xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรรีดภาษีพ่อค้ายา-ธุรกิจใต้ดิน ชดเชยรัฐอุ้มประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรรพากรเปิดช่องเก็บภาษีหลังเศรษฐกิจชะลอตัวฉุดยอดจัดเก็บ ลุยฟันธุรกิจใต้ดินผิดกฎหมายจับมือ 2 หน่วยงาน ป.ป.ส.-ปปง.เอาผิดพ่อค้ายา 3 ปี ฟันภาษีแล้วกว่าพันล้านบาท ยันเก็บ VAT 7% ต่อจนถึงปีหน้าตามมติ ครม.เดิม พร้อมเดินหน้าขยายฐานผู้เสียภาษีชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปแทน

นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากปัญหาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไม่สามารถดำเนินการกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดได้เนื่องจากเอกสารหลักฐานไม่เพียงพอที่จะเอาผิดทางอาญาได้ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ป.ป.ส.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสรรพากร เพื่อดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มผู้ค้ายาในทางแพ่งแทน

โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน สามารถส่งเรื่องดำเนินคดีต่อศาลแพ่ง และยึดเงินคืนเข้าสู่รัฐได้ถึงพันกว่าล้านบาทแล้ว ซึ่งจากนี้จะเร่งเดินหน้าเพื่อร่วมปราบปรามกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ต่อไป

ทั้งนี้ รูปแบบของการดำเนินการ ป.ป.ส.จะส่งเรื่องมายังกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบเส้นทางเงิน ซึ่ง ปปง.และสรรพากร มีสิทธิตามกฎหมายจะขอตรวจสอบบัญชีเงินฝากจากธนาคารของผู้ต้องสงสัยว่าจะค้ายาเสพติด ซึ่งหากพบว่าผู้ต้องสงสัยมีเงินได้ แต่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ก็สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ฐานหลีกเลี่ยงภาษีได้ โดยโทษจะทั้งจำและปรับไม่เกิน 3 หมื่น-2 แสนบาท พร้อมเรียกภาษีย้อนหลังทั้งหมด

“ที่ผ่านมา ช่วง 2-3 ปีมานี้ สามารถเอาโทษกับผู้ค้ายาได้กว่า 100 ราย และยึดอายัดทรัพย์ได้กว่าพันล้านบาท โดยรวมทั้งรายใหญ่และรายเล็ก นอกจากนี้ ยังจะขยายกลุ่มที่จะดำเนินคดีในรูปแบบเดียวกันกับกลุ่มผู้ค้าหวยใต้ดินด้วย เพราะลักษณะความผิดเหมือนกัน คือ ประกอบอาชีพผิดกฎหมายแต่เอาผิดทางอาญาไม่ได้ เพราะหลักฐานไม่เพียงพอจึงจะมาเอาผิดทางแพ่งด้วยการตรวจสอบเส้นทางเงินและการเลี่ยงจ่ายภาษีแทน” นายวินัย กล่าว

นายวินัย ได้กล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลจะยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่จะคงภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราดังกล่าวจนถึง 30 ก.ย.2553 ส่วนหลังจากนั้นจะปรับเพิ่มหรือลดหรือไม่ เป็นเรื่องที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะต้องพิจารณา แต่การปรับเพิ่มหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% จะทำให้รัฐมีหรือสูญเสียรายได้ถึง 7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การปรับเพิ่มหรือลดภาษีนิติบุคคล 1% จะมีผลให้รัฐมีหรือสูญเสียรายได้ 1.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การปรับเพิ่ม หรือลดอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ทั้งนี้ ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบันมีผู้เสียภาษีประมาณ 9 ล้านราย ซึ่งนโยบายของ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุว่า ไม่ควรบีบคั้นหรือเร่งรีดภาษีกับใครหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นพิเศษ เพียงแต่ควรขยายฐานผู้เสียภาษีให้มากขึ้นเพื่อนำเงินรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นนำไปสร้างสวัสดิการต่อประชาชนทั้งประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น