่ปุ่น,มาเลเซีย,สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โกอิสกล่าว

“ในช่วงที่เศรษฐกิจทรุดตัว สิ่งที่รัฐบาลต่างๆ จะทำเป็นอันดับแรกคือ การปราบปรามแรงงานอพยพที่เอกสารไม่ถูกต้อง เนื่องจากพวกเขาถูกมองว่า เป็นภาระทางเศรษฐกิจและเป็นปัญหาสังคม” โกอิส กล่าว

ผู้ประสานงานไมแกรนต์ ฟอรัม อิน เอเชีย บอกต่อว่า มีแรงงานอพยพจากเอเชียมากกว่า 53 ล้านชีวิต ทำมาหากินอยู่ทั่วทุกมุมโลก เฉพาะอย่างยิ่งชาติอาหรับร่ำรวยในอ่าวเปอร์เซียและแถบตะวันออกกลาง โดยมีอัตราส่วนมากทีเดียว ที่เป็นแรงงานทักษะต่ำถึงปานกลาง

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ จะยังไม่มีรายงานการเลิกจ้างครั้งมหาศาล แต่คนงานหลายคนก็ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า พวกเขารู้สึกเป็นกังวลอย่างมาก

“แน่นอน ผมกลัวมากๆ” แรงงานอพยพชาวบังกลาเทศผู้หนึ่งกล่าว ขณะใช้เครื่องขุดเจาะขุดบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านจัดสรรแถบชานเมือง

“จริงๆ ผมไม่เข้าใจเรื่องสาเหตุของวิกฤตการการเงินมากนักหรอก ผมเพียงวิตกว่า บริษัทของผมจะได้รับผลกระทบเท่านั้น" แรงงานชาวบังกลาเทศ กล่าว

ในสิงคโปร์ การเลิกจ้างคนรับใช้รายหนึ่ง จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้าน อย่างน้อย 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 407 ดอลลาร์) ต่อเดือน

นายจ้างหลายคนต้องเผชิญกับพิษตลาดหุ้น ตลอดจนตราสารการเงินต่างๆ ซึ่งมูลค่าร่อยหรอลงเรื่อยๆ จากผลพวงของวิกฤตซับไพรม์

อีกด้านหนึ่ง ชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่สิงคโปร์ก็ลดน้อยลงในช่วง 3 เดือนนับจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนอาจทำให้ภัตตาคาร,ร้านค้าต่างๆ ซึ่งหลายแห่งว่าจ้างแรงงานอพยพชาวฟิลิปปินส์และจีน ต้องตัดลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด

การชะลอตัวในอุตสาหกรรมการก่อสร้างก็เช่นกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานอพยพหลายหมื่นคนทั้งจากบังกลาเทศ,อินเดีย,พม่า,ไทย และจีน

ในดินแดนฮ่องกง อันเป็นถิ่นพำนักของชาวฟิลิปปินส์ส่วนราว 150,000 ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาวใช้ หรือทำงานตามบาร์และภัตตาคาร พากันหวาดผวาถึงผลกระทบจากวิกฤตการเงิน และเริ่มสะท้อนความรู้สึกผ่านทางชุมชนของตนเองที่ถักทอขึ้นอย่างเข้มข้น

“แรงงานอพยพรู้สึกกังวลใจมากๆ” อีมาน วิลลานิววา เลขาธิการกลุ่ม “ยูไนเต็ด ฟิลิปปิโนส อิน ฮ่องกง” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของแรงงานอพยพ กล่าว

“พวกเขาหวั่นวิตกเป็นอันดับแรกเลย คือ เรื่องงานที่ทำอยู่ ผู้ที่อยู่ในฮ่องกงส่วนมาก ซึ่งว่าจ้างคนรับใช้ มักจะมีการลงทุน หรืออาจเจอกับการสูญเสียงาน เพราะผลพวงจากวิกฤตการเงิน”

วิลลานิววา กล่าวด้วยว่า แรงงานอพยพหลายคน กังวลเรื่องความปลอดภัยในการลงทุนของตนเองด้วย

“หลายคนซื้อประกันการศึกษา เพื่อให้แน่ใจว่า บุตรหลานของพวกเขา จะสามารถเข้าเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็สมัครเข้ากองทุนบำนาญ พวกเขากังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเงินของพวกเขา”



กำลังโหลดความคิดเห็น