xs
xsm
sm
md
lg

เอกสารเขมรยันชัด “หมัก” ยกพระวิหารให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุรเกียรติ์” แฉ! เอกสารเขมรยันชัด “สมัคร” ยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว เป็นเหตุกัมพูชาเปลี่ยนท่าทีรุกหนักทางการทูต กล้าพูดไม่มีพื้นที่ทับซ้อนบนเขาพระวิหาร ทั้งที่ก่อนหน้าเจรจาพัฒนาร่วมกันมาตลอด เร่งรัฐบาลไทยรวบรวมคนเก่ง ตั้งทีมนักวิชาการชี้แจงเวทีมรดกโลก พร้อมตั้งทีมการเมืองแจงสหประชาชาติ เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหากัมพูชา “ไทยเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ” ชี้ หากรัฐบาลยัง “เป่าสาก” มีสิทธิเพลี่ยงพล้ำ เพราะมิตรประเทศในเวทีโลกหายหมด และเสี่ยงถูกกฎหมายปิดปาก จี้แจ้งนานาชาติเลิกแถลงการณ์ร่วม “นพดล-สกอาน” โดยด่วน

ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 09.30 น.จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง ทางออกเกี่ยวกับปัญหาปราสาทพระวิหาร โดยมี นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ และอดีตผู้เข้าสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ร่วมเสวนาในหัวข้อ สหประชาชาติกับการแก้ไขข้อขัดแย้งปัญหาปราสาทพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา ว่า

“ผมมีความห่วงใยจริงๆ ต่อกรณีปราสาทพระวิหาร ผมห่วงมาก ว่า ไทยจะเพลี่ยงพล้ำด้านการทูต ซึ่งทุกครั้งในประวัติศาสตร์ เมื่อใดที่ประเทศไทยรบกับด้านอื่นๆ กัมพูชาก็จะเดินเกมรุกเร็วทุกครั้ง สำหรับเรื่องปราสาทพระวิหารในขณะนี้ กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ปัญหาที่ผมห่วงใย คือ กรณีคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโกนั้น เรายังมีหลายเรื่องที่ยังไม่จัดกระบวนทัพ หรือยุทธศาสตร์ทางการทูต เพื่อโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ เข้าใจเรา ผมแปลกใจมาก ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเพื่อนบนเวทีโลกค่อนข้างมาก แต่ทำไมในกรณีขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้ เราถึงได้สิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดนี้ มติคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศ ถึงได้เป็นเอกฉันท์ ไม่มีใครเข้าข้างไทยเลย ทำไมเราถึงขาดเพื่อนบนเวทีโลกได้ถึงขนาดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่พร้อมหรือ เราไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องนี้ หากยังสิ้นไร้ไม้ตอกแบบนี้ เมื่อคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร 7 ประเทศเข้ามา แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ในเมื่อเรากำลังอยู่ในห้องมืด ผมจึงไม่เห็นทางออก เพราะฉะนั้นคนไทยทุกคนจะต้องมาช่วยกันเปิดไฟให้กับประเทศ” นายสุรเกียรติ์ กล่าว

นายสุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า ข้อห่วงใยประการต่อมา คือ กัมพูชาทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ฉบับวันที่ 18 ก.ค.2551 และ ฉบับวันที่ 21 ก.ค.2551 ซึ่งระบุว่า ไทยเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพในภูมิภาคนี้ ซึ่งเข้าข่ายตามกฎบัตรสหประชาชาติ บทที่ 7 และขอประชุมฉุกเฉิน ซึ่งสหประชาชาติใช้กับกรณีปัญหาการสู้รบในประเทศอิรัก อัฟกานิสถาน ไทยต้องทำหนังสือตอบโต้กลับไป ซึ่งขณะนี้เราชี้แจงกลับไปแล้วทั้ง 2 ฉบับ แต่ยังไม่ได้ชี้แจงกรณีที่ไทยเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ รวมทั้งกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ไปลงนาม เราก็ต้องยกเลิก ไม่เช่นนั้น สิ่งเหล่านี้จะกลับมาทำลายน้ำหนักในการต่อสู้ของไทยบนเวทีโลก เพราะหากไม่ชี้แจง ก็จะเข้าข่ายกฎหมายปิดปาก เพราะเราไม่ทำอะไรเลย ทั้งนี้ ไทยต้องตั้งรับและตั้งรุกทางการทูต เพราะขณะนี้กัมพูชาเปิดประตูรบทางการทูตหลายประตู เราถึงได้ล้มระเนระนาดอยู่ในขณะนี้

อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ทางกัมพูชาส่งชาวบ้านเข้ามาในเขตแดนเรา ในขณะนั้นจึงได้มีความพยายามทำให้พื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร เป็นเขตพัฒนาร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ปี 2544 เพื่อวางหมากทางการทูตในอนาคต โดยฝ่ายกัมพูชา มี นายโส มา รม ปลัดกระทรวงท่องเที่ยว เป็นผู้ลงนาม ซึ่งต่อมาก็ถูกทางกัมพูชาปลด และแจ้งขอยกเลิกการลงนามในครั้งนั้น แต่ไทยก็พยายามขอเจรจาทำเขตพัฒนาร่วมอย่างต่อเนื่อง จนสำเร็จในเดือน มิ.ย.2546 ซึ่งมีการประชุมร่วมกันของคณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา และมีมติร่วมกันตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร ซึ่งนายสก อาน รองนายกฯ ในขณะนั้น ก็ยอมรับเรื่องการร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2546 ส่วนไทยก็มีการรับรองมติ ครม.ร่วมดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2546 และในปี 2547 ก็มีการประชุม โดยทางกัมพูชารับที่จะกลับไปจัดระเบียบชุมชนที่ล้ำเขตแดนไทยเข้ามา

“จากนั้นจู่ๆ กัมพูชา ก็เปลี่ยนแปลงจุดยืนดังกล่าว โดยกัมพูชามีหนังสือมาถึงไทยวันที่ 11 เม.ย.2551 ว่า คนที่เห็นด้วยกับกัมพูชา ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว คือ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และกัมพูชา ยังยืนยันว่า ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนในเขตปราสาทพระวิหาร ซึ่งผมแจ้งกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ไทยจะต้องตอบปฏิเสธอย่างรุนแรง เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกฎหมายปิดปากในอนาคต หากเราไม่ปฏิเสธเท่ากับยอมรับว่าดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน”นายสุรเกียรติ์ กล่าว

อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ทางออกที่ตนเสนอ คือ เราต้องชี้แจงหนังสือทุกฉบับของกัมพูชาในทุกเวที โดยเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องตั้งคณะทำงานรวบรวมคนเก่งทุกสาขาวิชาชีพเข้ามาช่วยเรื่องนี้ และเสนอต่อประชาคมโลก ว่า เรามีคณะกรรมการระดับทวิภาคีหลายชุดที่จะเจรจากับกัมพูชาเพื่อแก้ปัญหานี้ ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป, คณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วม, คณะกรรมาธิการระดับรัฐมนตรีร่วม โดยมี รมว.ต่างประเทศ ของ 2 ประเทศเป็นประธานร่วมกัน, คณะกรรมการร่วมวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา, คณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร การเสนอต่อประชาคมโลกของไทยจะเป็นประโยชน์ทางกฎหมายของเราในอนาคต โดยมีเป้าหมาย คือ การกลับไปอยู่ในสภาพเดิมเมื่อปี 2543 คือ ซึ่งมีการลงนามร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ คือ เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร”

นายสุรเกียรติ์ ย้ำด้วยว่า ไทยควรตั้งทีมชี้แจงทำความเข้าใจ แยกเป็น 2 ทีม คือ ทีมวิชาการที่ชี้แจงต่อยูเนสโก และทีมการเมืองที่ชี้แจงต่อยูเอ็น แม้ว่ากัมพูชาบอกว่าจะถอนเรื่องจากยูเอ็น แต่เราก็อย่าวางใจ เพราะเป็นผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางออกของปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารไทย จะต้องทำหลายเรื่องพร้อมกัน โดยเรื่องด่วนสุด คือ ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะการแสดงความเป็นเจ้าของเพื่อรักษาสิทธิเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่หากทำแล้วเกิดการปะทะกันขึ้น ก็จะเป็นการเปิดช่องให้กัมพูชานำไปชี้ให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า ไทยใช้ความรุนแรง ซึ่งจะ เข้าทางกัมพูชาที่จะดึงฝ่ายอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงต้องทำอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ตนสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหานี้บนโต๊ะเจรจา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นการยืนยันต่อชาวโลกว่า กรณีการเจรจาไม่สำเร็จก็จะมีการคุยกันต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีเหตุผลที่จะใช้ความรุนแรง ที่สำคัญเราสามารถบรรลุผลเรื่องการถอนกำลัง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงลงได้ระดับหนึ่ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายสุรเกียรติ์ ที่เราจะต้องย้อนกลับไปยังสถานะเมื่อปี พ.ศ.2543 คือ เห็นด้วยกับความเห็นต่างกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งในอดีตนั้นกัมพูชาได้ให้แม่ค้า พ่อค้าขึ้นไปขายของบนตัวปราสาทพระวิหาร แต่ต่อมาเห็นว่าเป็นภาพที่ไม่งดงาม จึงได้ขอขยายพื้นที่การค้าออกมา 10-20 เมตร และได้กินอาณาเขตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้มีการเจรจากัน ขอให้แม่ค้าฝั่งไทยเข้าไปขายของด้วย แต่เมื่อขายของไปได้ระยะหนึ่ง ทางกัมพูชาเริ่มมีปัญหาเรื่องขยายเขตแดนเข้ามามาก ทางไทยจึงดึงพ่อค้า แม่ค้าของไทยออกจากพื้นที่ และผลักดันให้พ่อค้ากัมพูชาถอยกลับไป และหากจะมีการเจรจาเปิดพื้นที่ก็ควรให้พ่อค้าคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการค้าขายด้วย

“กรณีแถลงการณ์ร่วมที่อดีต รมว.ต่างประเทศ ไปลงนามไว้นั้น เป็นการรู้กันภายในประเทศไทย ว่า ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการลงนามดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในเวทีโลกยังไม่ทราบเรื่องนี้เลย ซึ่งไทยต้องรีบแก้ไขขอยกเลิกทุกเวทีอย่างเร่งด่วน ซึ่งการแก้ไขปัญหาพระวิหารประเทศไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์ทั้งไม้อ่อนและแข็ง เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย และต้องไม่กระทบสิทธิกันและกัน อยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด”หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น