xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยงูกัดหน้าฝน หมอห้ามใช้เชือก-ผ้ารัดแน่นเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตือนภัยงูชุกในหน้าฝน เลี่ยงอยู่ในที่แคบ มืด รกพงหญ้า พร้อมแนะหากถูกงูกัด ห้ามใช้เชือกหรือผ้ารัดแน่นเกินไป และควรรีบพบหมอให้เร็วที่สุด

นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ โฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถิติของสำนักระบาดวิทยาปี พ.ศ.2549 รายงานผู้ถูกงูพิษกัด 8,299 ราย เสียชีวิต 5 ราย อัตราการถูกงูพิษกัด 13.25 อัตราตาย 0.01 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตายร้อยละ 0.06 พบมากที่สุดในฤดูฝน ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเข้าฤดูฝนจึงควรระวังสัตว์ที่มีพิษชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองูที่อาศัยอยู่ตามสภาพแวดล้อมใกล้ตัวเรา ไม่ว่าจะบริเวณสวนข้างบ้าน ทุ่งหญ้า ป่า หรือในน้ำ ส่วนใหญ่เป็นงูไม่มีพิษ

สำหรับงูพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์เพราะมีคนถูกกัดอยู่บ่อยๆ มี 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา หากถูกงูกัดแต่ไม่ทราบชนิดของงู ต้องแยกก่อนว่าเป็นงูพิษหรืองูไม่มีพิษ โดยดูจากแผลที่ถูกกัด ถ้าถูกงูพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1-2 แผลเสมอ มีเลือดออกซึมๆ แต่ถ้าไม่พบรอยเขี้ยวแสดงว่าไม่ใช่งูพิษ

ทั้งนี้ การถูกงูพิษกัดไม่จำเป็นต้องเกิดอาการรุนแรงเสมอไป ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดไม่มีอาการอะไรเลย มีเพียง 25% ที่เกิดอาการพิษของงู

โดยทั่วไปเราจำแนกพิษของงูได้เป็น 4 ประเภทดังนี้ พิษต่อระบบประสาท ได้แก่พิษของงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม ผู้ที่ได้รับพิษจะทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ลืมตาไม่ได้ กลืนลำบาก และที่สำคัญคือทำให้หยุดหายใจเสียชีวิตได้ พิษต่อโลหิต ได้แก่ พิษของงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้มีเลือดออกตามที่ต่างๆ ตามผิวหนัง เหงือก อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด พิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ พิษงูทะเล ทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะสีดำเนื่องจากกล้ามเนื้อถูกทำลายและพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่พิษงูเห่า งูจงอาง ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น แขนขาหมดแรง กระวนกระวาย ลิ้นแข็ง น้ำลายมากกลืนลำบาก เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจและเสียชีวิตด้

สำหรับแนวทางการรักษา คือประเมินผู้ป่วยและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ซักประวัติ ตำแหน่งที่ถูกงูกัด สถานที่ ที่ถูกงูกัด ชนิดของงูหรือการนำซากงูมา เวลาที่ถูกกัด ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการหลังถูกงูกัด อาการที่เกิดขึ้น ตรวจร่างกาย รอยเขี้ยวและขนาด บริเวณแผลที่ถูกกัดหากมีเซรุ่มแก้พิษงูพร้อมให้ ควรคลายเชือกรัดออก ในกรณีที่ผู้ป่วยเอาเชือกรัดเหนือแผลมา ทำความสะอาดบริเวณแผลที่ถูกงูกัด ตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยพิจารณาตามชนิดของพิษงูที่กัด ประเมินความรุนแรงเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติคลายความกังวล

โฆษกกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันไม่ให้ถูกงูกัดคือ หลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบหรือบริเวณที่รกมีหญ้าสูง โดยเฉพาะเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านควรใส่รองเท้าหุ้มข้อเท้า ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว เตรียม ไฟฉายไปและไม้ ถ้าต้องพักแรมในป่าอย่านอนกับพื้น หากถูกงูกัดควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนถึงมือแพทย์ โดยการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่นๆ ทาแผล บีบเลือดบริเวณบาดแผลออกเท่าที่ทำได้ ไม่ควรใช้ปาก ดูดเลือดหรือเปิดปากแผลเองด้วยของมีคม ไม่ควรใช้ผ้าหรือเชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกกัดแน่นเกินไปเพราะจะทำให้แขนขา ส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งอันตรายมาก

หากจะรัด ควรรัดให้แน่นพอที่สามารถสอดนิ้วมือเข้าใต้วัสดุที่ใช้รัดได้ 1 นิ้วมือรัดทั้งเหนือ และใต้แผลประมาณ 3 นิ้วมือ และรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น