บอร์ด กพฐ. เสนอโละ! การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ทิ้งทวนอำลาตำแหน่ง ด้าน “สมชาย” เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ระบุถึงไม่บังคับพ่อแม่ก็ส่งเข้าเรียนอยู่แล้ว ด้าน “คุณหญิงกษมา” ชี้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเขียนชัดรัฐต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี สาเหตุยกเลิกการศึกษาภาคบังคับ น่าจะมาจากโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ได้
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เนื่องในโอกาสครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ของคณะกรรมการ กพฐ.ที่มีนายชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธานว่า การปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กพฐ.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษาในหลายด้าน อีกทั้งคณะกรรมการแต่ละคนเป็นผู้ที่มีความโดดเด่นในด้านวิชาการอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าคณะกรรมการเหล่านี้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในแวดวงการศึกษา และสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ เสนอแนะมายังตนได้ ซึ่งจากที่ได้รับฟังข้อมูลจากคณะกรรมการที่ได้สรุปผลการปฏิบัติการ ปัญหาและอุปสรรค อาทิ ปัญหาการขาดแคลนครู การปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพครู ซึ่งหลายปัญหาในช่วงที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่ง ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของครูในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา นอกจากนั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจ คือให้ยกเลิกการศึกษาภาคบังคับ โดยให้เหตุผลว่า แม้จะไม่มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่อง ที่ผู้ปกครองส่งให้บุตรหลานได้เข้าเรียนอยู่แล้ว ซึ่งตนก็เห็นด้วยในประเด็นนี้
“ส่วนที่มีการพูดถึงว่ามีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ทำให้การศึกษาพัฒนาไปไม่ได้เต็มที่นั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด ยืนยันว่าไม่มีการแทรกแซง และผมยึดเสมอว่าอำนาจไม่ได้อยู่ยั่งยืน ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง และในช่วงที่ผมมารับหน้าที่เคยบอกไว้หลายๆ ครั้งว่า สิ่งที่หลายคนกังวลว่าผมไม่ใช่คนในวงการศึกษา มาอยู่ทำให้เสียเวลา แทนที่จะให้คนเก่งมาอยู่หรือไม่ รวมทั้งที่มีข้อสงสัยว่าเข้ามาเพื่อตั้งโครงการจัดงบหาเงินเข้าพรรคการเมืองหรือไม่ ยืนยันว่าสิ่งที่กังวลเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นแน่นอน แต่สิ่งที่ผมจะทำคือ ทุ่มเทเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงการศึกษา แม้ผมจะมีความรู้จำกัด แต่ก็ไม่ต้องห่วงเพราะมีที่ปรึกษาเก่งมากมาย อีกทั้งที่วิจารณ์ว่า ขณะนี้รัฐบาลทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะมัวแต่มาแก้ปัญหาทางการเมืองนั้น ในส่วนของการศึกษาไม่ต้องห่วง เพราะผมไม่กังวลกับปัญหาทางการเมืองอยู่แล้ว” นายสมชาย กล่าว
ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ข้อเสนอให้ยกเลิกการศึกษาภาคบังคับนั้น น่าจะมาจากสาเหตุที่มีปัญหาโรงเรียนไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว แม้จะไม่กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ แต่ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็ระบุไว้อยู่แล้วว่า รัฐจะต้องจัดการศึกษา 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามตนคิดว่าเรื่องนี้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ รัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณและมีการลงทุนทางการศึกษามากขึ้น ซึ่งตลอดการดำเนินงานของคณะกรรมการ กพฐ.ตลอด 4 ปีที่ผ่านได้ทำผลงานที่สำคัญหลายเรื่อง อาทิ การจัดทำหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน การพัฒนาครู การศึกษาพิเศษ การผลักดันการอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลง การแก้ปัญหาการกระจายอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่น เป็นต้น สำหรับปัญหาที่มีการนำเสนอและพร้อมที่จะนำไปปรับปรุงนั้น ได้แก่ การพัฒนาครู การใช้สื่อโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ซึ่งเรื่อง พ.ร.บ.สำนักเทคโนโลยีการศึกษา ยังเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อไป