xs
xsm
sm
md
lg

พบ 2 ยีนกลายพันธุ์ ไม่สูบบุหรี่ก็มีสิทธิ์เสี่ยงมะเร็งปอด 60%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดสูง แต่นักวิจัยค้นพบแล้วว่าแม้ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้เหมือนกันหากมียีนกลายพันธุ์บางยีนอยู่ในร่างกาย (รอยเตอร์)
ไม่สูบบุหรี่ก็มีสิทธิ์เสี่ยงมะเร็งปอด หลังนักวิจัยไขปริศนาพบเหตุบางคนสูบบุหรี่มานาน แต่ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นโรคร้าย ขณะที่บางคนไม่สูบกลับเป็นได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่แท้เป็นเพราะมี 2 ยีนกลายพันธุ์ ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งที่ไม่มีวันตาย เพราะมีกลไกชะลอแก่ ที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายอย่างควบคุมไม่ได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกว่า 18 ประเทศ ร่วมกันศึกษาวิจัยค้นหาความแตกต่างทางพันธุกรรม ที่มีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด ในที่สุดก็พบ 3 ยีนกลายพันธุ์ ที่แม้ไม่สูบบุหรี่ แต่ถ้ามียีนนี้อยู่ในร่างกาย ก็เท่ากับว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดถึง 60% โดยรอยเตอร์รายงานว่าทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารเนเจอร์ เจเนติกส์ (Nature Genetics)

"พวกเรามองหาความแตกต่าง ในดีเอ็นเอที่จะทำให้คุณมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากหรือน้อยแค่ไหน คือถ้าใครมียีนเหล่านั้นอยู่ มันจะเป็นตัวบอกว่าคนนั้นจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ อย่างไร" คำชี้แจงของ พอล เบรนแนน (Paul Brennan) นักระบาดวิทยาด้านมะเร็งของสำนักงานวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer) องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมในประชากรกลุ่มตัวอย่างกว่า 15,000 คน โดยมีผู้ที่เป็นมะเร็งปอดจำนวน 6,000 คน และอีก 9,000 คนที่เหลือไม่เป็นโรคดังกล่าว

ผลการศึกษาพบว่า บริเวณโครโมโซมคู่ที่ 5 ซึ่งมียีน 2 ยีน คือ ทีอีอาร์ที (TERT) และ ซีอาร์อาร์ 9 (CRR9) โดยนักวิจัยเชื่อว่าหากเกิดการกลายพันธุ์กับ 2 ยีนดังกล่าว จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดถึง 60% ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังรวบรวมข้อมูลว่า แต่ละคนมียีน 2 ยีนนี้ในลักษณะใดบ้าง เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับยีนซีอาร์อาร์ 9 มากนัก และการระบุตำแหน่งยีนทีอีอาร์ทีได้แน่ชัดก็เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะว่ายีนทีอีอาร์ทีมีส่วนในการกระตุ้นเอนไซม์เทโลเมอเรส (telomerase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการแก่และการเกิดมะเร็ง

มะเร็งเกิดจากความบกพร่องหรือความผิดปกติของดีเอ็นเอ ซึ่งบริเวณส่วนปลายของทุกๆ โครโมโซมจะมีส่วนที่เรียกว่าเทโลเมียร์ (telomere) และทุกๆ ครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ เทโลเมียร์ก็จะค่อยๆ ขาดหายไปทีละน้อยๆ จนแทบไม่มีเหลือ เมื่อนั้นเซลล์ก็จะตาย

ทว่าเมื่อเซลล์เปลี่ยนสภาพไปกลายเป็นเซลล์มะเร็ง มันจะสร้างเอนไซม์เทโลเมอเรสที่ไปช่วยซ่อมแซมบริเวณเทโลเมียร์ ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถแบ่งเซลล์และได้ต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีการควบคุม และกลายเป็นเนื้อร้ายในที่สุด

ฉะนั้นเมื่อพบว่ายีนทีอีอาร์ทีเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันกับมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็จะช่วยให้เราเข้าใจการพัฒนาการของมะเร็งได้มากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การออกแบบยาใหม่เพื่อใช้หยุดยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้

ทั้งนี้ จากสถิติทั่วโลก นับว่ามะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้ชาย และเป็นอันดับสองในผู้หญิง โดยข้อมูลจากสมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) ระบุว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด ซึ่งเป็นชายประมาณ 975,000 คน และเป็นหญิงประมาณ 376,000 คน และการสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอด

ทว่าก็มีบางรายที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน แต่ไม่เคยเป็นมะเร็งปอด ขณะที่บางคนไม่เคยสูบบุหรี่เลย แต่กลับเป็นมะเร็งปอด จึงเป็นที่มาของการวิจัยดังที่กล่าวมาแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น