xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือก....รักษามะเร็งเต้านม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกวันนี้ มะเร็งเต้านมนับว่าเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงโดยพบมากเป็นอันดับต้นๆ โดยพบอุบัติการณ์ 1 ใน 10 ของผู้หญิง หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมโดยที่ไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมได้มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดเพิ่มมากขึ้น และมีชีวิตยืนยาวมากกว่าในอดีต

นพ.ประกาศิต จิรัปภา โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยทั่วไปการรักษามะเร็งเต้านมจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก และการผ่าตัดโดยการเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ซึ่งปัญหาที่ตามมาหลังจากการผ่าตัดเต้านม คือ คนไข้มักจะมีภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียเต้านมและพยายามที่จะหาวิธีในการทำให้มีเต้านมเพื่อสร้างความมั่นใจ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการรักษาในคนไข้ที่ไม่สามารถจะเก็บเต้านมได้นั้น สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ ใช้ซิลิโคนหรือใช้เนื้อของตัวเองเพื่อสร้างเต้านมใหม่

“สำหรับในส่วนของซิลิโคนจะใช้ในกรณีที่คนไข้ไม่มีเต้านมแล้วเอาซิลิโคนมาทำเป็นนมให้ใหม่ แต่มีข้อจำกัด คือ ความสวยงามจะไม่เหมือนกับการเสริมหน้าอก เพราะเหมือนกับการใส่กะลา ส่วนการใช้เนื้อเยื่อของตัวเองมาทำเต้านมเป็นการผ่าตัดเสริมเต้าหลังการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม โดยการเอากล้ามเนื้อบริเวณหลังและกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องมาทำเต้านม เป็นการรักษาแนวใหม่ที่ทำให้คนไข้มีความมั่นใจในตัวเองส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น”

นพ.ประกาศิต ให้ข้อมูลอีกว่า คนไข้ที่เหมาะจะใช้กล้ามเนื้อหลังมาทำเต้านมในกรณีที่เก็บเต้านมเดิมไม่ได้แล้ว ใช้ได้ในกลุ่มคนไข้ที่มีขนาดหน้าอกประมาณ คัพ A, B หรือ B+ เท่านั้น หรือสามารถทำได้ในกลุ่มที่มีเต้านมไม่หย่อนคล้อยนัก และผู้ที่เคยผ่าตัดหน้าท้องมาก่อน

สำหรับกรณีการใช้กล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหน้าท้อง โดยหลักจะใช้กับคนไข้ที่มีเต้านม ขนาดใหญ่ เพราะว่าเนื้อที่ท้องจะมีปริมาณมากกว่า ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์

ส่วนวิธีการผ่าตัดก็จะมีการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนว่ามีกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องเพียงพอหรือไม่ กล้ามเนื้อหลังยังทำงานอยู่หรือไม่ วิธีการผ่าตัดไม่น่ากลัว เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมผ่าตัดหน้าอกออกครึ่งเต้า ก็สามารถที่จะนำกล้ามเนื้อหลังมาทำให้มีขนาดเท่าอีกข้างได้ จะไม่ต่างจากอีกข้างนักแต่ข้างที่ผ่าตัดจะใหญ่กว่าเล็กน้อย หลังจาก 3 เดือนไปแล้วก็จะกลับมาเท่ากัน แผลผ่าตัดก็จะซ่อนอยู่ในขอบของเสื้อชั้นใน กรณีผู้ป่วยที่มะเร็งเต้านมทะลุออกมานอกผิวหนัง ก็จะนำเนื้อและผิวหนังบริเวณหลังหรือท้องมาทำนมใหม่

ด้าน นพ.ภัทรพงศ์ พรโสภณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวการการรักษามะเร็งเต้านมว่านอกจากการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแล้ว การฉายแสง การใช้ยาเคมี และการใช้ยาฮอร์โมนก็เป็นหนึ่งในวิธีการรักษา หรือใช้ร่วมหลังจากผ่าตัดมะเร็งเต้านมเสร็จไปแล้ว

การรักษาโดยการฉายแสง มักจะใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นๆ เพื่อควบคุมให้โรคไม่เกิดการแพร่กระจาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะกังวลเรื่องผลของการฉายแสง เช่น ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน แต่ปัจจุบันเครื่องฉายแสงได้พัฒนาไปมาก ทำให้ผลข้างเคียงเหล่านี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด หลังการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแล้วจึงมีความจำเป็นในการให้ยาร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดมากขึ้นและลดการกระจายตัวของโรค นอกจากนี้ ยังมีการให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของมะเร็ง ทำให้อัตราการผ่าตัดเก็บเต้านมได้มากขึ้นหรือทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น ถ้าในผู้ป่วยที่มะเร็งมีการกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น เช่น ตับ ปอด กระดูก ก็ใช้ยาเคมีเพื่อให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น ลดการทรมานจากมะเร็ง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

สำหรับการรักษามะเร็งโดยการใช้ฮอร์โมน จะใช้ในกรณีที่ตรวจพบว่า มีผลบวกต่อการใช้ฮอร์โมน ฉะนั้น การใช้ยาต้านฮอร์โมนนานแค่ไหน ต้องพิจารณาจากผู้ป่วยเป็นรายๆ ไปและปรึกษากับแพทย์ที่รักษา การใช้ยาต้านฮอร์โมนยังแบ่งตามระยะการรักษาคือ การให้เป็นยารักษาเสริม โดยมักจะทำหลังจากการผ่าตัด ฉายแสง หรือเคมีบำบัด การให้เป็นยารักษาก่อนการผ่าตัด ในกรณีที่พบว่ามะเร็งมีก้อนโตและมะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือการใช้เป็นยารักษามะเร็งในระยะแพร่กระจาย

ส่วนพลตรี นพ.สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยให้คำแนะนำทิ้งท้าย ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นทุกปี จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรใส่ใจมาตรวจมะเร็งเต้านม เพื่อค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก จะทำให้การรักษาทำได้ง่ายไม่เป็นอันตราย ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะไม่สูง จะทำให้ผลการรักษาเกิดผลดี ไม่มีการกลับมาของโรคอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น