xs
xsm
sm
md
lg

สธ.นำร่อง 6 สถาบันศึกษาเป็นต้นแบบวิทยาลัยปลอดบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปี 2550-2551 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาด้านสุขภาพ ในการแก้ไขปัญหาบุหรี่และสุขภาพ เนื่องจากเป็นสถาบันที่พัฒนาและผลิตบุคลากรด้านการพยาบาล และสาธารณสุขเป็นการเฉพาะ โดยขณะนี้บุหรี่เป็นสาเหตุให้คนไทยตายจากโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบ รวมปีละประมาณ 42,000 คน เฉลี่ยวันละ 115 คน โดยในปีแรกได้ร่วมมือกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินการนำร่อง 6 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี 5 จังหวัด คือ ชลบุรี ชัยนาท ลำปาง มหาสารคาม ตรัง และวิทยาการสาธารณสุขสิรินธร 1 แห่ง ที่ จ.พิษณุโลกดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม 2550-พฤษภาคม 2551 ทุกแห่งจะติดป้าย และจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ และได้บรรจุเรื่องการแนะนำการเลิกสูบบุหรี่เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ด้าน นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ 6 แห่ง มีอาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษารวม 2,722 คน ในจำนวนนี้สูบบุหรี่ 56 คน เป็นอาจารย์ 24 คน นักศึกษา 32 คน โดยวิทยาลัยทุกแห่งได้จัดอบรมอาจารย์ในการส่งเสริมให้กับบุคลากรเลิกสูบบุหรี่ และจัดบริการให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่
ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานผลสำรวจล่าสุด ในพ.ศ. 2550 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบหรี่ 10.8 ล้านคน หรือร้อยละ 21 โดยสูบเป็นประจำทุกวัน 9.4 ล้านคน สูบนานๆ ครั้ง 1.3 ล้านคน ผู้ชายสูบมากกว่าหญิง 22 เท่าตัว ซึ่งคนไทยเริ่มสูบบุหรี่ที่อายุเฉลี่ย 18 ปี โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เริ่มสูบอายุประมาณ 17 ปี ในกลุ่มของผู้ที่ต้องสูบเป็นประจำ เริ่มสูบที่อายุเฉลี่ย 18.5 ปี สูบประมาณวันละ 10 มวน เหตุผลสำคัญที่เริ่มสูบ ผู้ชายกว่าครึ่งบอกว่าอยากลอง รองลงมาคือ สูบตามเพื่อนและเพื่อเข้าสังคม แต่กลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่ สาเหตุต้นๆ ที่เริ่มสูบเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่มีข้อสังเกตว่าผู้หญิงร้อยละ 13 สูบเพราะอาชีพ และอีกร้อยละ 11 สูบเพราะความเครียด
กำลังโหลดความคิดเห็น