xs
xsm
sm
md
lg

“เฟื่องฟ้า ประดิษฐพจน์” ยกระดับสตรีวิทยาสู่ ร.ร.นักวิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฟื่องฟ้า ประดิษฐพจน์ ผอ.หญิงแกร่งแห่งสตรีวิทยา
“เราไม่ต้องการให้ใครมาพูดว่า นั่งกินบุญเก่า”

เฟื่องฟ้า ประดิษฐพจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น พร้อมอธิบายว่า สตรีวิทยา มีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน 108 ปี เป็นโรงเรียนดีมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของชุมชน ดังนั้น เมื่อได้รับมอบหมายให้มานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการจึงกลายเป็นโจทย์ที่หนักอึ้งเพื่อคงชื่อเสียงให้ดำรงอยู่ต่อไป ขณะเดียวกันก็จะต้องยกระดับและพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย

ในที่สุดก็ตกผลึกความคิดด้วยการนำโรงเรียนแห่งนี้ ก้าวไปสู่ความเป็น “โรงเรียนนักวิจัย”

“ดิฉันเป็นเลือดแดงขาว เพราะเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นี่ยาวนานถึง 25 ปี จากนั้นก็โยกย้ายไปบริหารโรงเรียนหลายแห่ง ล่าสุดกลับมาบริหารสตรีวิทยา ก็คิดว่าต้องทดแทนบุญคุณที่สร้างเรามายืนถึงจุดนี้ จึงวางแผนพัฒนานักเรียนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ด้านคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ดังนั้น จึงให้นักเรียนทำโครงงานวิจัยแบบบูรณาการขึ้น”

ผอ.เฟื่องฟ้า เล่าว่า ในช่วงแรกที่ขายความคิดนี้ออกมาสู่โรงเรียนก็มีปัญหาอยู่บ้างเพราะเกิดความเข้าใจผิดขึ้น โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยคิดว่า การให้เด็กทำงานวิจัยนั้นตัวผู้อำนวยการเองต้องการทำผลงานเพื่อขอเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอะไรทำนองนั้น เรียกว่าถึงขนาดมีการเขียนวิพากษ์วิจารณ์ลงเว็บไซต์ของโรงเรียนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคก็ผ่านพ้นไปด้วยดีเพื่อพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ยิ่งเมื่อได้ทดลองทำจริงด้วยตนเอง

“จำได้ว่า ตอนนั้นดิฉันพูดกับอาจารย์และนักเรียนหน้าเสาธงเพื่ออธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย โดยบอกว่า ที่ครูให้ทำไม่ได้เพื่อตนเอง ผลงานของครูมีแล้ว แต่ลองคิดให้ดีกว่าการวิจัยนั้นดีอย่างไร การวิจัยมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างมาก และอนาคตเมื่อเรียนระดับมหาวิทยาลัยทุกคนก็ทำต้องเช่นกัน หากเริ่มเรียนรู้และทำเสียแต่วันนี้ไม่ดีกว่าเหรอ ซึ่งในที่สุดทุกคนก็เข้าใจ” ผู้อำนวยการ ร.ร.สตรีวิทยาแจกแจง

เมื่อทุกคนเข้าใจ ทางโรงเรียนก็เริ่มให้เด็กจับกลุ่มกัน 3-5 คน ทุกระดับชั้นตั้งแต่ ม.1-ม.6 แล้วให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดเรื่องเองว่า อยากทำวิจัยเรื่องอะไร พอคิดได้แล้วก็ลงมือค้นหาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากห้องสมุด เว็บไซต์ หรือสอบถามซักถาม ฯลฯ เมื่อรวบรวมข้อมูลเสร็จเรียบร้อยก็จะต้องเขียนรายงานการววิจัย 1 ชิ้น พร้อมทั้งจัดทำเพาเวอร์พอยต์และจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้กับเพื่อนๆ นักเรียนต่อไป

“การทำวิจัยแบบบูรณาการ หมายถึงการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเชื่อมโยงกับ 8 กลุ่มสาระ ข้อดีที่เห็นชัดเจน คือ เด็กรู้จักทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม รู้จักคิด วิเคราะห์ มีทักษะในการเขียนให้อ่านแล้วเข้าใจ เพิ่มพูนความรู้ภาษาอังกฤษ เพราะข้อมูลบางอย่างเด็กค้นมาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เด็กต้องแปล ฉะนั้นเขาจะได้รู้คำศัพท์ใหม่ด้วยตนเอง นอกจากนี้งานวิจัยของทุกกลุ่ม จะต้องทำเพาเวอร์พอยต์ แน่นอนเด็กได้เรียนรู้วิธีการทำเพาเวอร์พอยต์ และการจัดนิทรรศการ ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดคนมาชมนิทรรศการของตนเอง”

“สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ประเมินว่างานวิจัยแบบบูรณาการของเด็กๆ ของเรานั้น เป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ จึงได้รับการคัดเลือกเป็น Best Practice ของโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

ผอ.เฟื่องฟ้า ให้ข้อมูลด้วยว่า นอกจากการเผยแพร่ในโรงเรียนแล้ว ทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนทำบทคัดย่อ เป็นภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และจีน ตามรายวิชาที่นักเรียนเลือกเรียนเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักเรียนสู่สาธารณชนอีกด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว วันนี้ งานวิจัยแบบบูรณาการของนักเรียนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสตรีวิทยาไปแล้ว และอาจารย์ของโรงเรียนก็จะได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เพื่อนครูทั่วประเทศเพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานศึกษาของตัวเอง

“ปีนี้มีการประเมินโรงเรียนพระราชทาน ดิฉันถามอาจารย์ นักเรียนว่า สู้มั้ย ทุกคนบอกสู้ ฉะนั้นต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ เพราะก่อนหน้านี้สตรีวิทยาเคยส่งเข้าประกวดโรงเรียนพระราชทาน และได้รับรางวัล 13 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2533 มาถึงปีนี้เราอยากรู้ว่ายังรักษามาตรฐานนี้ได้หรือไม่ และล่าสุดรู้มาเป็นการภายในว่า สตรีวิทยา ชนะเลิศในระดับจังหวัด (กรุงเทพฯ) เหลือลุ้นผลระดับประเทศ อย่างไรก็ดี ตนได้แจ้งให้ทุกคนรู้ว่าชนะระดับกรุงเทพฯ อาจารย์ นักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง ต่างภาคภูมิใจ ซึ่งเวลานี้โรงเรียนจะจัดงานอะไรผู้ปกครองมักเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเสมอ” ผอ.เฟื่องฟ้า เล่าทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น