xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากเท่ากับเรื่องคุณลักษณะของผู้นำที่เรามีอยู่ ในยุคก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่า “โลกาภิวัตน์” ผู้นำที่ดีคือ “ผู้จัดการ” แต่ปัจจุบัน “ผู้จัดการ” ต่างจาก “ผู้นำ” ผู้จัดการนั้น แค่บริหารงานให้มีประสิทธิภาพก็พอแล้ว บทบาทของผู้จัดการคือการดูแลให้กระบวนการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยดี ควบคุมดูแลให้เกิดความรับผิดชอบ เน้นการเชื่อฟัง และการจงรักภักดี การประสานงาน มักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แต่เน้นเสถียรภาพความมีระเบียบเรียบร้อย

แต่ “ผู้นำ” นั้นคือผู้ที่มีความสามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดแรงจูงใจและขวัญกำลังใจ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน และเป็นแบบอย่างได้ ลูกน้องรัก ศรัทธา นิยมชมชอบ

ในโลกปัจจุบัน การเน้นคุณลักษณะและอุปนิสัยของผู้นำมีมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงทัศนคติ (ที่เหมาะสม) ของผู้นำด้วย เนื่องจากภาวะผู้นำขึ้นอยู่กับคุณค่า ความเชื่อ และสภาพแวดล้อมขององค์กรหรือของประเทศ ดังนั้นผู้คนก็จะประเมินผู้นำโดยเชื่อมโยงกับคุณค่าที่คนเชื่อถือ ยอมรับว่าเป็นอัตลักษณ์ของสังคม เช่น สังคมไทยมีความรักภักดี และเห็นคุณค่าของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทัศนคติที่ผู้นำมีต่อสถาบันนี้ จึงมีความสำคัญต่อการประเมินความเหมาะสมในการแสดงบทบาทของผู้นำ

อาจกล่าวได้ว่าคนในสังคมยุคนี้ มีความคาดหวังในตัวผู้นำมากขึ้น จึงไม่แปลกใจที่คนจะแสดงความไม่พอใจกับผู้นำที่วางตัวไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอากัปกิริยาหรือวาจา การประเมินผู้นำจึงไม่ได้เน้นเฉพาะผลงานของผู้นำเท่านั้น แต่เป็นการตรวจสอบอุปนิสัยของผู้นำอีกด้วย ยิ่งผู้นำไม่ค่อยมีผลงานที่เป็นรูปธรรม คนก็จะจ้องไปที่อุปนิสัยมากขึ้น รวมไปถึงทัศนคติด้วย

สิ่งที่ทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งๆ ที่พ.ต.ท.ทักษิณมีวิสัยทัศน์และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ก็คือ คุณลักษณะที่เป็นคุณธรรมของผู้ปกครอง โดยเฉพาะความซื่อตรงคงมั่น และการเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

สำหรับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น เป็นผู้มีคุณธรรมสูง แต่ได้รับการประเมินในฐานะผู้จัดการที่ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารงาน ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช นั้น นอกจากจะไม่มีผลงานเป็นที่ประทับใจ (ตามการสำรวจของโพลหลายแห่ง) แล้ว ก็ยังมีทัศนคติและพฤติกรรมที่สาธารณชน และสื่อมวลชนตำหนิอีกหลายอย่าง

ดังนั้น ความสามารถในฐานะผู้บริหารกับอุปนิสัย ทัศนคติของผู้นำต้องไปด้วยกัน สรุปง่ายๆ ก็คือ ต้องทั้งเก่งและดี จะดีแต่ไม่เก่ง หรือเก่งแต่ไม่ดีก็ไม่ได้ แต่ถ้าไม่เก่งหากเป็นคนดี ก็จะเป็นอันตรายน้อยกว่าคนเก่งแต่ไม่ดี

ความเก่งของคนเราแปรเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ ในสมัยนี้ความเก่งรวมไปถึงการเข้าใจตลาดโลก แนวโน้มเศรษฐกิจโลก การเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน การเข้าใจเทคโนโลยี และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ยิ่งโลกมีความสลับซับซ้อน และมีความแตกต่างหลากหลายมากเท่าใด ผู้นำก็ต้องมีความยืดหยุ่นสามารถทำงานกับคนหลายๆ ประเภทได้ และเรียนรู้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ใช่เก่งแต่การทำอาหาร และเก่งแต่พูดเพราะโวหารไม่สามารถจะรับกับการเปลี่ยนแปลงได้

โลกเมื่อ 50 ปีมาแล้วไม่ซับซ้อน และมีความแน่นอนเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เวลานี้หากก้าวผิดนิดเดียวก็ล่มจมได้ เป็นโลกมีความเสี่ยงสูง ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ถ้าอยากให้องค์กรหรือสังคมมีความมั่นคงยั่งยืน ก็ต้องสร้างรากฐานของสังคมก่อน คือการสร้างศรัทธา ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความจงรักภักดี ความสามัคคี การเชื่อมโยงประสานสัมพันธ์กัน และการสื่อสารระหว่างกันที่เป็นระบบ สังคมที่มีความยั่งยืน คือ สังคมแห่งความร่วมมือกันมากกว่าสังคมแห่งการแข่งขัน

สังคมไทยเรามีผู้นำสองระดับ คือ ระดับบนสุด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ และระดับคณะรัฐบาล การมีผู้นำสองระดับโดยระดับบนสุด เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณได้รับศรัทธา ความจงรักภักดี และความเชื่อมั่นจากประชาชนในชาติ ทำให้สังคมไทยสามารถผ่านวิกฤตการณ์มาได้หลายครั้งหลายหน ในปัจจุบันมีขบวนการที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ มีทุนสนับสนุนในการมุ่งทำลายศรัทธาของคนรุ่นหนุ่มสาวที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ก็ยังดีที่เมื่อไม่นานมานี้ มีการสำรวจทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับความสุข ปรากฏว่าร้อยละ 90 กว่าระบุว่า ความสุขคือ ความรักและภักดีในองค์พระมหากษัตริย์

ภาวะวิกฤตในผู้นำปัจจุบัน ทำให้เกิดการหมดศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่คัดเลือกผู้นำจากการเลือกตั้ง ซึ่งนับวันเราได้ผู้นำอย่างเป็นทางการโดยตำแหน่ง แต่ไม่สามารถ “ปกครอง” ใครได้ บางแห่งก็มีการแสดงความนับถือแต่เพียงภายนอก ส่วนในใจ และในระหว่างลูกน้องด้วยกันก็มีแต่ความดูแคลน

การมีผู้นำที่เก่งแต่ไม่ดีทำให้ประชาชนมีความคาดหวังต่อตัวผู้นำในแง่คุณสมบัติทางศีลธรรม คุณธรรมมากขึ้นก็จริง แต่ก็ก่อให้เกิดการถกเถียงในแง่การทดแทนระหว่าง “ความเก่ง” กับ “ความดี” ด้วย เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “โกงบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานก็แล้วกัน”

ในที่สุดแล้ว รายละเอียดที่ได้จากคดีการกระทำผิดต่อรัฐ จะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าระหว่าง “ความเก่ง” กับ “ความดี” นั้น ทดแทนกันไม่ได้ จะต้องมีอยู่ควบคู่กันเสมอ

ผู้นำในโลกปัจจุบันต้องเป็น “ผู้แปรเปลี่ยน” (Transformer) ทั้งเปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนคน สังคมใดที่มีผู้นำที่ไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ สังคมนั้นมีปัญหา และคนในสังคมย่อมมีภารกิจร่วมกันในการเปลี่ยนตัวผู้นำนั้นเสียโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น