“ไชยา” ห่วงน้องกู๊ด เอเอฟ5 วี10 เครียดส่งผลต่อสุขภาพกาย-จิต สั่งกรมสุขภาพจิตดูแล ชี้ควรจัดอบรมตรวจสภาพภาพจิตใจก่อนแข่งขัน ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิตชี้ไม่มีอำนาจดูแลเพราะเป็นรายการเอกชน ระบุรายการมีการแข่งขันตลอดเวลา ถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ทำให้เด็กกดดันมาก
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ดูแล น.ส.สาธิกา ศิริปุญโญทัย หรือน้องกู๊ด V10 ผู้เข้าแข่งขัน “อคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 5” ซึ่งเกิดอาการป่วย ชักเกร็งเพราะความเครียด ในบ้านพักผู้แข่งขันระหว่างการฝึกซ้อมเต้น ทำให้ต้องรีบส่งโรงพยาบาล รวมทั้งตรวจสอบรายการดังกล่าวด้วย เนื่องจากหลังจากเห็นข่าวรู้สึกเป็นห่วง เห็นว่าเด็กถูกบีบคั้นมากเกินไป โดยตนอยากให้ตรวจสุขภาพของเด็ก ซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะตำหนิรายการ หรือต่อว่า ว่ารายการไม่ดี แต่อยากให้มีมาตรการป้องกัน และควรจะมีการอบรมเด็ก 1-2 ชั่วโมงก่อนจะเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ หากเกิดความเครียดหรืออยู่ในภาวะที่เสียใจ โดยเฉพาะคืนที่ต้องมีการโหวตให้ออกจากบ้าน เด็กที่ถูกโหวตออกจะเครียด และเสียใจมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายได้
“ผมไม่ได้ห่วงว่าใครจะเป็นแชมป์ หรือช้ำ แต่ห่วงสุขภาพจิตเด็กที่ต้องมีการแข่งขันตลอดเวลา หากเด็กมุ่งแต่จะล่าฝัน คิดแต่เรื่องแพ้ชนะ โดยไม่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ แล้วเกิดเป็นอะไรไประหว่างการแข่งขัน คนที่จะเสียใจคือ พ่อแม่ อยากให้จิตแพทย์เข้าไปอบรมให้ความรู้เด็กก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในบ้าน ว่าการแข่งขันเหมือนกีฬามีแพ้ ชนะ จะได้ไม่เกิดความเครียด” นายไชยากล่าว
นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า เนื่องจากรายการดังกล่าวเป็นของเอกชน ทำให้อาจจะไม่สามารถออกนโยบายเพื่อให้รายการปฏิบัติตามได้ แต่อยากฝากไปถึงรายการ ว่า การรับเด็กเข้ามาร่วมการแข่งขันจึงควรทดสอบสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมแข่งขันก่อน เพราะรายการมีการแข่งขันกันสูงทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ ยิ่งเป็นรายการที่ออกอากาศสดตลอด 24 ชั่วโมง มีคนจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ยิ่งสร้างความกดดันมากกว่า เพราะผู้แข่งขันจะไม่สามารถทำตามใจตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของรายการว่าเห็นความสำคัญของความพร้อมทางใจเด็ก และต้องการให้กรมสุขภาพจิตช่วยเหลือหรือไม่
“การทดสอบทางจิตจะสามารถบอกได้ว่าเด็กมีจุดอ่อนตรงไหนบ้างมีสุขภาพทางจิตเป็นอย่างไร แม้ว่าจะไม่สามารถบอกได้ 100% แต่ก็จะเห็นสัญญาณว่า เด็กคนไหน เมื่อพบความเครียด จะสามารถรับไหว หรือไม่ไหว และถึงทราบก่อนก็อาจเกิดปัญหาได้ เพราะเด็กต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันตลอดเวลา”นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว