xs
xsm
sm
md
lg

ดื่มเหล้าพร้อมสูบ-บุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกล่องเสียง‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมผู้ไร้กล่องเสียงในประเทศไทย เผยยอดสมาชิกขึ้นทะเบียน 2,400 คน พบแต่ละปีมีผู้ป่วยรับการผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 100 ราย เสียชีวิต 10-20 รายต่อปี ชี้รับควันบุหรี่มือสอง-กินเหล้าพร้อมสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกล่องเสียงมากขึ้น

วันนี้ (11 พ.ย.) ที่โรงแรมอลิซาเบธ ถนนประดิพัทธ์ สมาคมผู้ไร้กล่องเสียงในประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ไร้กล่องเสียงที่พูดได้ จำนวน 26 คน เพื่อช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ โดยเป็นการให้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่และวิธีการเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้ผู้ไร้กล่องเสียงถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นมะเร็งกล่องเสียง เพื่อเป็นอุทาหรณ์นำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่

นายการุญ ตระกูลเผด็จไกร นายกสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงในประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ไร้กล่องเสียงที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 2,400 คน โดยในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยที่ผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ทั้งสิ้น ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 10-20 คนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงในแต่ละปี อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง อีกทั้งในแต่ละปีมีผู้ไร้กล่องเสียงที่สามารถฝึกการออกเสียงจนสามารถพูด สื่อสารได้เพียงปีละ 20 คนเท่านั้น

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สถิติในปี พ.ศ. 2543 ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงรายใหม่ 161,400 ราย เป็นชาย 142,200 ราย และเป็นหญิง 19,200 ราย และเสียชีวิต 89,100 รายต่อปีทั่วโลก โดยเป็นชาย 78,600 ราย ในจำนวนนี้ 55,100 รายเป็นชายจากประเทศกำลังพัฒนา ประมาณ 67% ของมะเร็งกล่องเสียงในเพศชาย และ 28% ของมะเร็งกล่องเสียงในเพศหญิงเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ โดยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่และระยะเวลาที่สูบและการสูดควัน อีกทั้งยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การหายใจเอาสารเคมี การติดเชื้อไวรัสหลายชนิด การดื่มสุราด้วยในผู้ที่สูบบุหรี่ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น การได้รับควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งกล่องเสียง 2.2 ถึง 4.3 เท่า ตามระยะเวลาและปริมาณควันบุหรี่มือสองที่ได้รับ ที่ผ่านมาในปี พ.ศ.2543 ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งปอด 1.2 ล้านราย เทียบอัตราส่วนผู้ที่เป็นมะเร็งปอดต่อมะเร็งกล่องเสียงเท่ากับ 8 : 1 ซึ่งประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปอด 13,000 ราย จึงประมาณว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง 1,500 รายต่อปี

“เป็นเรื่องที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ไร้กล่องเสียงมีความตั้งใจอันแรงกล้าในการที่จะช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ เพราะผู้ไร้กล่องเสียงแต่ละคนกว่าจะฝึกพูดได้ต้องใช้ความพยายามมาก และในการพูดแต่ละครั้งต้องใช้พลังมาก ผู้ไร้กล่องเสียงจึงน่าที่จะเพิ่มความสำเร็จในการที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบได้สำเร็จ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น