xs
xsm
sm
md
lg

เกษียณแล้ว ลงทุนอย่างไรดี!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าถึงเวลาเกษียณแล้ว นั่นหมายถึงไม่มีเวลาสำหรับจะเตรียมกันแล้ว เพราะปกติการวางแผนการลงทุนที่ถูกหลักอนามัยนั้น ใครเริ่มทำก่อนก็ค่อนข้างจะได้เปรียบเอามากๆ เปรียบได้กับเต่าและกระต่ายในนิทานอีสป เนื่องจากดอกผลของผลตอบแทนที่ได้รับในปีแรกๆจะยิ่งทบเท่าทวีคูณมากยิ่งขึ้นอย่างมากในปีหลังๆ
คอลัมน์ Money DIY
โยแมน
yeomanwarders-dailymanager@yahoo.com


วันก่อนได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหาร และพนักงานขององค์กรพิเศษของรัฐแห่งหนึ่งที่กำลังเตรียมตัวเกษียณในเดือนหน้านี้ ก็ให้นึกได้ครับว่า ส่วนใหญ่เราจะพูดกันถึงแต่เรื่องเตรียมตัวก่อนเกษียณ แต่ไม่กลับไม่ค่อยมีการพุดถึงการเตรียมตัวใช้ชีวิตทางการเงินหลังเกษียณกันบ้าง

จริงๆแล้วเหตุผลมันก็พอมีอยู่ว่าเหตุใดจึงมักจะพูดกันถึงแต่การ "เตรียมตัวก่อนเกษียณ" ก็เพราะถ้าถึงเวลาเกษียณแล้ว นั่นหมายถึงไม่มีเวลาสำหรับจะเตรียมกันแล้วนั่นเองครับ เพราะปกติการวางแผนการลงทุนที่ถูกหลักอนามัยนั้น ใครเริ่มทำก่อนก็ค่อนข้างจะได้เปรียบเอามากๆ เปรียบได้กับเต่าและกระต่ายในนิทานอีสป เนื่องจากดอกผลของผลตอบแทนที่ได้รับในปีแรกๆจะยิ่งทบเท่าทวีคูณมากยิ่งขึ้นอย่างมากในปีหลังๆ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า "มหัศจรรย์แห่งดอกเบี้ยทบต้น" (Miracle of Compound Interest)

ขนาดสุดยอดนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฏีสัมพัทธภาพ ครั้งหนึ่งได้เคยกล่าวถึง "ดอกเบี้ยทบต้น" ว่าเป็นการค้นพบทางคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"

แต่ทีนี้จะทำอย่างไรสำหรับผู้ที่เพิ่งจะมาทราบถึงกลยุทธ์นี้ ในวันที่กำลังเกษียณอยู่รอมร่อแล้ว อันนี้ก็อย่าเพิ่งท้อถอยไปครับ เรายังพอมีช่องทางการจัดการชีวิตเหลืออยู่บ้าง

1) สำรวจว่าตนเองมีเงินและทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่เท่าไหร่กันแน่ ทั้งในส่วนที่จะรับเป็นเงินก้อน และที่รับเป็นรายเดือน ไม่ว่าจะจากเงินบำเหน็จ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับจากหน่วยงาน บ้าน ที่ดิน เงินเก็บใส่ไห ใส่หัวเตียง ฯลฯ

2) สำรวจว่าตนเองมีสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งในส่วนตนเอง และคู่สมรสหรือไม่ โดยข้าราชการนั้นจะได้สิทธิรักษาพยาบาลทั้งในส่วนตนเอง คู่สมรส บิดา มารดา รวมถึงบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในโรงพยาบาลของรัฐ ในขณะที่องค์กรพิเศษ หรือรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สวัสดิการจะครอบคลุมเพียงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเท่านั้น ส่วนพนักงานภาคเอกชนนั้นส่วนใหญ่ไม่มีสวัสดิการแบบนี้ให้ครับ

3) ตรวจสอบว่ามีประกันสุขภาพ และประกันชีวิตอยู่หรือไม่ วงเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง มีอยู่แค่ไหน เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน หรือที่คาดว่าจะเป็นในอนาคตหรือไม่ อาจลองตรวจสอบราคาค่าห้องพักของโรงพยาบาลที่เราเป็นคนไข้อยู่แล้วเป็นฐานในการประมาณการคร่าวๆก่อน (แต่ถ้าพบว่าแพงเกินกำลังก็ต้องเริ่มหาโรงพยาบาลอื่นๆที่ราคาลดหลั่นกันลงมาครับ)

4) ทบทวนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไร ที่ยังผูกพันอยู่บ้าง เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนรถ ค่าเล่าเรียนลูก หลาน ค่าอาหาร รวมถึง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น

5) หากท่านมีรายได้อื่นนอกจากเงินเดือน ก็ลองรวบรวมมาให้หมดครับ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าบ้าน

6) เมื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเสร็จแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการดูว่ารายได้จากบำนาญ หรือรายได้อื่นที่อาจจะมีนั้น เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะมีหลังเกษียณหรือไม่ ซึ่งถึงแม้ว่าจะพอในวันนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพอในวันหน้านะครับ เพราะสิบปีที่แล้วก๋วยเตี๋ยวยังชามละ 10-15 บาท มาตอนนี้ชามละ 30-40 บาท อีกสิบปีข้างหน้าก็มีสิทธิที่ราคาจะถึง 60-80 บาท ดังนั้นถ้าท่านคิดว่ามีโอกาสมีชีวิตอยู่ได้เกิน 10 ปีขึ้นไป ก็คงต้องเตรียมรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 10 ปีเอาไว้ด้วยครับ

7) หากพิจารณาอย่างแน่ใจแล้ว พบว่ารายได้หลังเกษียณไม่น่าจะเพียงพอกับรายจ่ายหลังเกษียณค่อนข้างแน่นอนแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นตอนนี้ หรืออีก 10-20 ปีข้างหน้า) ก็ต้องมาถึงขั้นตอนทำใจให้เข้มแข็ง พร้อมทั้งสำรวจค่าใช้จ่ายว่ามีอะไรที่จะตัดทอนลงได้บ้าง หรืออาจเปลี่ยนให้ลูกหลานเป็นผู้รับช่วง เช่น ค่าสาธารณูปโภคในบ้าน ค่าผ่อนบ้าน

8) ถ้าตัดลดค่าใช้จ่ายไปแล้ว แต่ก็ยังมากกว่ารายได้ต่อเดือนที่เข้ามาอยู่ดี (ย้ำว่าต้องคิดเผื่อถึงอนาคตด้วยนะครับ เพราะรายได้จากบำนาญหลังเกษียณนั้นมักจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นตลอด) ก็ถึงเวลาที่ต้องเอาเงินเก็บขึ้นมาบริหารจัดการกันล่ะครับ

ขั้นแรกก็ต้องรวบรวมว่าเงินเก็บ เมื่อรวมกับเงินบำเหน็จ และ/หรือ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็มาจัดสัดส่วนการลงทุนครับ โดยยึดหลักว่าถ้าดูแล้วอีก 10 ปีเงินรายได้จะไม่พอกับรายจ่ายค่อนข้างมาก ก็คงต้องมีสัดส่วนในหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งพอฟังคำว่าหุ้นนั้นเหมือนของแสลงสำหรับคนที่ไม่ค่อยรู้จักใกล้ชิดกับการลงทุนในหุ้น แต่ที่จริงแล้วการมีหุ้น ก็เหมือนการไปร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจกิจการที่มีคนที่ชำนาญบริหารจัดการอยู่แล้ว เรามีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นที่จ้างคนอื่นมาบริหารแทนเพื่อให้มีรายได้ โดยเราไม่ต้องไปเหนื่อยลงแรงด้วยตัวเอง สำหรับรายได้นั้นก็จะมาในรูปเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทเหล่านี้นั่นเอง

สำหรับคนวัยเกษียณหุ้นที่เหมาะแก่การลงทุนน่าจะเป็นหุ้นที่มีความมั่นคงสูง และมีรายได้สม่ำเสมอเป็นหลัก (เพราะเราเน้นรายได้มาใช้จ่าย มากกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเยอะๆในอนาคต)

สำหรับสัดส่วนหุ้นนั้นเคยเล่าให้ฟังไปแล้วว่าปู่จอห์น โบเกิล แห่งกองทุนแวนการ์ด ได้บอกเคล็ดส่วนตัวของแกว่า ให้เอาอายุตนเอง ลบด้วย 10 เหลือเท่าไหร่ให้ลงทุนสัดส่วนนั้นในตราสารหนี้ เช่น เกษียณอายุ 60 ก็เท่ากับ 60 - 10 = 50 แปลว่าลงทุนในตราสารหนี้ได้ 50% อีก 50% ลงทุนในหุ้น ซึ่งออกจะผิดแผกจากตำราปกติที่มักจะให้คนหลังเกษียณลงทุนในหุ้นน้อยๆ เพียงไม่เกิน 10% หรือไม่มีเลยเป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านต้องสามารถทนเห็นหุ้นขาดทุนมากๆได้ คำว่ามากๆนี่บางทีขาดทุน 30-50% ในปีเดียวก็เคยเห็นกันมาแล้ว แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้สนใจราคาตลาดของหุ้นเท่ากับปันผลที่ได้รับจากหุ้นในระยะยาวนะครับ

เนื้อที่หมด ขอต่อกันหนหน้าแล้วกันครับ!
กำลังโหลดความคิดเห็น