xs
xsm
sm
md
lg

Frontier(s) : โชคดี...ที่ตายก่อน!/โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


ซาเวียร์ เจนส์ เล่าว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้ จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกเมื่อปี 2002

โดยปรกติ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศฝรั่งเศสจะทำกัน 2 รอบ โดยในรอบที่สองจะเป็นการนำผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 และที่ 2 จากการเลือกตั้งรอบแรก มาให้ประชาชนลงคะแนนตัดสินกันอีกครั้ง

ในครั้งนั้น ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจากการเลือกตั้งรอบแรก คือ นาย ฌากส์ ชีรัก ประธานาธิบดีคนก่อน และ นาย ฌอง-มารี เลอเปน คู่แข่งจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ

เป็นนายเลอเปนนี่เอง ที่ทำให้ซาเวียร์ เจนส์ เกิดอาการคันคะเยอจนต้องลุกขึ้นมาเขียนบทหนัง Frontier(s)

ลักษณะเด่นของนายเลอเปนที่ทุกคนทราบดีก็คือ เขาเป็นพวกขวาตกขอบ อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว เลอเปนชูนโยบายชาตินิยมสุดโต่งในการหาเสียง และแสดงออกอย่างไม่ปิดบังว่า ชิงชังชาวต่างชาติที่มาอาศัยแผ่นดินของเขาเป็นที่พำนักอาศัย

นโยบายหลายข้อที่เลอเปนสัญญาว่าจะทำหากได้เป็นประธานาธิบดี ล้วนส่งผลในทางลบต่อคนต่างด้าวในฝรั่งเศส เป็นต้นว่า ยกเลิกสวัสดิการทางสังคมบางประการ สงวนอาชีพครูตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมหาวิทยาลัยไว้สำหรับชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะ ไม่ยอมรับผู้ที่ถือสองสัญชาติ ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินแข่งกับคนฝรั่งเศส ห้ามไม่ให้สตรีมุสลิมใช้ผ้าโพกศีรษะหรือผ้าคลุมหน้า ฯลฯ

นอกจากนั้น เลอเปนยังเสนอนโยบายบางข้อที่ชวนให้เชื่อว่า จะส่งผลให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนลดน้อยลง ทั้งการห้ามทำแท้งไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่ให้การยอมรับกลุ่มรักร่วมเพศ เพิ่มอำนาจให้ตำรวจ ฯลฯ

สรุปก็คือ สำหรับคนต่างชาติ ต่างศาสนา หรือกระทั่งคนฝรั่งเศสเองที่ฝักใฝ่ฝ่ายเสรีนิยม หากนายเลอเปนได้เป็นผู้นำประเทศจริง...เพียงแค่คิด ก็ถือเป็นฝันร้ายอย่างยิ่ง
ซาเวียร์ เจนส์ นำความรู้สึกช็อกวันที่ทราบข่าวชัยชนะในการเลือกตั้งรอบแรกของเลอเปนมาแปรรูป จนกลายเป็นพล็อตหนังเรื่อง Frontier(s)


หนังตั้งต้นที่ภาพข่าวการจลาจลในกรุงปารีส ภายหลังหนุ่มสาวหัวเสรีนิยมและคนต่างด้าวในประเทศ ทราบข่าวชัยชนะในรอบแรกของนักการเมืองฝ่ายขวาสุดขอบ (หนังไม่เคยระบุชื่อนายเลอเปน และแม้ในความเป็นจริงจะเกิดเหตุจลาจลเช่นเดียวกันนี้ด้วย แต่สันนิษฐานว่า ภาพที่ปรากฏในหนัง ไม่น่าจะใช่ภาพเหตุการณ์จริง)

เด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยชาย 4 และหญิง 1 ฉวยจังหวะที่บ้านเมืองกำลังโกลาหล บุกปล้นร้านค้าต่างๆ ได้เงินมากระเป๋าใหญ่

สาเหตุที่ทั้งหมดตัดสินใจปล้น แน่นอนว่า มีความอยากได้ใคร่มีในสิ่งที่ชีวิตปรกติไม่มีทางจะหาได้ เป็นเหตุผลหลัก (หนังเล่าพื้นเพปูมหลังวัยรุ่นกลุ่มนี้ไว้คร่าวๆ ว่า พวกเขามาจากครอบครัวที่ฐานะไม่สู้ดีนัก) แต่สำหรับ ยาสมิน ผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวในแก๊ง เธอมีอีกเหตุผลหนึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญ นั่นคือ ณ เวลานั้นเธอพบว่าตัวเองกำลังตั้งท้องอ่อนๆ และเธอก็ต้องการเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดชีวิตน้อยๆ ที่เธอไม่ต้องการคนนั้น

หลังการปล้นสำเร็จลุล่วง ทั้งหมดตกลงใจขับรถมุ่งหน้าไปยังประเทศฮอลแลนด์เพื่อกบดานหลบซ่อนตัว และเรื่องราวถัดจากนั้นก็เข้าสูตร ‘หนังวัยรุ่นรนหาที่’ ทั่วไป กล่าวคือ ก่อนถึงที่หมาย แก๊งเด็กวัยรุ่นตัดสินใจแวะค้างอ้างแรมที่โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตชายแดน และเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อหนังเฉลยว่า โรงแรมแห่งนั้น แท้จริงแล้วดำเนินกิจการโดยครอบครัววิปริตครอบครัวหนึ่ง

ตัวพ่อ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหัวใจฝักใฝ่ลัทธินาซีในระดับเข้มข้น หลังการพ่ายแพ้ของพรรคนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาพาตัวเองและครอบครัวมาเก็บตัวเงียบที่นั่น จากนั้นก็ริเริ่มดำเนินการแผนการชั่วร้าย นั่นคือ การพยายามสร้างครอบครัวที่มี ‘สายเลือดบริสุทธิ์’ ขึ้น โดยหาสมาชิกจากแขกที่มาเช่าพักโรงแรมแห่งนั้น พร้อมกันนั้นก็จะลงมือกำจัดพวก ‘เลือดสกปรก’ แบบไม่เลือกหน้า ด้วยวิธีการโหดแสนโหด และวิปริตเหนือคำบรรยาย

เดิมทีเดียว Frontier(s) –ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก The Texas Chainsaw Massacre อย่างเห็นได้ชัด- ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาล 8 Films to Die For ประจำปี 2007 (หรือรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า HorrorFest) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกหนังสยองขวัญอิสระจำนวน 8 เรื่องมาจัดฉาย ให้ผู้ชมที่แสวงหาเลือดเนื้อและความตายบนจอภาพยนตร์ ดูกันให้ ‘อิ่มเลือด’ กันไปข้าง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาก็เกิดเหตุผิดแผนขึ้น เมื่อหนังดันไปได้รับเรต NC-17 จากคณะกรรมการพิจารณาเรตติ้งภาพยนตร์ของอเมริกา ส่งผลให้หนังถูกถอนออกจากโปรแกรม (อีก 7 เรื่องในปีนั้นได้แค่เรต R) และบริษัทผู้จัดจำหน่ายก็ตัดสินใจนำหนังฉบับ ‘ไม่แคร์เรตติ้ง’ ออกฉายแบบจำกัดจำนวนโรงในปีถัดมาแทน (Frontier(s) Unrated ฉายที่อเมริกาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2008 ก่อนดีวีดีออกวางจำหน่ายเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น)

แน่นอนว่า แง่มุมเรื่องความโหดเหี้ยม วิปริต ถึงเลือดถึงเนื้อ เป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ผู้ชมจำนวนไม่น้อย หันมามอง Frontier(s) ด้วยความสนใจ

อย่างไรก็ตาม ว่ากันตามเนื้อผ้าจริงๆ Frontier(s) ไม่ได้โหดเกินหน้าเกินตาหนังเรื่องอื่นที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันเท่าใดนัก (ดิฉันดูดีวีดีฉบับ Unrated) เปรียบเทียบกับหนังอย่าง Hostel ถ้านับเฉพาะปริมาณฉากโหด Hostel ยังมีมากกว่า อีกทั้งกรรมวิธีทรมานทรกรรมเหยื่อ ก็ยังวิปริตพิสดารเสียยิ่งกว่า Frontier(s) (แต่ก็น่าแปลกใจที่ Hostel ติดแค่เรต R)

พูดอีกแบบก็คือ Frontier(s) นั้น แม้จะเข้าข่ายหนังโหด ทว่าก็เป็นการ ‘โหดตามมาตรฐาน’ ไม่ใช่ ‘โหดโดดเด้ง’ ชนิดที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในโลกภาพยนตร์ แต่การที่ผู้ชมรู้สึกว่ามัน ‘โหดกว่าที่เป็นจริง’ นั้น น่าจะมาจากสาเหตุ 2 ประการด้วยกัน

หนึ่งคือ การที่หนังบอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง เคร่งเครียด โดยไม่เหลือที่ว่างให้กับ ‘อารมณ์ขัน’ และไม่ปล่อยให้ผู้ชมมีช่วงเวลาผ่อนคลายแม้แต่น้อยนิด (ช่วง 20 นาทีแรกของ Hostel ยังมีบรรยากาศสนุกสนานเฮฮาแบบหนังวัยรุ่นห่ามๆ หรือแม้กระทั่งในยามที่หนังเดินทางเข้าสู่ช่วงเวลาหฤโหดแล้ว ก็ยังอุตส่าห์แทรกใส่อารมณ์ขันเล็กๆ น้อยๆ พอให้ผู้ชมได้พักเหนื่อยจากการถูกทรมานประสาทบ้าง แต่ Frontier(s) ไม่มีอะไรอย่างที่ว่ามานั่น หนังเครียดแบบไม่ผ่อนผันตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ)

และสอง การที่ผู้ชมถูกข่มขู่ด้วยข้อมูลเบื้องต้นจำพวก หนังโหดมาก โหดเหลือเกิน โหดอย่างไม่เคยพบไม่เคยเห็น ฯลฯ ก็มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้เราดูหนังด้วยความรู้สึก ‘หวาดระแวง’ อยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกว่าบางสิ่งที่เลวร้ายมากๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เราพร้อมจะตกใจ และเรากลัวไปก่อนล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่มีเหตุรุนแรงอะไรเกิดขึ้นสักนิด (ประมาณว่า แค่แก๊งเด็กวัยรุ่นนั่งกินข้าวกับสมาชิกครอบครัววิปริต เราก็หลอนตัวเองไปแล้วว่า เดี๋ยวต้องมีใครสักคนหยิบขวาขึ้นมาจามหัวกันเป็นแน่)

ส่วนตัวแล้ว ดิฉันเห็นว่า Frontier(s) เป็นหนังที่ดูแล้วเหนื่อยกับการลุ้น มากกว่าจะสะอิดสะเอียนขนลุกขนพองกับภาพสยดสยอง กระนั้นก็ตาม ควรจะกล่าวย้ำเป็นการขีดเส้นใต้ไว้อีกรอบว่า ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าหนังไม่โหด เพียงแต่ว่า ถ้าคุณเคยเจอหนังอย่าง Hostel มาก่อน และเคยเกิดอาการเห็นเลือดจนจุกกับหนังอย่าง Haute Tension (สับ สับ สับ) มาแล้ว ดิฉันว่า คุณก็น่าจะเอาตัวรอดจาก Frontier(s) ไปได้โดยไม่บอบช้ำบุบสลายเท่าใดนัก

ในส่วนของแง่มุมทางการเมือง ซึ่งเป็นทั้งแรงบันดาลใจ ช่วงเปิดหัว-ปิดท้าย และยังปรากฏในหนังเป็นระยะๆ (ในรูปแบบของภาพข่าวความคืบหน้าของเหตุจลาจล) นอกจากนั้น ผู้ร้ายตัวเอ้ของหนังก็ยังเป็นตัวแทนของลัทธิการเมืองที่มีความคลั่งชาติอย่างสุดขอบ

ทว่าเป้าหมายการวิพากษ์วิจารณ์ของหนัง ก็ใช่จะจำกัดอยู่เพียงกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นักการเมืองคนหนึ่งคนใด หรือลัทธิทางการเมืองลัทธิหนึ่งลัทธิใดแต่เพียงเท่านั้น แต่มันแสดงให้เห็นภาพรวมของ ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ ในแง่ที่ว่า มนุษย์นั้น มีสัญชาตญาณทำลายล้างอยู่ในตัวสูงลิบ และพร้อมจะนำมันออกมาใช้ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน บ้างเพื่อสนองความทะยานอยากบ้าๆ ของตนเอง บ้างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด และบ้างก็มีเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นตัวตั้ง

ตัวละครทุกคนในหนังล้วนแล้วแต่ ‘มือเปื้อนเลือด’ กันถ้วนหน้า ทุกคนล้วนผ่านการทำร้ายและทำลายใครสักคนกันมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ชอบธรรมมากบ้างน้อยบ้างต่างกันเท่านั้นเอง

ช่วงต้นเรื่อง หนังให้ผู้ชมได้ยินเสียงของยาสมินพูดถึงทารกในครรภ์ของเธอว่า “ครั้งหนึ่ง ใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เกิดมาโดยมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่โลกที่ฉันอยู่กลับเป็นตรงกันข้าม จะมีใครที่ไหนอยากเกิดและเติบโตขึ้นในโลกที่เต็มไปด้วยความโกลาหลและเกลียดชังเช่นนี้?” หญิงสาวตัดสินใจไม่เก็บลูกไว้โดยให้เหตุผลว่า ต้องการพิทักษ์เขาจากความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก

ใครจะเชื่อ-ไม่เชื่อ เห็นด้วยหรือไม่ นั้นไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่หนังแสดงให้เห็นก็คือ มันไม่ใช่เรื่องสิทธิหรือความเสมอภาค แต่เป็นความบ้าคลั่งไร้ขีดจำกัด และสัญชาตญาณทำลายล้างที่ไม่อาจควบคุมต่างหาก ที่ทำให้โลกไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่อีกต่อไป

แต่มันกลายเป็นโลกแย่ๆ ที่คนโชคร้ายคือพวกที่อยู่นาน ตายช้า และใครก็ตามที่ตายก่อน ก็ต้องถือว่า โชคดีเหลือเกิน
...
Frontier(s) มีกำหนดเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา 31 กรกฎาคมนี้ แต่จะถูกตัดทอนหรือไม่และมาก-น้อยเท่าใดนั้นไม่ทราบ





กำลังโหลดความคิดเห็น