xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริราช” เสนอทำวิจัยแก้ปัญหาสมองไหล ศธ.รับลูกขอเป็นเจ้าภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณบดีศิริราชเสนอทำวิจัย ทั้งระบบแก้ปัญหาสมองไหล ชี้ กม.วิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภคส่อฟ้องร้องเพิ่ม เผย ไทยไม่พร้อมรับมือ ด้านปลัด สธ.รับลูกเป็นเจ้าภาพวิจัยเอง ตั้งรองปลัด หรือ ผอ.สำนักวิชาการเป็นประธานวิจัยดึงทุกภาคส่วนร่วมวิจัย

วันที่ 19 สิงหาคม ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการประชุมคณะแพทยศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ได้เสนอให้มีการทำวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลเจาะลึกในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ โดยวิจัยอย่างเป็นระบบตั้งแต่การผลิตแพทย์ การให้บริการ เชื่อมโยงไปจนถึงผู้ใช้บริการ ผลดีและผลเสียต่างๆ แต่ในการประชุมยังไม่มีการสรุปใดๆ ว่า ใครจะมาเป็นเจ้าภาพในการทำวิจัยนี้ ซึ่งจำเป็นต้องเป็นภาครัฐในการจัดการเรื่องนี้ถ้าต้องการเห็นสุขภาพของคนไทยดีขึ้น ทั้งนี้ จึงควรมีการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ โดยออกฎหมายไม่ฟ้องอาญาแพทย์ที่เกิดจากความผิดพลาดทางการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากแพทย์ไม่มีเจตนา และความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องศึกษาต่อไป

“นอกจากนี้ ในการประชุม ผมยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ.2551 ว่า เป็นกฎหมายที่ดีมีประโยชน์กับประชาชนมาก แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พร้อม ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาการฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณแพทย์มีจำนวนน้อย แต่คนไข้มีมาก เพราะถ้าตรวจอย่างละเอียดต้องใช้เวลา 10-20 นาทีต่อราย แต่ปัจจุบันใช้เวลาได้เพียง 2-3 นาทีต่อรายเท่านั้น และยิ่งมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคยิ่งทำให้แพทย์ไม่กล้ารักษาคนไข้ เพราะเกรงว่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้น แต่ในที่ประชุมไม่ได้หยิบยกเรื่องค่าปรับของนักศึกษาแพทย์ที่ใช้ทุนไม่ครบ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรเพิ่มค่าปรับดังกล่าวแล้ว แต่หาวิธีอื่นในการจัดการกับปัญหาสมองไหลแทน ซึ่งการวิจัยทั้งระบบเป็นทางออกที่ดี” ศ.คลินิกนพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงเท่านี้ แพทย์ไทยส่วนใหญ่ที่รักษาอยู่ในตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นแพทย์ทั่วไปที่ยังไม่ได้ศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ความผิดพลาดในการรักษาโรคเฉพาะด้านอาจเกิดขึ้นได้ แต่ในต่างประเทศแพทย์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแพทย์ที่จบเฉพาะทางมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ความผิดพลาดก็มีโอกาสเกิดน้อยกว่าไทย ซึ่งให้เกิดความไม่พร้อมและความหวั่นไหวในการประกอบอาชีพหมอสำหรับนักเรียนในอนาคต

“ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องแพทย์มีมากมายหลายอย่าง อาทิ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีฯ ปริมาณแพทย์ต่อคนไข้ ฯลฯ ทำให้ส่งผลต่อจิตใจของผู้ปกครอง และตัวนักศึกษาแพทย์ที่จะเข้าศึกษาต่อเพื่อเป็นคุณหมอในอนาคต ซึ่งไม่ว่าผมจะไปแนะแนวการศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์กับโรงเรียนต่างๆ ผู้ปกครองก็ล้วนหวาดเสียวกับเรื่องที่ลูกหลานอาจโดนฟ้องร้อง แต่โชคดีที่ในนักเรียนระดับหัวกะทิก็ยังตั้งใจที่จะเป็นหมอ และในโรงเรียนบางสถาบันก็ยังมีนักศึกษาแพทย์มาศึกษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ลดลง” ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เรื่องหากไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ทั้งระบบ สธ.ก็ยินดีที่จะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะข้อมูลบางส่วนเป็นเรื่องที่สธ.มีการเก็บข้อมูลอยู่แล้ว โดยอาจมอบหมายให้พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดสธ.หรือ พญ.ศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการสาธารณสุข เป็นประธานในการวิจัยดังกล่าว โดยต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการเป็นกรรมการในการวิจัย ทั้งตัวแทนโรงเรียนแพทย์ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน นักสังคมศาสตร์ ตัวแทนท้องถิ่น รวมถึงสื่อมวลชนด้วย

“เชื่อว่า งานวิจัยดังกล่าวคงไม่ใช้เวลานานนักเนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่มีอยู่แล้ว หากได้ข้อมูลก็จะนำมาแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยที่เน้นความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ ความปลอดภัย ค่าตอบแทนที่จูงใจและเกียรติยศของความเป็นแพทย์ เพื่อให้แพทย์อยู่ในระบบมากที่สุด”นพ.ปราชญ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น