“ชวรัตน” ลั่นไม่รับเงื่อนไขบริษัทยา ล้มซีแอล สั่งขรก. จนท. สธ.ห้ามรับข้อเสนอใดๆ เด็ดขาด ชี้ต้องเสนอผ่านคณะกรรมการร่วมฯ เท่านั้น ด้านอภ.เผย เซ็นสัญญาจัดซื้อยามะเร็งปอดตัวที่ 2 แล้ว จำนวน 4 แสนเม็ด ราคาเม็ดละ 3.50 บาท รวมมูลค่า 1.4 ล้านบาท ประหยัดงบ 86.6 ล้านบาท
จากกรณีที่บริษัทยายักษ์ใหญ่รายหนึ่งได้เสนอเงื่อนไขให้มีการล้มการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ซึ่งทางบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดเอง แต่มีข้อแม้ว่าให้สธ.จัดซื้อยาทั้ง 2 ชนิดจากบริษัทนั้น
วันที่ 14 ส.ค.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ นพ.ไพจิตร วราชิต รองปลัด สธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วนแล้ว พร้อมทั้งให้กำชับเจ้าหน้าที่ของ สธ.ไม่อนุญาตให้บริษัทยามาเข้าพบเพื่อมาล็อบบี้เสนอเงื่อนไขอะไรกับ สธ.ทั้งสิ้น และขอยืนยันว่า ขณะนี้นโยบายเรื่องซีแอลของ สธ.ขอให้ดำเนินการเป็นไปตามเดิมที่ สธ.ได้ประกาศไว้ทุกประการ โดยให้ อภ.ดำเนินการจัดหายาที่ประกาศซีแอลทั้ง 7 รายการ ให้เป็นไปตามภารกิจ เดิม
“ขณะนี้ยังไม่ทราบกระแสข่าวดังกล่าว เพิ่งจะรู้จากสื่อมวลชน รอให้เป็นข่าวจริงก่อนแล้วค่อยมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่หากบริษัทยาต้องการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำซีแอลก็สามารถเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนได้ แต่จะไม่อนุญาตให้บริษัทยามาเสนอเงื่อนไขแบบล็อบบี้ เพราะบริษัทยาไม่มีอำนาจจะทำอะไรอย่างนี้ได้ เพราะตามกระบวนการหากมีการเสนอเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ผมจะต้องเป็นผู้อนุมัติเป็นคนสุดท้าย” นายชวรัตน์กล่าว
เมื่อถามว่า หากบริษัทเสนอเงื่อนไขจะลดราคายาต้นตำรับทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว จะรับหรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ต้องดูว่าราคาที่เสนอจะขายให้ สธ.เป็นอย่างไรสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งสธ.มีมาตรฐานเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานเดิมสมัยนพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือ จะซื้อยาทีทำซีแอลจากบริษัทต้นตำรับต่อเมื่อมีราคาสูงกว่ายาสามัญไม่เกิน 5% แต่หากราคาที่เสนอแพงกว่ามานี้ก็คงไม่รับเงื่อนไข
ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหายาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อภ.ได้ลงนามในการจัดซื้อยารักษาโรคมะเร็งเต้านม (เล็ทโทรโซล) จากบริษัท NATCO ประเทศอินเดีย จำนวน 4 แสนเม็ด ในราคาเม็ดละ 3.50 บาท รวมมูลค่า 1.4 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อครั้งนี้ช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ 86.6 ล้านบาท เพราหากซื้อยาต้นตำรับจะมีมีราคาเม็ดละ 220 บาท มีมูลค่าสูงถึง 88 ล้านบาท
ส่วนยารักษาโรคมะเร็งปอดและเต้านม (โดซีแท็กเซล) ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งตรวจคุณภาพยาที่ประเทศเบลเยียม คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนกันยายนนี้ และยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (โคลพิโดเกรล) ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพยาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนสิงหาคมนี้