สปสช.มอบเงินช่วยแม่น้องโฟร์โมสต์ 2 แสน เยียวยาเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตรา 41 คาดรู้ผลชันสูตรสาเหตุเสียชีวิตภายใน 1 เดือน
วันที่ 25 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเป็นผลจากการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อบรรเทาความเสียหายโดยไม่มีความรู้สึกถูกผิด จำนวน 2 แสนบาท ให้กับนางสุรีย์ แก้วทิพย์ชัย อายุ 40 ปี มารดาของ ด.ช.ทวินันท์ อินาวัง หรือ น้องโฟร์โมสต์ อายุ 1 ปี 8 เดือนที่เสียชีวิต โดยถือว่าเป็นการเยียวยาในเบื้องต้น
“เป็นเรื่องที่ดีแล้วที่การชันสูตรศพเป็นหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่มี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็นผู้อำนวยการ ถือว่ามีความเป็นกลาง ซึ่งทราบมาว่า น่าจะรู้ผลการชันสูตรภายใน 1 เดือน หรือน่าจะเร็วกว่านั้น ขณะนี้คาดว่าได้ผลการตรวจพิสูจน์เสร็จสิ้นแล้ว แต่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ติดราชการที่ภาคใต้ จึงต้องรอให้กลับมาพิจารณาข้อมูลก่อน” นายชวรัตน์ กล่าว
ด้านนางสุรีย์ แก้วทิพย์ชัย มารดาของน้องโฟร์โมสต์ กล่าวว่า ไม่ได้อยากได้เงินช่วยเหลือนี้ แต่ต้องรับไว้เพื่อนำไปทำบุญให้ลูก เพราะเงินเป็นร้อยล้านบาท พันล้านบาทก็ไม่สามารถแลกชีวิตลูกได้ ขณะนี้ก็ยังไม่ทราบจะจัดการอย่างไรต่อไป จะเก็บศพน้องไว้หรือจะฌาปนกิจภายใน 7 วันเลย เพราะตอนนี้ได้สวดอภิธรรมศพคืนที่ 3 แล้ว
“อยากเก็บลูกไว้ให้นานที่สุด แต่ความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ ขณะนี้ก็ยังทุกข์ใจ สภาพครอบครัวก็แตกแยก สามีก็ไปคนละทาง ดิฉันต้องจัดงานศพแต่เพียงผู้เดียว โดยที่ไม่ทราบว่าสามีไปอยู่ไหน เพราะไม่สามารถติดต่อได้”นางสุรีย์ กล่าว
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามระเบียบคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขของ สปสช.หากสถานพยาบาลใดมีความผิดร้ายแรงจะถูกคัดออกจากหน่วยบริการในสังกัด โดยจะไม่ต่อสัญญารายปีในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หากเป็นความผิดประมาทที่ไม่ร้ายแรงจะสั่งให้ปรับปรุงการบริการ ทั้งนี้ อยากให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงหน่วยบริการช่วยกันดูแลมาตรฐานการบริการและหากพบข้อบกพร่องสามารถแจ้งได้ที่ 1330
“หลังจากมีการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากเหตุใด หากผู้ป่วยจะร้องขอความเป็นธรรม ก็ถือว่ายังมีสิทธิ์ แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นจำนวน 2 แสนบาทไปแล้วก็ตาม เพราะยังมีข้อน่าสงสัย ที่เด็กชีวิตกะทันหัน หรืออาจเป็นไปได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงอาจไม่ใช่ความผิดของใคร” นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า ในประเด็นเรื่องการวินิจฉัยว่าเป็นเหตุฉุกเฉินหรือไม่นั้น อยู่ที่แพทย์จะใช้ใช้หลักวิชาการตัดสิน แต่ก็มีส่วนน้อยที่ความเห็นของผู้ป่วยเห็นว่าฉุกเฉิน แต่แพทย์บอกว่าไม่ฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแพทย์ก็เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ คงให้ญาติตัดสินไม่ได้ มิฉะนั้นคนไข้จะไปกระจุกตัวรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการประมาณ 5 ล้านคน ส่งต่อประมาณ 40% ซึ่งมีระบบในการรองรับเรื่องการส่งต่ออยู่แล้ว สำหรับกรณีผู้ใช้สิทธิบัตรทองหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือมีอาการหนักสามารถรักษาได้ที่โรพยาบาลใกล้บ้านได้ทันที โดยไม่ต้องขอใบส่งต่อ