xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ลดโลกร้อนทำจักรยานให้ยืม เพิ่มเส้นทาง 2 ล้อ 41 สาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เดินหน้าดันนโยบายลดภาวะโลกร้อน Bangkok Green Agenda 2008 ขับเคลื่อนทุกภาคสู่กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว ขณะที่ 18 มี.ค.นี้ เชิญเลขาฯ อาเซียน ทูตอาเซียน 10 ประเทศ และอีก 4 ประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีหารือรายละเอียดกรอบการจัดประชุมนานาชาติลดโลกร้อนที่ กทม. พร้อมคลอดโครงการจักรยานให้ยืม 1,000 คัน นำร่องเมษายนนี้ และทำทางจักรยานเพิ่มอีก 41 สาย 156 กิโลเมตร

ที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมจัดประชุมผลักดันแผนลดปัญหาภาวะโลกร้อน ว่า กทม.จะนำผลการประชุมที่ได้จากการประชุมการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับรัฐมนตรี The Tenth Special Session of the Governing Council/Global Ministerial Environment Forum (Council / Forum) ที่ราชรัฐโมนาโก มาต่อยอดทั้งในเรื่องการนำเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือกมาใช้เพื่อขับเคลื่อนกทม.สู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว Low Carbon Economy หรือ Green Economy เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนโดยกำหนดเป็นวาระกรุงเทพฯ Bangkok Green Agenda 2008 ในแนวทาง 5 แนวทาง คือ 1.Green Society 2.Green Living 3.Green Generation 4.Green Zone และ 5.Green Economy ให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปทั้งระบบอย่างจริงจัง

สำหรับวาระกรุงเทพฯ Bangkok Green Agenda 2008 ในแนวทาง 5 แนวทาง คือ 1.Green Society คือ การส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน การใช้จักรยานแทนรถยนต์ การเดินในระยะทางใกล้ๆ การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแทนการเดินทาง ทั้งนี้ กทม.จะจัดโครงการจักรยานสาธารณะในพื้นที่กรีนโซนของ กทม.ชั้นใน เช่น ถนนสีลม สาทร และสุขุมวิท ซึ่งมีรถไฟฟ้ามีรูปแบบคล้ายกับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน โดย กทม.จะนำจักรยานจำนวน 1,000 คัน มาให้ประชาชนสามารถยืมไปใช้บริการเมื่อต้องการเดินทางในระยะไม่ไกล โดยจะให้บริการฟรี แต่จะต้องมีการจ่ายค่ามัดจำหรือค่าประกันรถจักรยาน หรืออาจจะ 3 ชั่วโมงแรกฟรีชั่วโมงต่อไปเสียค่าบริการ อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ สจส.นำรายละเอียดกลับไปปรับปรุงอีกครั้งก่อนเสนอมาให้ที่ประชุมผู้บริหารพิจารณาใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการจักรยานให้ยืม 1,000 คันจะนำร่องในเดือนเมษายนนี้ ส่วนเส้นทางจักรยานจะทำเพิ่มเติมอีก 41 สายระยะทาง 156 กิโลเมตร จากที่สำเร็จแล้ว 22 สาย 182 กิโลเมตร โดยอยู่ระหว่างการขอจัดสรรงบประมาณ 5.8 ล้านบาท นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การวางระบบ WIFI อีกด้วย

2.Green Living การส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัย การปรับเปลี่ยนวิถีการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายในสวนสาธารณะ 3.Green Generation การสร้างคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา โดยจะมีการบรรจุเป็นหลักสูตรให้ในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อให้เด็กทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้เรียนรู้และตระหนักถึง ตลอดจนจะขยายผลอาสาสมัครรักษ์สิ่งแวดล้อม

4.Green Zone การกำหนดพื้นที่สีเขียวที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และ 5.Green Economy การดึงภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ดึงภาคีธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ต่างๆ เข้ามาสนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในวันที่ 18 มีนาคม 2551 จะได้เชิญนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการเอเซียน ร่วมประชุมกับเอกอัครราชทูตจาก 10 ประเทศอาเซียน และอีก 4 ประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ก่อนที่จะมีการจัดประชุมนานาในการลดโลกร้อนในระดับภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่ง กทม.เป็นเจ้าภาพ ที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหาข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานระดับอาเซียน โดยนำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนและก้าวไปสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งยังเป็นการขยายผลการประชุมระดับนโยบายในครั้งนี้ให้เกิดผลสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกัน

นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้มอบหมายให้นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม. ประสานเพื่อนัดหมายรองผู้ว่าฯ นนทบุรี เพื่อหารือถึงมาตรการฟื้นฟูลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าควรสร้างแพลูกบวบเพื่อกันผักตบชวาไม่ให้เข้ามาในลำน้ำ ซึ่ง กทม.จะผนึกกำลังรณรงคือย่างเต็มรูปแบบ ส่วนปัญหาการกัดเซาะชายทะเลบางขุนเทียนกทม.ได้ปลูกป่าชายเลน และจะได้นำ ที-กอยน์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่บริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาไว้และเหมาะสมที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ทาง กทม.ได้ขอให้ มท.1 ช่วยประสานกระทรวงคมนาคมเพื่อขอนำพื้นที่ใต้ทางด่วนมาสร้างเป็นสวนสาธารณะเพราะขณะนี้ยังมีบางจุดที่เป็นปัญหาอยู่ ซึ่งทาง มท.1 ก็ได้สั่งการปลัด มท.ดำเนินการให้แล้ว ในเรื่องจุดชมวิว กทม.ได้มอบหมายให้สำนักผังเมืองไปศึกษาโครงการที่เคยมีอยู่แล้วหรือโครงการใหม่แล้วนำกลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะผู้บริหารภายใน 2 สัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น