xs
xsm
sm
md
lg

“แพทยสภา” รับหมอเสียภาษีไม่ถูกต้องเพียบ หวั่นสรรพากรเช็กบิลย้อนหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภาห่วงหมอถูกสรรพากรเช็กบิลย้อนหลัง เหตุไม่รู้กฎหมาย จัดอบรมให้ความรู้แถมแนะหมอเปิดกิจการใหม่ให้จดทะเบียนกิจการเป็นนิติบุคล ห้างหุ้นส่วน

วานนี้ (4 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาด้านกฎหมายกล่าวในงานกระประชุมวิชาการแพทยสภา ประจำปี 2551 เรื่อง "ภาษีแพทย์ : อนาคตแพทย์ไทยกับการเสียภาษี” ว่า ขณะนี้แพทย์จำนวนมากยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่จึงไม่ได้ตั้งใจจะหลบเลี่ยงภาษี หรือปกปิดรายได้ที่แท้จริง แต่เนื่องจากไม่รู้และไม่เข้าใจการจัดเก็บภาษีลักษณะการประกอบอาชีพของตนว่า เข้าข่ายเสียภาษีตามมาตราใดกันแน่เพราะมีความเกี่ยวข้องในหลายมาตราของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2541

ดังนั้น เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะหากเสียภาษีไม่ถูกช่องทางก็มีความเสี่ยงสูงที่กรมสรรภากรจะเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ รวมถึงจะต้องเสียค่าปรับ และดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่าที่แพทย์ควรจ่าย

นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า อาชีพแพทย์ถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีข้อกำหนดในการเสียภาษีแตกต่างจากภาษีเงินได้ธรรมดา จึงทำให้มีความซับซ้อนในการคำนวณภาษี ประกอบกับแพทย์ส่วนใหญ่อาจทำงานหลายที่และมีรายได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นวิทยากร อาจารย์สอนหนังสือ เช่น แพทย์ 1 คน มีงานประจำในเวลาราชการปกติ และทำงานนอกเวลาราชการหรือคลินิกพิเศษของสถานพยาบาลเดียวกัน จะเสียภาษีตามมาตรา 40(1) บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2541 แต่หากทำงานคลินิกพิเศษกับสถานพยาบาลคนละแห่งกับงานประจำ เช่น คลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลเอกชน จะเสียภาษีตามมาตรา 40(2)

“หากแพทย์มีธุรกิจมีฐานะเป็นผู้จ้าง ผู้ประกอบการ โดยไปเปิดคลินิกเอกชนเป็นของตัวเอง หรือโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นวิชาชีพอิสระ ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40(6) ซึ่งวิชาชีพอื่น เช่น สถาปัตยกรรม วิศวกรรม บัญชี ต้องประเมินภาษีตามมาตรานี้ด้วย หากแพทย์ที่เสียภาษีตามมาตรานี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียภาษีในมาตราอื่นอีก เพราะจะถือว่าเสียภาษีซ้ำซ้อนโดยที่ไม่จำเป็น” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นพ.ไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่เสียภาษีตามมาตรา 40(6) มีสิทธิ์ได้หักค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าดำเนินการธุรกิจ เป็นต้น ได้ 2 แบบ คือ หักค่าใช้จ่ายตามจริง และหักในอัตราเหมาจ่ายได้สูงสุด 60% ของรายได้ ซึ่งอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด ขณะที่วิชาชีพอื่นหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 30% เท่านั้น จึงได้แนะนำให้แพทย์ใช้วิธีอัตราเหมาจ่ายดีที่สุดเพราะคุ้มค่ามากกว่าหักตามค่าใช้จ่ายจริงโดยเฉพาะสถานพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงจะได้มีส่วนต่างของรายได้กลับคืนมา

“นอกจากนี้ การเปิดคลินิกใหม่ยังช่วยลดการจ่ายภาษีได้ด้วย โดยจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน ที่มีผู้ร่วมทุนมากกว่า 1 คน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดา แต่เสียภาษีในส่วนของห้างหุ้นส่วนที่เพิ่งเปิดกิจการใหม่แทน โดยที่ไม่ต้องไม่ประเมินภาษีจากรายได้ที่มีมาก่อนหน้าจะเปิดกิจการ และหากมีการเปิดสาขาหรือกิจการใหม่ โดยที่มีหุ้นส่วนใหม่เพิ่มเข้ามา แค่ 1 คนเท่านั้น ระบบการประเมินภาษีก็จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทันที คือ หากมีรายได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาท ไม่เสียภาษี หากมีรายได้เกิน 1.5 แสนบาท เสียภาษี 10% และหากมีรายได้เกิน 5 แสนบาทขึ้นไป เสียภาษี 20% และยังได้สิทธิ์หักค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ทำกันแพร่หลาย และถูกต้องตามกฎหมายด้วย” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น