xs
xsm
sm
md
lg

วิชามารบีบ “หมอวิทิต” พ้น อภ.เพื่อปลดบอร์ดเก่ายกชุดตั้งชุดใหม่เอื้อประโยชน์แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฉ“หมอวิทิต”ตกที่นั่งลำบาก เหตุถูกบีบให้ออก เจาะยางทำให้ อภ.อ่อนแอหวังผลทางธุรกิจ ด้าน “หมอวิชัย” ตอกบอร์ด อภ.ใหม่น่าตลก ไม่มีใครจัดเจนเรื่องเภสัชสักคนเดียว ผิด พ.ร.บ.อภ.เต็มๆ พร้อมแบกข้อมูลตอบข้อคำถามศาลปกครองกลาง เชียร์ผู้ป่วยฟ้อง “ไชยา” ต่อ ป.ป.ช.เข้าข่ายทำให้เกิดความเสียหายแล้ว ด้านเลขาฯ คนสนิท ชี้แค่ทำให้ระคายเคืองแต่ไม่บาดเจ็บ จับตาประชุมใหญ่คณะกรรมการร่วมฯ เข้าถึงยา นัดถก 24 มิ.ย.นี้
นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข
แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่จะมีการปลดคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.) มีผู้บริหารระดับสูงของ สธ.บางคนได้มีความพยายามกดดันให้ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการอภ.ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้จำนวนกรรมการบอร์ดอภ.จำนวนไม่ครบจนไม่สามารถบริหารงานได้ และเป็นเหตุให้ปลดบอร์ดชุดเก่าทั้งหมดเพื่อแต่งตั้งใหม่ แต่เนื่องจาก นพ.วิทิตมีสัญญาในการดำเนินงาน หากลาออกก่อนจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ อภ.เป็นเงินกว่า 1.7 ล้านบาท

“นพ.วิทิตไม่ยอม จึงมีข้อเสนอว่า ให้ลาออก และจะเสนอให้กลับเข้ามาเป็นผู้อำนวยการ อภ.ใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว นพ.วิทิตก็ไม่ยอม จนขณะนี้ อภ.มีบอร์ดชุดใหม่แล้ว แต่ นพ.วิทิตก็ยังถูกหมายหัวที่จะต้องออกจากตำแหน่ง ตาม นพ.วิชัยไป เนื่องจากมีคนบางกลุ่มพยายามเจาะยาง อภ.ให้อ่อนแอ เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ”แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว

แหล่งข่าวฯ กล่าวด้วยว่า เหตุที่บางคนบางกลุ่มต้องการให้อภ.อ่อนแอเนื่องจาก ผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจที่ภายหลังอภ.ได้ปรับปรุงเป้าหมายทางธุรกิจนอกจากสโลแกน “อภ. ผลิตยาคุณภาพ” เป็น “จีพีโอ เฮลท์แคร์” ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพทั้งหมด โดยเฉพาะยาลดไขมันของบริษัทยาแห่งหนึ่งที่มีราคาประมาณ 60-70 บาท ซึ่งอภ.เตรียมจะวางจำหน่ายในราคา ไม่เกิน 10 บาท หากวางจำหน่ายอภ.จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด50% สร้างรายได้ให้กับอภ.ปีละ 400-500 ล้านบาท และบริษัทยาที่มียาใกล้เคียงกันจะได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงพยายามให้อภ.อ่อนแอมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า บอร์ดอภ.ชุดใหม่ที่นายไชยาตั้งขึ้นมานั้นถือว่าใช้ดุลยพินิจที่ไม่สุจริต และผิดต่อพ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรมที่ระบุไว้ชัดเจนว่า กรรมการบอร์ดอภ.จะต้องมีความจัดเจนในด้านต่างๆ อาทิ เภสัชศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ แต่เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า บอร์ดอภ.ชุดใหม่นี้กลับไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเภสัชศาสตร์แม้แต่คนเดียว ทั้งที่อภ.เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ดังกล่าว

“ไม่เพียงเท่านี้ นายไชยายังพูดอีกว่า กรรมการบอร์ดอภ.บางท่าน ทางพรรคพลังประชาชนฝากมา ถือว่าเป็นการเอาพรรคเอาพวกเข้ามาทำงาน โดยมิได้คำนึงถึงคุณสมบัติในการทำงาน ถือว่าเป็นเรื่องตลกที่สุด ทั้งนี้ได้เตรียมพร้อมที่จะตอบข้อซักถามของศาลปกครองกลาง ที่นัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ให้คุ้มครองชั่วคราวจากกรณีที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรีให้ปลดคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ทั้งนี้หากนายไชยาไม่เดินทางไปก็ถือว่าเสียโอกาสที่จะได้ให้ข้อมูลกับศาล” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เห็นด้วยกับภาคประชาชนทั้งเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วย นักวิชาการ นักกฎหมายหารือว่าจะไปฟ้องร้องนายไชยาต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)หรือไม่ ในกรณีที่ประกาศทบทวนการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล)ในช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่งทำให้เกิดความเสียหาย เพราะขณะนึ้ความเสียหายได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแล้ว
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.
“ตัวอย่างเช่น ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง โคลพิโดเกรล ที่ขณะนี้ยังไม่มีนำเข้ายาที่ทำซีแอลมีราคาประมาณ 2 บาท จากที่ขายในท้องตลาดราคา 70 บาท ทำให้โรงพยาบาลต่างๆร้อยทั้งร้อยที่ได้รับงบประมาณแบบเหมาะจ่ายจะไม่ใช่ยาราคาแพงในการรักษาผู้ป่วยแต่ใช้ยาชนิดอื่นแทน อาทิ ยาแอสไพริน แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะทำให้หลอดเลือดสมองแตก ซึ่งผลกระทบอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อน หรือเป็นอัมพาตได้ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนำไปฟ้องร้องได้”นพ.วิชัย กล่าว

ด้าน นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ได้มอบหมายให้นิติกรของสธ.เป็นตัวแทนในการไปให้ข้อมูลกับศาลปกครองกลางในวันที่ 18 มิ.ย.เวลา 10.00น. ทั้งนี้จะชี้แจงเป็นเอกสารต่างๆ ไม่จำเป็นต้องไปด้วยตนเอง เพราะมีงานที่ค้างอยู่จะต้องทำ

นายสุพจน์ ฤชุพันธุ์ เลขานุการรมว.สธ. กล่าวว่า การฟ้องครั้งศาลปกครองกลางถือว่าไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะตามพ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2549 ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะปลดบอร์ดอภ.แล้วตั้งขึ้นใหม่ได้โดยมีเหตุผลหรือไม่ก็ได้ เมื่อนายไชยาเห็นว่า บอร์ดไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากมีกรรมการบอร์ดลาออกหลายคนก็จะต้องมีการแต่งตั้งใหม่ เพื่อเข้าไปทำงาน

นายไชยามอบหมายให้อัยการศาลปกครองกลางเป็นผู้ทำหน้าที่ โดยเตรียมเอกสารหนังสือจากนายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เสนอให้มีการทบทวนซีแอล รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับซีแอลทั้งหมด โดยมั่นใจว่าเพียงพอในการใช้เป็นเอกสารหลักฐานยื่นต่อศาลปกครองกลาง

“ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งระบุชัดอยู่แล้วว่าการที่รัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 182 หรือไม่ เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด ตามมาตรา 91 และ 92 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ป.ป.ช. อีกทั้งไม่มีผลย้อนหลังถึงการทำงานก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยอีกด้วย ดังนั้นรับรองว่าการทำงานของนายไชยาถือว่าชอบธรรมตามกฎหมาย นอกจากนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า ภรรยารัฐมนตรีจะต้องแจ้งหากถือหุ้นเกิน 5% ด้วย ทั้งนี้นายไชยาคงไม่ฟ้องกลับหมอวิชัยอยู่แล้ว จะฟ้องก็ฟ้องไป พวกนี้ถือเป็นเรื่องไร้สาระ หากฟ้องมาก็แก้ต่างไปเท่านั้น แค่ทำให้ระคายเคืองแต่ไม่บาดเจ็บ” นายสุพจน์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดสธ.ในฐานะมิสเตอร์ซีแอล เลขานุการคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ได้มีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ การเข้าถึงยา จากวันที่ 18 มิ.ย.ป็นวันที่ 24 มิ.ย.เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยถือว่าเป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรก ซึ่งการเลื่อนการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีเหตุผลหรือปัญหาใดๆ เพียงเวลา ความพร้อมไม่ตรงกันเท่านั้น ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ จึงมีผู้บริหารระดับสูงตอบรับเข้าร่วมประชุมครบทั้งหมด ส่วนเนื้อหาการประชุมนั้นขอไม่เปิดเผยรายละเอียด
กำลังโหลดความคิดเห็น