xs
xsm
sm
md
lg

“ชวรัตน์” นำทีมตรวจคลินิกหลัง “น้องโฟร์โมสต์” เสียชีวิตเหตุไม่ยอมส่งตัวรักษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชวรัตน์” นำเจ้าหน้าที่จากกองการประกอบโรคศิลปะ และ สปสช.ตรวจสอบคลินิกย่านดอนเมือง หลัง “น้องโฟร์โมสต์” วัย 1 ปี 8 เดือน เสียชีวิต เหตุคลินิกไม่ยอมส่งตัวรักษาต่อ ชี้ ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ด้าน สปสช.ยันผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออาการหนัก สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องรอใบส่งตัว พร้อมประชุมพิจารณาเยียวยา วงเงินสูงสุด 2 แสนบาท
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะและรองเลขาธิการสปสช. เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงคลินิกในโครงการ 30 บาทย่านดอนเมือง หลังมีเรื่องร้องเรียนไม่ส่งตัวผู้ป่วยอาการหนักไปรักษาต่อ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต
จากกรณีที่มีข่าวครอบครัวอินาวัง อุ้มศพเด็กชายทวินันท์ อินาวัง หรือ น้องโฟร์โมสต์ บุตรชายวัย 1 ปี 8 เดือน ประท้วงคลินิกย่านดอนเมือง ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเบื้องต้นในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยญาติได้แจ้งความเอาผิด เนื่องจากเชื่อว่าแพทย์วินิจฉัยโรคผิด เพราะครั้งแรกแจ้งว่าเด็กเป็นไข้หวัดและให้ยาไปกิน แต่อาการไม่ดีขึ้น และไม่ยอมส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลภูมิพล เป็นเหตุให้น้องโฟร์โมสต์เสียชีวิต ซึ่งวินิจฉัยเบื้องต้นว่าปอดบวมและติดเชื้อ และเสียชีวิต เมื่อประมาณ 02.00 น.ในวันที่ 19 สิงหาคม 2551 นั้น

วันที่ 20 สิงหาคม นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. และ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสาขาเขตพื้นที่ กทม.เดินทางไปที่คลินิกดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย โดย นายชวรัตน์ ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับบิดาของ ด.ช.ทวินันท์ อินาวัง ที่เสียชีวิต จำนวน 10,000 บาท และรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม

นายชวรัตน์ กล่าวว่า คลินิกแห่งนี้เป็นสถานพยาบาลลูกข่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อดูแลรักษาประชาชนในเบื้องต้น หากอาการรุนแรงหรือเกินขีดความสามารถ จะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลแม่ข่ายคือโรงพยาบาลภูมิพล โดยได้สั่งการให้ตรวจสอบใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อเท็จจริงในการรักษาพยาบาลผู้เสียชีวิต 2.มาตรฐานคลินิกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เกี่ยวกับการขออนุญาต ความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการ 3.มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมประจำคลินิก และ 4.จะประสานโรงพยาบาลภูมิพล ให้สรุปประวัติการรักษาของเด็กที่เสียชีวิต ว่า เกิดจากสาเหตุใด หากพบว่ามีความบกพร่อง จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมบริหาร สปสช.พิจารณา เพื่อพิจารณาค่าเยียวยา ซึ่งมีวงเงินสูงสุด 200,000 บาท

“ขณะนี้ได้กำชับให้ สปสช.ตรวจสอบมาตรฐานคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลินิกที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ จะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ”นายชวรัตน์ กล่าว

นายชวรัตน์ กล่าวต่อวา ทั้งนี้ จากผลดำเนินงานเดือนมีนาคม 2551 มีคลินิกเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งหมด 252 แห่ง สังกัดภาคเอกชน 156 แห่ง ภาครัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 81 แห่ง ที่เหลือ 15 แห่งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยอยู่ใน กทม. 115 แห่ง ประชาชนทั่วประเทศที่ใช้สิทธิบัตรทอง หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือมีอาการหนัก สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ โดยไม่ต้องใบส่งตัว

ด้าน นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องสั่งปิดคลินิกดังกล่าว เพราะมีการขึ้นทะเบียนขออนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล เลขที่ 10101017843 ออกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 มีแพทย์ให้บริการประจำ 4 คน ทุกอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ในเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปชี้ขาดได้ ต้องดูข้อมูลหลักฐานอื่นเพิ่มเติมเช่น รายงานการชันสูตรศพ เวชระเบียน หากพบเกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ผู้รักษา ก็จะประสานส่งเรื่องให้แพทยสภาตรวจสอบต่อไป

นายกิตตินันท์ อินาวัง บิดาของ ด.ช.ทวินันท์ อินาวัง ที่เสียชีวิต กล่าวว่า อยากขอความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะเรื่องระบบการส่งต่อ ดูเหมือนแพทย์ไม่สนใจ ใช้แค่เครื่องฟังหัวใจ อยากทราบข้อเท็จจริงว่า แพทย์ใช้หลักเกณฑ์อะไรพิจารณาว่าควรส่งต่อไม่ส่งต่อ และแพทย์ควรจะดูจากอาการเด็กเป็นหลัก ไม่ควรต้องรอเอกสารหรือรอเวลา และต้องคิดในเรื่องการรักษาชีวิตเด็กไว้ก่อน ไม่ใช่รอจนเด็กเสียชีวิต

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า โรงพยาบาลภูมิพล ถือเป็นโรงพยาบาลนำร่องโครงการลดความแออัดในการให้บริการของ สปสช.ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาที่คลินิกลูกข่ายซึ่งเป็นหน่วยให้บริการปฐมภูมิ ของ รพ.ภูมิพล แต่หากผู้ป่วยมีอาการหนัก หรือบาดเจ็บรุนแรง ทางคลินิกจะต้องส่งผู้ป่วยไปที่รพ.ภูมิพลอีกทดหนึ่ง ที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาในการดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งในทางกลับกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของรพ.ภูมิพลมากขึ้น มีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการลดลง ทำให้แพทย์มีเวลาในการตรวจวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยนานขึ้น

“ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่คลินิกไม่ยอมส่งตัวผู้ป่วยไปรพ.ภูมิพล ไม่อยากจะเหมารวมว่าเป็นปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินที่ทางคลินิกกลัวว่า หากส่งต่อผู้ป่วยแล้วจะไม่ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล เพราะเรื่องนี้มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องรอผลตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน” นพ.วินัยกล่าว

นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายรักษาพยาบาลแบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ 1.กรณีผู้ป่วยเข้ารักษาที่คลินิกลูกข่าย ทางคลินิกจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลโดยตรงจาก สปสช.2.กรณีที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยรายนั้นต้องนอนพักค้างคืนที่โรงพยาบาล ทางคลินิกไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาให้โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้เบิกจ่ายกับ สปสช.เอง และ 3.กรณีที่คลินิกส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล แต่สุดท้ายผู้ป่วยรายนั้นแพทย์วินิจฉัยแล้วอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักค้างคืน ทางคลินิกจะต้องเบิกจ่ายจ่ายค่ารักษาพยาบาลคืนให้กับทางโรงพยาบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น