xs
xsm
sm
md
lg

เผยคนไทยป่วยซึมเศร้ากว่า 3 ล้านคน หวั่นศก.ทรุดทำคนฆ่าตัวตายเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต หวั่นเศรษฐกิจทรุดกระตุ้นคนคิดสั้นมากขึ้น เผย คนไทยป่วยซึมเศร้าพุ่ง กว่า 3 ล้าน ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว และไม่ได้รับการรักษา ส่วนตัวเลขประมาณการคนฆ่าตัวตายสำเร็จปี 50 ทะลุกว่า 3 พันคน ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า ชี้ สังเกต 13 สัญญาณอันตรายของคนคิดจบชีวิตตัวเอง

วันนี้ (30 เม.ย.) นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงการประมาณการจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2551 ว่า ผลจากการรวบรวมจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจากใบมรณบัตรของกระทรวงมหาดไทย ในช่วงเดือน ม.ค.- ธ.ค.2550 พบว่า ประชาชนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,458 คน คิดเป็นอัตรา 5.48 ต่อประชากรแสนคน ในจำนวนนี้เป็นชาย 2,703 คน และเป็นหญิง 755 คน สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนคนฆ่าตัวตายสำเร็จเกินกว่า 100 คน มีหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ 227 คน กทม.122 คน เชียงราย 132 คน ชลบุรี 120 คน นครราชสีมา 113 คน และจังหวัดที่มีตัวเลขการฆ่าตัวตายสูง เช่น นครศรีธรรมราช 90 คนอุดรธานี 84 คน นครสวรรค์ 80 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อทเยบสัดส่วนจำนวนประชากรแล้ว มีเพียง 2 จังหวัดที่ถือว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด คือ ประมาณ 13 คนต่อประชากรแสนคน ได้แก่ จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่

“จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้ต้องมีการประมาณการจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จในปี 2551 ซึ่งกรมสุขภาพจิตตั้งเป้าว่า จะต้องไม่สูงกว่าปี 2550 โดยลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยให้ไม่เกิน 5.3ต่อประชากรแสนคน หรือไม่เกิน 3,341 คน หรือลดลง 117 คน แม้ว่าจะมีปัจจัยลบในด้านต่างๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคมที่แย่ลง อาจจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งรวมถึงสภาวะที่กระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายมากขึ้นด้วย” นพ.ม.ล.สมชาย

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่น่าเป็นห่วงและเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายอีกโรคหนึ่ง คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งองค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 โรคซึมเศร้าจะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียที่สำคัญเป็นลำดับที่ 2 สำหรับประเทศไทย กรมสุขภาพจิตได้สำรวจอัตราความชุกของโรคซึมเศร้าชนิดต่างๆ ทั้งซึมเศร้าชนิดรุนแรง ซึมเศร้าเรื้อรัง และความผิดปกติทางอารมณ์แบบมีอาการทางจิต พบว่า มีอัตราความชุกประมาณ 4.76% ของประชากร หรือประมาณ 3 ล้านคน ทั้งนี้ จากปี 2547-2549 จากจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 3 ล้านคน มีผู้มารับการรักษาพยาบาลเพียง 116,847 คน เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และ ไม่คิดว่าอาการซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งอันตรายมาก

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิตได้นำเสนอการประมาณจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยปี 2551 รวมทั้งนำเสนอตัวชี้วัดแก่สำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอัตราเพิ่มของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ที่อาจจะมีปัญหาเพิ่มขึ้น กรมสุขภาพจิตประมาณ ว่า ในปี 2551 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,002,789 คน ขณะที่มีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและมีโอกาสได้รับการรักษาเพียง 130,341 คน

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับสัญญาณอันตรายของโรคซึมเศร้าและการพยายามฆ่าตัวตายนั้น คนที่คิดจะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักจะมีอาการหรือคำพูดที่บ่งบอกอะไรบางอย่าง การสังเกตว่าคนใกล้ชิดมีอาการอย่างใดอย่างหรนึ่งของโรคซึมเศร้าที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้หรือไม่ มีอยู่ 13 ข้อ ด้วยกัน คือ
1.มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทานอาหารและการนอนอย่างเห็นได้ชัด อดอาหาร นอนไม่หลับตลอดคืน ฯลฯ 2.มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว ทำลายของหรือทำร้ายคนอื่นและตัวเอง อย่างไม่มีสาเหตุหรือเหตุผลมาสนับสนุน 3.เก็บตัวเงียบ ไม่สุงสิงกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเหมือนเคย 4.หนีออกจากบ้าน 5.มีอาการเบื่อหน่าย ไม่มีสมาธิ 6.อาจเริ่มหันมาดื่มเหล้า หรือใช้ยาเสพติด 7.เริ่มไม่ยอมเรียนหรือไม่ยอมทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือทำไปอย่างลวกๆ ให้เสร็จๆ ไป โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร 8.ไม่ใส่ใจในการแต่งตัวหรือหน้าตา เหมือนแต่ก่อน 9.มีบุคลิกเปลี่ยนไปอย่างมาก เช่น จากเดิมเคยเป็นคนช่างคุย กลับเก็บตัวเงียบ หรือเคยเป็นคนอารมณ์ดี ชอบแหย่เพื่อนฝูง กลับกลายเป็นคนอารมณ์ร้อนหงุดหงิด ไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วย

10.บ่นถึงอาการเจ็บป่วย ที่ไม่ได้ป่วยจริง เช่น ปวดหัวมาก หรือแขนขาไม่มีแรง รู้สึกชา เจ็บไปหมด ฯลฯ 11.มักจะพูดถึงหรือใส่ใจกับเรื่องความตายบ่อยๆ เริ่มมอบของที่ตนเองรักเป็นพิเศษหรือชอบสะสมไว้แก่คนอื่นๆ โดยไม่มีเหตุผลอันใด 12.มักพูดถึงหรือบ่นอยากฆ่าตัวตาย หรือบางครั้งทำเป็นพูดเล่น หรือทำเป็นวางแผนว่าจะฆ่าตัวตาย ให้คนใกล้ชิดฟัง เช่น “ถ้าเขาตายไป คนอื่นๆคงสบายใจขึ้น” ถ้าขึ้นไปบนตึกสูงๆโดดลงมาจะตายไหม” ฯลฯ และ 13.มีการขู่หรือพยายามทำร้ายตัวเอง หรือพยายามทำการฆ่าตัวตาย หากพบว่าเพื่อนฝูงหรือคนใกล้ชิดเริ่มมีอาการอย่างที่ว่านี้ ให้จับตาดูอย่างใกล้ชิด หรือแนะนำให้ไปพบจิตเพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น