สธ.เร่งผลักดันคุณภาพประชากร เป็นวาระแห่งชาติ คาด อีก 22 ปีข้างหน้าไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น ผู้สูงอายุพุ่งสูง เป็นร้อยละ 25 ส่วนประชากรเด็กลดลงเท่าตัว หญิงรุ่นใหม่มีลูกเฉลี่ยไม่ถึง 2 คน วัยแรงงานทุก 100 คน ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดู ทั้งเด็กวัยและคนชรา 63 คน ขณะที่ยูเอ็นชมไทย งานวางแผนครอบครัว ประสบผลสำเร็จ
วันนี้ (11 ก.ค.) ที่โรงแรมเดอะ แกรนด์ อยุธยา บางกอก กรุงเทพฯ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิริดาห์ (Mr. G. Giridhar) ผู้แทนองค์การประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดการสัมมนาวิชาการเนื่องในวันประชากรโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี โดยในปีนี้องค์การประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดประเด็นสำคัญ ว่า “รู้จักสิทธิ์ ... ร่วมใจทำให้เป็นจริง” (It’s a right, Let’s make it real)
นายวิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรทั้งสิ้น 6,700 ล้านคน องค์การสหประชาชาติ คาดว่าในอีก 42 ปีข้างหน้า ประชากรจะเพิ่มเป็น 11,900 ล้านคน โดยโครงสร้างประชากรทุกประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น แนวโน้มเด็กเกิดใหม่ลดลง
ส่วนของไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดประมาณประชากรกลางปี ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ว่า ไทยมีประชากร 63.1 ล้านคน มีอัตราการเพิ่มร้อยละ 0.4 ต่อปี ผู้หญิงไทย 1 คนมีบุตรน้อยลง เฉลี่ย 1.5 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทดแทนจำนวนพ่อแม่เมื่อเสียชีวิตไป ซึ่งอัตราการเพิ่มที่เหมาะสมอยู่ที่ 2 คน โดยขณะนี้มีผู้หญิงมากกว่าชายเกือบ 9 แสนคน และจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี 2568 ทำให้เกิดความไม่สมดุลในการจับคู่แต่งงาน คาดว่าในอีก 22 ปี ข้างหน้าผู้หญิงไทยจะมีลูกโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 1.35 คนเท่านั้น
“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ โดยมีผู้สูงอายุร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด และจากอัตราเพิ่มอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุ คาดการณ์ว่า ในอีก 22 ปีข้างหน้า หรือใน พ.ศ.2573 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น ร้อยละ 25 คือ คนที่เดินมาทุก 4 คนจะเป็นผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งถือเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น ส่วนประชากรวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีแนวโน้มลดลง จากขณะนี้ร้อยละ 21.5 จะเหลือร้อยละ 135 ทำให้จำนวนวัยแรงงานสร้างเศรษฐกิจในอนาคตลดลง ปัญหาใหญ่ที่ตามมา ก็คือ ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานทุก 100 คน จะต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุ เพิ่มจาก 48 คน เป็น 63 คน ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ” นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ในการวางแผนรับมือปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงประชากรไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และกลุ่มรักร่วมเพศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ สามารถแข่งขันในสังคมโลกได้ จะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองการอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งจะเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศ ที่ว่าด้วยการดูแลสุขภาพทางเพศโดยเฉพาะ ดูแลครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มให้มีคุณภาพตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงตาย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในปลายปีนี้
ด้านนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนนับเป็นประชากรหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต้องรับภาระดูแลครอบครัวและพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงหลายอย่าง โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อายุ 14 ปี ในปี 2550 พบนักเรียนทั้งชายหญิงมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วขึ้น อายุเฉลี่ยเพียง 13 ปี ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ตั้งแต่ยังเด็ก ล่าสุด พบหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูกเพิ่มจากร้อยละ 12 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2549 นอกจากนี้ พบผู้ติดเชื้อกามโรคเป็นวัยรุ่นมากถึงร้อยละ 28 ติดเชื้อ เอชไอวี ปีละประมาณ 9,000 คน ผลร้ายที่ตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์เร็วตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าหญิงทั่วไปหลายเท่าตัว เพราะเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
“ยาคุมกำเนินฉุกเฉินกำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่น และจะถูกนำมาขายโดยวางไว้ใกล้ๆ เคาน์เตอร์ให้ใกล้มือหยิบจับได้ง่าย ที่น่าเป็นห่วงคือ วัยรุ่นยังมีพฤติกรรมการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบผิดๆโดยใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่ต่างจากยาคุมกำเนิดทั่วไป”นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้เร่งพัฒนาสุขภาพวัยรุ่นและเยาวชนให้ปลอดภัยจากการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เช่น เปิดเว็บไซต์ friendconer.biz ให้วัยรุ่นเข้าถึงความรู้การดูแลสุขภาพทางเพศตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาการสอนทักษะชีวิตเรื่องเพศ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลคนกลุ่มนี้
“การเปลี่ยนแปลงประชากรและสภาพเศรษฐกิจ สังคมของไทยขณะนี้ กระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาให้ครอบครัว มีการหย่าร้างในรอบ 7 ปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 12 ปี เด็กและเยาวชนมีปัญหาครอบครัวและทำผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้มีพระราชดำริให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดทำโครงการ “ศูนย์ 3 วัย สายใยรักแห่งครอบครัว” ฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แนบแน่นเหมือนในอดีต เริ่มนำร่องจัดตั้งศูนย์ต้นแบบในสถานีอนามัยในปี 2551 มีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง ลูก พ่อแม่ และปู่ย่าตายาย เพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย ใจ มอบความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ให้ผู้สูงอายุถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ทำของเล่นให้เด็ก ร้องเพลงกล่อมเด็ก และจะดำเนินการให้ครอบคลุมสถานีอนามัยทั่วประเทศต่อไป
ด้าน นายกิริดาห์ กล่าวว่า ขอชื่นชมในการที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องวางแผนครอบครัว และอนามัยเจริญพันธุ์มีคุณภาพประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นไปตามการณรงค์ในปีนี้ขององค์การประชากรแห่งสหประชาชาติว่า “รู้จักสิทธิ์ ... ร่วมใจทำให้เป็นจริง” ซึ่งต่อจากนี้จะต้องเชื่อมโยงการบริการสุขภาพที่ดูแลตั้งแต่เด็กจนเติบโตเพื่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และมีความรู้