xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : แถลงการณ์ร่วม “พระวิหาร” กับ “รบ.หน้าด้าน”!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

77 ส.ว.เตรียมเข้าชื่อยื่น ป.ป.ช.เพื่อส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ดำเนินคดี ครม.ทั้งคณะฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวล กม.อาญามาตรา 157 ,119 ,120(8ก.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
 
ไม่เพียงคำตัดสินของ คกก.มรดกโลกที่เห็นชอบขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามที่กัมพูชาเสนอ จะสะท้อนถึงความล้มเหลว-ผิดพลาดของ รบ.ไทยและนายนพดล ปัทมะ ในฐานะ รมต.ต่างประเทศ แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ ขัด รธน. และคำสั่งศาลปกครองที่ให้ระงับแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ยิ่งเท่ากับตอกย้ำการหมดความชอบธรรมของ รบ.ชุดนี้ แต่นอกจากจะยังไม่มีสัญญาณแห่งความรับผิดชอบใดใดจากนายนพดลและ รบ.แล้ว ยังมีการ “โยนบาป” ว่าเป็นความผิดของ “รธน.” ด้วย เมื่อ รบ.ไม่หน้าบางพอที่จะแสดงสปิริต การยื่น “ถอดถอน” จึงเป็นหนทางสำคัญสำหรับสถานการณ์ยามนี้

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

ปฏิบัติการของรัฐบาล โดยเฉพาะ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ที่สนับสนุนกัมพูชาอย่างแข็งขันในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เริ่มฟ้องต่อสายตาสังคม เมื่อนายนพดลเสนอให้ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม เป็นประธานเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ให้เห็นชอบแผนที่ที่กัมพูชาจัดทำขึ้นเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ เพื่อเสนอต่อยูเนสโกประกอบการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก รวมทั้งเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเพื่อยืนยันว่าไทยสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งที่ประชุม สมช.ที่มีนายสมัครนั่งหัวโต๊ะก็เห็นชอบตามที่นายนพดลเสนอ

ไม่เพียงไม่มีการเปิดเผยแผนที่และแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว แต่นายนพดลยังออกอาการร้อนรนเร่งรีบเพื่อให้แผนที่และแถลงการณ์ร่วมผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยหลังที่ประชุม สมช.เห็นชอบได้แค่ 1 วัน แผนที่และแถลงการณ์ร่วมฯ ก็ถูกนำเข้าที่ประชุม ครม.วันต่อมา (17 มิ.ย.)ให้เห็นชอบเช่นกัน ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านฉลุยด้วยดี

จากนั้นวันต่อมา(18 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนพลไปขับไล่นายนพดลที่กระทรวงการต่างประเทศ แต่นายนพดลกลับอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา พร้อมลงนามเห็นชอบแผนที่ที่กัมพูชานำเสนอแนบท้ายด้วย โดยนายนพดลบอกด้วยว่า ขั้นตอนต่อไปจะส่งแผนที่และแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวให้ยูเนสโกลงนาม และยูเนสโกจะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 5-9 ก.ค.นี้ ที่ประเทศแคนาดา เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่

แม้หลายฝ่ายในสังคมจะออกมาทัดทานท้วงติงการกระทำของนายนพดลและรัฐบาลว่ากำลังทำให้ไทยต้องเสียอธิปไตยเหนือประสาทพระวิหาร ทั้งที่ไทยสงวนสิทธิในการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลโลกตั้งแต่ปี 2505 ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาโดยยึดแผนที่ของฝรั่งเศส แทนที่จะยึดสันปันน้ำเป็นตัวตัดสิน การที่รัฐบาลและนายนพดลสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว แทนที่จะขอขึ้นทะเบียนร่วมกันนั้น หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าไม่เพียงเป็นการสละสิทธิของไทยที่จะทวงคืนปราสาทพระวิหารดังที่ไทยได้ประกาศและวาดหวังไว้ตลอดมา แต่ยังเท่ากับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนของไทยด้วยว่า ได้หันมายอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารโดยสิ้นเชิงแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากรัฐบาลและนายนพดลจะทำเหมือนไม่รู้สึกรู้สากับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารดังกล่าวด้วยการยืนยันแต่ว่า “ศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 แล้ว” รัฐบาลและนายนพดลยังหาได้คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมาจากแผนที่และแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ ครม.เห็นชอบและนายนพดลลงนาม เพราะแม้หลายฝ่ายจะได้เตือนแล้วว่า หากไทยยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวได้สำเร็จ จะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าสิทธิต่างๆ ที่ไทยมีบนพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารจะไม่ถูกกระทบกระเทือน จะไม่มีใครรับประกันได้ว่า เมื่อปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนแล้ว จะไม่ส่งผลสะเทือนถึงพื้นที่ทับซ้อนที่ยังเป็นปัญหาและเรื่องการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา หรือแม้แต่เรื่องการต่อรอง-กดดันให้ชาวกัมพูชาย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ทับซ้อนหรือพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย ฯลฯ

แต่นายนพดลก็ไม่ฟังใคร เอาแต่ท่องคาถาว่า“กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ไทยไม่เสียดินแดน ไม่เกี่ยวกับเรื่องอธิปไตยแต่อย่างใด” จนหลายฝ่ายข้องใจไปตามๆ กันว่า ตกลงนายนพดลเป็นรัฐมนตรีของไทยหรือกัมพูชากันแน่ และไม่แปลกที่ใครต่อใครจะคิดว่า งานนี้อาจมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เกิดขึ้นจริงดังที่ พล.อ.เตีย บัณห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชาเคยระบุ ยิ่งนายนพดลเคยเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยแล้ว ประกอบกับ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังจะไปลงทุนที่เกาะกงของกัมพูชา พฤติกรรมของนายนพดลและรัฐบาลนอมินีที่รีบสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารจึงผูกโยงเข้ากับผลประโยชน์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะได้รับอย่างสอดคล้องต้องกัน


ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ไม่เพียงเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นว่าเรื่องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ดังกล่าวอาจเป็นเรื่องจริง แต่ยังชี้ด้วยว่า การที่นายนพดลและรัฐบาลไทยเห็นชอบและลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อสนับสนุนกัมพูชาให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว เท่ากับเป็นการเสียดินแดนครั้งแรกของไทยในอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร เพราะคณะกรรมการมรดกโลกเคยเสนอว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้น ไทยและกัมพูชาควรจะเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกัน ไม่เช่นนั้นไทยจะเสียดินแดนและอธิปไตย!

เมื่อนายนพดลและรัฐบาลตาบอด-หูหนวกเกินกว่าที่ใครจะทัดทาน ประกอบกับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศแคนาดาก็งวดเข้ามาทุกขณะ ส่งผลให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องฟ้องต่อศาลปกครอง (24 มิ.ย.) ให้เพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว รวมทั้งเพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ของนายนพดลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. พร้อมขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการระงับแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวไว้ก่อน ซึ่งในที่สุด (28 มิ.ย.) ศาลก็คุ้มครองด้วยการสั่งห้าม ครม.และนายนพดลนำแถลงการณ์ดังกล่าวไปอ้างอิงหรือใช้ประโยชน์จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยศาลให้เหตุผลว่า “ข้อตกลงในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวอาจมีผลผูกพันประเทศไทยและทำลายน้ำหนักในการอ้างอิงเขตแดนที่ประเทศไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมาตลอด นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน อันเป็นความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง...”

ทั้งนี้ ไม่เพียงภาคประชาชนอย่างพันธมิตรฯ จะฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ระงับและเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเพื่อป้องกันการเสียอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารของฝ่ายไทย แต่ยังมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.77 คนเข้าชื่อยื่นประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่า การเห็นชอบและลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวของรัฐบาลและนายนพดลถือว่าขัด รธน.หรือไม่ เพราะมาตรา 190 ระบุว่า “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย...หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”

ซึ่งในที่สุด (8 ก.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 8 : 1 ว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ถือว่าเป็นหนังสือสัญญาตาม รธน.มาตรา 190 ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน นั่นหมายความว่า การเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวของ ครม.และการลงนามในแถลงการณ์ร่วมของนายนพดลเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รธน.อย่างชัดเจน แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่แค่วินิจฉัย ไม่มีอำนาจลงโทษผู้กระทำการขัด รธน. จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะนายนพดลและ ครม.

ยิ่งคณะกรรมการมรดกโลก (8 ก.ค.) มีมติให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามที่กัมพูชาเสนอ โดยไม่ใยดีต่อกรณีที่ศาลปกครองของไทยสั่งระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาด้วยแล้ว ครม.และนายนพดลยิ่งต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่ผิดพลาดของตัวเองเป็นสองเท่า แต่จนถึงบัดนี้ ยังไม่สัญญาณความรับผิดชอบใดใดจาก ครม.และนายนพดล แม้นายนพดลจะได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า “ตนพร้อมจะรับผิดชอบตามที่เห็นว่าเหมาะสม” ก็ตาม

ไม่เพียงส่อแววว่า ครม.และนายนพดลจะไม่รับผิดชอบ แต่ ครม.ยังส่งสัญญาณว่าอาจอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่สั่งระงับแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวด้วย แถมยังมีข่าวว่านายสมัครหลุดปากระหว่างประชุม ครม.(8 ก.ค.) ว่า “จะให้ออกทั้งคณะได้ยังไงวะ มันไม่มีเหตุผล” ขณะที่โฆษกรัฐบาล พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ออกมาปกป้องนายนพดลว่า “ไม่ต้องรับผิดชอบและไม่ต้องแสดงสปิริตใดใด เพราะมาตรา 190 ไม่ได้กำหนดว่าหากทำผิดจะต้องได้รับโทษอะไรบ้าง” พล.ต.ท.วิเชียรโชติ ยังยกความผิดของรัฐบาลให้เป็นความผิดของ รธน.ด้วยว่า “เรื่องนี้ ครม.ไม่ได้ทำพลาด แต่เป็นข้อพิสูจน์ว่า รธน.ฉบับปัจจุบันมีปัญหา”!?!

ลองไปดูว่า ท่าทีของฝ่ายต่างๆ ในสังคมมองว่า นายนพดลและ ครม.ต้องรับผิดชอบกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาขัด รธน.หรือไม่?

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ทั้งนายนพดลและ ครม.ต้องรับผิดชอบต่อแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว

“ช่วงนี้ก็เป็นเรื่องของการเรียกหาความรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ทำไปโดยไม่ให้ความสำคัญกับ รธน.ไม่ให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภา และเป็นผลพวงทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะถ้ามีการทักท้วงตั้งแต่แรกและให้ปรากฏอย่างชัดเจน ผมคิดว่าในส่วนของการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกก็คงจะต้องมีการยับยั้งไว้ก่อน แต่ที่ปรากฏที่ผ่านมาก็คือ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและรัฐบาลเองกลับคิดว่าไม่สามารถที่จะไปโต้แย้งคำพิพากษาศาลโลกได้ ก็เลยแสดงออกถึงความเห็นด้วยในช่วงต้น ก็เลยทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ (ถาม-ศาล รธน.ไม่ได้กำหนดโทษตรงนี้ แล้วใครที่จะต้องเรียกหาความรับผิดชอบ?) กระบวนการตาม รธน.ก็คือ ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวน ส.ส.ในสภา และประชาชน 2 หมื่นรายชื่อสามารถที่จะลงชื่อเสนอให้ถอดถอนรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ (ถาม-กรณีนี้ถือว่าต้องรับผิดชอบทั้ง ครม.มั้ย?) ก็มีโอกาสในความรับผิดชอบร่วมด้วย เพราะ รธน.มาตรา 171 บอกว่า ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ให้ ครม.รับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะ”

อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เผยขั้นตอนการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีด้วยว่า เมื่อ ส.ส.หรือประชาชนรวบรายชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาแล้ว หลังประธานวุฒิฯ ตรวจสอบรายชื่อพบว่าถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะส่งให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ไต่สวน หาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ารัฐมนตรีกระทำผิดจริง รัฐมนตรีนั้นก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หยุดพักงาน จากนั้น ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอน และหากการกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินด้วย ป.ป.ช.ก็จะต้องส่งเรื่องให้อัยการ เพื่อส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไป หากอัยการไม่เห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วม ถ้าคณะกรรมการร่วมตกลงกันไม่ได้ ป.ป.ช.ก็มีสิทธิที่จะตั้งทนายความขึ้นมาฟ้องต่อศาลฯ เอง

นายเสรี ยังให้ข้อคิดถึงผู้มีอำนาจด้วยว่า การใช้อำนาจต้องตระหนักถึงกฎหมายและ รธน.อย่างเคร่งครัด มิใช่คิดเพียงว่ามีอำนาจในสภาแล้วจะทำอะไรก็ได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาบานปลายและไม่สามารถแก้ไขได้อย่างกรณีปราสาทพระวิหารแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่ของคนใดคนหนึ่ง แต่สะเทือนถึงประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

ด้าน ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า ถ้าพิจารณาตาม รธน. ทั้งนายนพดลและ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ถ้านายนพดลขอรับผิดชอบด้วยการลาออกเอง ก็อาจจะผ่อนแรงกดดันที่จะให้ ครม.รับผิดชอบลงได้บ้าง

“ผมว่าก็ต้องรับผิดชอบ เพราะมันเห็นชัดเจนว่าอย่างน้อยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเป็นคนชงเรื่องจะต้องรับผิดชอบ ถึงแม้จะบอกว่ามันเป็นการตีความที่แตกต่างกัน แต่ความรับผิดชอบทางการเมือง ย่อมมี คือความผิดในฐานะทำอะไรขัด รธน.เนี่ย อาจจะยังไม่ชัด แต่ความรับผิดชอบทางการเมือง ผมว่าจำเป็นต้องมี คือไปเซ็นอะไรไว้ และมีการตีความว่าเซ็นไม่ถูกเนี่ย ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีที่ไปเซ็นไว้ ก็ต้องบอกว่า โอเคงั้นผมขอรับผิดชอบ เพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์ที่มันรุนแรงให้มันเบาลง (ถาม-ในส่วนของ ครม.ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมตัวนี้ด้วย จะต้องรับผิดชอบมั้ย?) รธน.ฉบับนี้เขียนไว้บอกว่า ในการบริหารประเทศ ครม.จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน อันนี้มันก็ผูกพัน แต่ถ้าสมมติ รัฐมนตรีต่างประเทศยืนยันว่าฉันจะรับผิดชอบ เพราะเป็นคนชงเรื่อง แรงกดดันที่จะให้ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วม ก็จะเบาลง ผมว่าอันนี้เป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่จะต้องดู แต่ถ้าสมมติว่า รัฐมนตรีต่างประเทศไม่รับผิดชอบตรงนี้อย่างที่ควรจะรับเนี่ย ครม.ก็โดนแน่ จะมีแรงกดดันให้ ครม.โดนแน่”

ขณะที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เห็นเช่นกันว่า นายนพดลและ ครม.ทั้งคณะต้องรับผิดชอบกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาขัด รธน. พร้อมเชื่อว่าทั้งนายนพดลและ ครม.จะไม่มีการลาออกเองแน่ถ้าไม่ถูกยื่นถอดถอน

“ศาลตัดสินมาแล้ว เพราะฉะนั้นศาลก็บอกว่า ให้ไปดูมาตราที่เกี่ยวข้องที่ว่า ถ้ามีการกระทำผิดแบบนี้ ส.ส.1 ใน 4 ของสภาให้ถอนถอนรัฐมนตรีหรือถอดถอนทั้งคณะก็ได้ (ถาม-ส่วนตัว อ.คิดว่าต้อง ครม.ทั้งคณะมั้ย?) ผมคิดว่าควร เพราะ ครม.ปกป้องมาโดยตลอด ไม่เคยมีอะไรที่พยายามที่จะช่วยหรือทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มันชัดเจนขึ้น จนกระทั่งไม่ต้องให้พันธมิตรฯ ต้องเหนื่อยล้าขนาดนี้ (ถาม-อ.เชื่อว่า ถ้าไม่ยื่นถอดถอน คงจะไม่แสดงความรับผิดชอบเอง?) โอ๊ย! ไม่มีทาง พวกนี้มันหน้าด้าน”

ด้าน รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่แรกว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ ครม.และนายนพดลลงนามเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 190 เพราะไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ก็ชี้ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่าขัด รธน.นายนพดลก็ต้องรับผิดชอบก่อนเพื่อน ในฐานะคนชงเรื่อง ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า การกระทำของนายนพดลอาจไม่เข้าข่ายกฎหมายอาญามาตรา 157 ถ้าไม่ได้ทุจริตหรือทำเพื่อประโยชน์ของใคร แต่น่าจะเข้ามาตรา 119 และ 120 ฐานทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบเรื่องดินแดน

“ความรับผิดชอบอันนี้ก็ต้องดำเนินไป ถ้าเกิดว่าขัด(มาตรา)190 ปุ๊บ ไม่ทำตามกฎหมายนี้ปุ๊บเนี่ย รัฐมนตรีก็โดนก่อนว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะฉะนั้นนพดลจะต้องโดน(มาตรา) 157 ก่อน แต่ 157 จะมีปัญหาว่าถ้าไม่ได้ทุจริตหรือไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของใครโดยเฉพาะเจาะจงเนี่ย ซึ่งผมคิดว่าไม่เข้า 157 แต่พอไป (มาตรา) 119, 120 เนี่ยเป็นไปได้ ที่ไปเจรจาแล้วทำให้ประเทศเราเสียเปรียบ”

ทั้งนี้ ความเห็นของ รศ.ทวีเกียรติ ใกล้เคียงกับความเห็นของ 77 ส.ว.ที่เตรียมเข้าชื่อยื่นเรื่องกล่าวโทษ ครม.และนายนพดลตาม รธน.มาตรา 275 เพื่อให้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา ฐานไม่ปฏิบัติตาม รธน.มาตรา 190 และยังทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมทั้งอาจจะเข้าข่ายมาตรา 119 และ 120 ฐานกระทำการใดใดที่ทำให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดตกไปอยู่ใต้อธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ซึ่งมีโทษสูงสุด “ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

ต้องติดตามกันว่า ที่สุดแล้ว นายนพดลและ ครม.จะ “หน้าบาง” พอที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดพลาดของตนกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาหรือไม่ หรือจะ “ตะแบง-กะเตง” กันต่อไป จนกว่าการยื่นถอดถอนจะมีผล ซึ่งหากวันใด ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิด นายนพดลและ ครม.ทั้งคณะที่ถูกยื่นถอดถอนจะต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที!!
ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติ 8 -1 ว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ขัด รธน.มาตรา 190(8 ก.ค.)
โฉมหน้าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ เจ้าปัญหา

77 ส.ว.ยื่น ปธ.วุฒิฯ เพื่อส่งศาล รธน.ตีความแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ ขัด รธน.มาตรา 190 หรือไม่(30 มิ.ย.)
นพดล เรียกนายเชลดอน เชฟเฟอร์ ผอ.ยูเนสโกประจำ ปทท.เข้าพบ(3 ก.ค.) เพื่อชี้แจงหลังถูก ส.ว.จับได้ว่าตนแอบไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาตั้งแต่เมื่อ 22 พ.ค.ที่กรุงปารีส
กำลังโหลดความคิดเห็น