xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมเนรมิตพื้นที่สีลมให้มีชีวิตชีวา คุมป้ายโฆษณา-เปิดทางจักรยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เตรียมเนรมิตพื้นที่สีลมให้มีชีวิตชีวา หรือ Lifely Silom จัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมเตรียมควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่สีลมงดติดป้ายหาเสียงในย่านดังกล่าว ขณะเดียวกัน เดินหน้ารณรงค์โครงการใช้จักรยานในภาวะวิกฤตพลังงานทำเส้นทางจักรยานเชื่อมต่อเป็นวงแหวนระยะทาง 3 กิโลเมตรในย่านสีลม สาทร พร้อมเดินหน้าประชุมเอเซียน+6 เมืองใหญ่ลดโลกร้อน 26-27 มิ.ย.นี้ที่กรุงเทพฯ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารว่า กทม.เตรียมปรับปรุงพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในบริเวณย่านถนนสีลม สาทร และสุขุมวิท โดยจะเริ่มต้นที่ถนนสีลมด้วยการปรับให้บ้านดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ทั้งกลางวันกลางคืนเหมือนกับเมืองสิงคโปร์ ฮ่องกง และโตเกียวซึ่งจะมีการพัฒนาถนนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการจัดระเบียบทางเดิน มีการจัดระบบขยะและสิ่งปฏิกูล ระบบแสงสว่างตอนกลางคืน มีการออกแบบป้ายบอกทางรวมถึงอุปกรณ์ประกอบถนน (Street Furniture) ที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งการออกแบบตู้โทรศัพท์ ป้ายรถเมล์ เป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่สีลม ทั้งนี้จะมีการแบ่งถนนสีลมเป็น 3 พื้นที่คือบริเวณศาลาแดงเป็นพื้นที่ Active Zone ถัดมาจะเป็นย่านพาณิชยกรรมและธุรกิจ และปิดท้ายด้วยพื้นที่สำหรับการพักผ่อนซึ่งจะสิ้นสุดที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่สีลมให้เป็น Lifely Silom จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่ และมีความเจริญมากขึ้นแม้ว่าตัวพื้นที่จะมีการเติบโตด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แลในอนาคตจะให้พื้นที่สีลมเป็นพื้นที่ควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณาและป้ายหาเสียง

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กทม.ได้จัดทำโครงการรณรงค์ใช้จักรยานในภาวะวิกฤติพลังงานโดยเตรียมทดลองทำเลนสำหรับรถจักรยานนำร่องในพื้นที่ชั้นในย่านธุรกิจเป็นระบบเชื่อมโยงกันทั้ง ถ.สาทร ถ.สีลม ถ.พระราม 4 และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ระยะทาง 3 ก.ม. และมีจุดจอดทั้งสิ้นได้ประมาณ 290 คัน โดยช่องทางจักรยานดังกล่าวจะอยู่ในช่องทางรถยนต์ จะตีเส้นจราจร กว้าง 1.20 ม. แยกออกมาจากช่องจราจรรถยนต์ และจะมีการบีบช่องจราจรให้เหลือประมาณ 3 เมตร ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับที่พื้นที่ชั้นในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ใช้อยู่ สำหรับจุดใดที่ติดป้ายศาลาที่พักผู้โดยสาร ก็จะใช้วิธีทำเลนจักรยานอ้อมไปด้านหลังแทน นอกจากนี้ สจส.จะได้ปรับโครงสร้างในบางส่วนที่เป็นปัญหาด้วย เช่น ย้ายศาลาที่พักผู้โดยสาร ปรับทางเท้าในบางจุดที่ไม่เรียบเสมอกัน ปาดคันหิน เป็นต้น ทั้งนี้ กทม.จะเริ่มรณรงค์ใช้จักรยานในภาวะวิกฤติพลังงานในที่ 18 มิ.ย.เวลา 16.00 น.เริ่มต้นที่สวนลุมพินี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนให้ความสนใจร่วมปั่นจักรยานเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่มีประชาชนโดยเฉพาะพนักงานบริษัททำงานอยู่มาก หากมีการหันมาปั่นจักรยานแทน จะช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองได้ด้วย

นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า กทม.ยังได้ประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และ สน.ในพื้นที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ปั่นจักรยานในเส้นทางดังกล่าวด้วย และหากประชาชนให้การตอบรับดี และไม่ทำให้สภาพการจราจรในย่านนั้นๆ ติดขัด กทม.จะทำเส้นทางจักรยานดังกล่าวเพิ่มเติมไปยังย่านสยามสแควร์ จุฬาฯ สีลมและพญาไท อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้จะมีการประเมินผลการใช้จักรยานทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หากมีปริมาณผู้ใช้จำนวนมากกทม.ก็อาจจะมีการออกกฎหมายรองรับหรือรื้อฟื้นการใช้ใบขับขี่จักรยาน ซึ่งในปัจจุบันมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับผู้ใช้จักรยานอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กทม.ร่วมกับ UNDP สถาบันพัฒนาเมือง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดประชุม นานาชาติประเทศกลุ่มอาเซียนกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่มีสาเหตุจากการใช้พลังงานโดยเฉพาะพลังงานน้ำมันที่ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยจะจัดประชุมในวันที่ 26-27 มิถุนายน 2551 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้จะเป็นแนวทางกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนสำหรับเมืองสมาชิกอาเซียน และเป็นแบบอย่างในการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองหรือประเทศอื่นต่อไป ทั้งนี้ กทม.ได้เชิญ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของประเทศอาเซียน และ 6 เมืองใหญ่ ร่วมประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น