ประธานคณะกรรมการมรดกโลก ระบุ ผิดหวังรัฐบาลไทยชุดนี้มาก พร้อมทั้งเสียใจในการกระทำของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาก ขณะนี้แทบไม่มีทางนำสมบัติชาติ และแผ่นดินที่เป็นอธิปไตยไทยคืนมา เว้นทางเดียว คือ รัฐต้องยกเลิกสัญญาที่ลงนามกับเขมรล่าสุด เผย กระแสปรับคณะกรรมการมรดกชุดใหม่ “ปองพล” นั่งเก้าอี้ พร้อมยกชุดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการมรดกโลก เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปลงนามสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า การกระทำเช่นนี้ แทบจะเป็นการปิดประตูลั่นดาลประเทศไทย ให้สูญเสียอธิปไตยบริเวณเขตพื้นที่อนุรักษ์รอบเขาพระวิหาร เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศไปลงนามกับทูตกัมพูชา ก็คือ เป็นการตกลงระหว่างประเทศ ก็คือเป็นการลงนามของประเทศไทย และ ครม.รับรอง นั่นแปลว่าประเทศไทยยอมรับไปแล้ว
ทั้งนี้ ศ.ดร.อดุล เล่าย้อนถึงการยืนหยัดยืนยันต่อสู้เพื่ออธิปไตยด้านการอนุรักษ์ ว่า ได้ยืนยันมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2548 ในยุครัฐบาลทักษิณ ที่เจ้าหน้าที่ทั้งจากกรมสนธิสัญญาและกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศได้แวะเวียนมาหารือในกรณีดังกล่าว ก็ยืนยันว่า อย่างไรก็ต้องเสนอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกคู่กันกับกัมพูชา
“ปี 2548 เขาเชิญผมไปดูเขาพระวิหาร ก็ไปถ่ายรูป และไปพบว่า เป็นลักษณะพิเศษของศาสนสถานที่ถูกสร้างเพื่อบูชาพระศิวะ จะมีบารายประดับอยู่ เมื่อไปเราก็พบว่ามีบารายจริง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เข้าประเทศไทย และอยู่ในพื้นที่ฝั่งไทยด้วยคณะกรรมการมรดกโลกได้เสนอมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2548 ว่า จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกคู่กับกัมพูชา เพราะการขึ้นทะเบียนนั้นแม้เขาพระวิหารจะเป็น Core หลักของโบราณสถาน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่การพัฒนาอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย”
ศ.ดร.อดุล กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาจำนวน 7 คน เดินทางมาหารือในเรื่องเขาพระวิหารอีกครั้ง โดยถามว่าจะดีหรือไม่ หากให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหารฝ่ายเดียว และมีข้อความความตกลงของไทยต่อท้าย ซึ่งก็ได้ตอบยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ ควรขึ้นทะเบียนคู่อย่างที่แนะนำมาตลอด
“อาจจะเป็นเพราะว่า อธิบดีกรมสนธิสัญญาคนเก่าคงจะยืนยันกับผู้ใหญ่ไปอย่างที่ผมยืนยัน จึงถูกโยกย้ายไป”
ต่อข้อซักถามถึงหนทางการแก้ไข ศ.ดร.อดุล ตอบอย่างหนักใจว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ ถือว่าการลงนามของนายนพดลเป็นการกระทำในนามของประเทศไทย เว้นแต่เพียงทางเดียว คือรัฐบาลต้องขอยกเลิกสัญญาการลงนามดังกล่าว
“แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้เขาคงไม่ทำ ก็อาจจะต้องเป็นรัฐบาลชุดใหม่”
และในฐานะที่อยู่กับเขาพระวิหารมาแทบจะเรียกได้ว่าตลอดชีวิต ผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกชาติและมรดกโลกกล่าวอย่างสะเทือนใจว่า
“ระยะหลังผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ เพราะเข้ารับการผ่าตัดกระดูกก้านคอ ต้องใส่เหล็ก จนขณะนี้ยังเดินเองไม่ได้ ต้องเกาะรถ ช่วยเหลือตัวเองอะไรยังไม่ได้ แต่เมื่อผมทราบข่าวว่า วานซืนรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศไทยไปลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวนั้น ผมต้องบอกว่า ผมเสียใจกับการกระทำของรัฐบาลไทยชุดนี้ และผิดหวังต่อการกระทำของคุณนพดล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนนี้มาก เพราะสิ่งที่เสียไปคืออธิปไตยหลายสิบกิโลเมตรของผืนแผ่นดินไทยที่ต้องเสียไป และอธิปไตยด้านการอนุรักษ์มรดกชาติด้วย”
อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมการมรดกโลก คาดการณ์ว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่แคนาดา วาระกรณีเขาพระวิหาร น่าจะผ่านการขึ้นทะเบียนในส่วนของตัวปราสาทก่อน และวาระของการขึ้นทะเบียนพื้นที่พัฒนาฝั่งไทย น่าจะอยู่ในวาระหน้าคืออีก 2 ปี
“คณะกรรมการมรดกโลกจะมีขอบข่ายเวลาให้ประเทศผู้ยื่นเรื่องได้ทำงาน อยู่ที่ประมาณ 2 ปี หรืออาจจะเร็วกว่านั้น แต่ความเป็นจริง คือ สิ่งที่เขมรทำมาตลอดคือ การลอบบี้หรือการวิ่งเต้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเองในระดับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในขณะที่ไทยแทบไม่ได้ทำเลย เขมรทำเยอะมาก อย่างที่เห็นเช่นกับฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น ถ้าคณะกรรมการไม่แข็งจริงก็คงเป็นเรื่องยาก”
นอกจากนี้ ศ.ดร.อดุล ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการเปลี่ยนประธานมรดกโลกว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ได้เดินเรื่องเปลี่ยนกรรมการมรดกโลกชนิด “ยกชุด”
“อันนี้ก็มีคนมาพูดให้ฟังนะ ว่า ทาง สผ.เขามีคำสั่งเปลี่ยนชุดคณะกรรมการมรดกโลก ประธานคณะกรรมการจะเอา คุณปองพล อดิเรกสาร มาทำ แล้วให้ผมไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รวมถึงเปลี่ยนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคน”