xs
xsm
sm
md
lg

ประยุกต์ “ผญา” เป็นสื่อ “รักษาโรค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การพูดคุยด้วยคารมคมคาย มีความหมายกินใจในดินแดนอีสาน ที่เรียกว่า “ผญา” นั้น ทำให้ผู้ฟังได้ทั้งความรู้และความคิดสติปัญญา สนุกเพลิดเพลิน ยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้เกิดความรักได้ด้วย จึงทำให้หนุ่มสาวอีสานแต่เก่าก่อนนิยมพูดผญากันมาก

นอกจากนี้ ยังเป็นการโต้ตอบทางคำพูดเชิงปัญญาทำให้แต่ละฝ่ายเฟ้นหาคำตอบ เพื่อเอาชนะ ก่อให้เกิดความซาบซึ้ง ล้ำลึกขนาดสามารถผูกจิตมัดใจอีกฝ่ายได้ไม่น้อย จึงไม่แปลกที่ ผญา จะเป็นมนต์ขลังสุดคลาสสิกแห่งถิ่นอีสาน ไม่เว้นกระทั่งการรักษาและป้องกันโรค ซึ่งบางทีหมอใหญ่ในโรงพยาบาลยังต้องซูฮก

*** ผูก “ผญา” เป็นภาษาแพทย์
พ่อใหญ่สุพิศ หมายดี ผู้ใหญ่บ้านคูสว่าง ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญด้านผญาอีสานแห่งอุบลราชธานี เล่าว่า บทผญานั้นมีการเคลื่อนที่ตามสภาพสังคม จากบทเกี้ยวสาว ตลกโปกฮา สอนใจให้คติ ซึ่งคนสมัยก่อนจะใช้คำอีสานแท้ผูกเป็นคำกลอนด้วยคำคล้องจองกัน ฟังแล้วรื่นหู และคนฟังสามารถเห็นภาพได้ และสาเหตุที่ทำให้พ่อใหญ่เลือกใช้ผญาเพื่อรักษาโรคก็เนื่องมาจาก อยากจะทำให้ภาษาแพทย์เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเข้าใจได้

“10 กว่าปีก่อนเคยไปฟังหมอบรรยายเกี่ยวกับโรคติดต่อแล้วไม่เข้าใจ แถมง่วงนอนอีก ก็เลยคิดว่าขนาดเราเป็นผู้ใหญ่บ้านยังขนาดนี้ แล้วชาวบ้านมาฟังจะเข้าใจไหม พอดีว่าผมพอจะมีความรู้ผญาอยู่บ้างเลยลองเอาข้อมูลที่ได้มาเขียนเป็นบทผญา ปรากฏว่าเข้าท่า”

จากนั้นเรื่อยมาพ่อใหญ่สุพิศก็ใช้ผญานี้ร่วมกับการส่งเสริมกิจกรรมทางการแพทย์ที่ตำบล อำเภอ และจังหวัดได้จัดเรื่อยมา จากคำบอกเล่าของปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้ทำให้รู้ว่า “ผญา” มีอิทธิพลเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่า “ยา” ที่ใช้สำหรับรักษาโรคบางโรคได้ดีชะงัด ถ้อยคำ วาจา ก็เหมือนยาที่ให้กำลังใจ คนบางคนอยากตาย แต่ถ้าได้กำลังใจที่ถูกที่ถูกทางก็จะดีขึ้น

สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่นอนซม และมีอาการอยากตายตลอดเวลา วิธีการที่ง่ายที่สุดที่ผู้ใหญ่บ้านทำได้ คือ เรียกประชุมชาวบ้าน ใช้พิธีกรรมเข้าช่วย โดยแก่นหลักคือพูดให้กำลังใจ ผูกแขนด้วยเส้นฝ้าย 1 คน 1 บทผญา สำหรับผู้ป่วยนั้นการได้พบเจอผู้คน ญาติมิตร กำลังใจก็เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีคำพูดฉุกให้คิด หรือเพิ่มแรงใจ แรงกายและอาการอยากตายก็จะค่อยๆ หายไป ซึ่งใช่ว่าทำเพียงครั้งเดียวจะได้ผล ต้องทำหลายๆ ครั้ง

“ชีวิตคนก็เหมือนต้นไม้ บางคนเป็นพืชยืนต้น บางคนเป็นพืชล้มลุก เพราะฉะนั้นหากรู้ว่าอายุเขาสั้นก็ต้องให้หลักเพื่อพยุงรักษาไว้ คำพูด ข้อคิดดีๆ จะสร้างแรงกำลังให้เขาได้ ถ้าคนมีทักษะ และภาคภูมิใจในตัวเอง ก็จะไม่อยากตาย” ปราชญ์ชาวบ้านให้ข้อคิด

*** เข้าใจ ใกล้ตัว...ตื่นกลัว
ไม่เพียงแต่อาการซึมเศร้าในชุมชนจะหายเป็นปลิดทิ้งเท่านั้น โรคประจำฤดูพ่อใหญ่ก็จัดการได้อยู่หมัด โดยเริ่มตั้งแต่ศึกษาว่าโรคใดจะมาในฤดูไหน หน้าร้อนระวังท้องร่วง ฤดูทำนาหน้าฝน ไข้เลือดออก ฉี่หนู หรือไข้หวัด ฤดูหนาว เชื้อรา หวัด การป้องกันโรคจากอากาศ โดยข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจากประสบการณ์ เรื่องเล่าขานจากเก่าก่อน และสำคัญคือ ข้อมูลวิชาการจากหมอและโรงพยาบาล จากนั้นก็ทำการย่อยข้อมูลสู่ผญา เรียงร้อยถ้อยคำเป็นอักษรบทใหม่ในภาษาอีสาน เสร็จสรรพท่องจำให้แม่นก่อนจะนำผญาออกสู่สาธารณชน

“ผญาป้องกันไม่ใช่แค่เล่าเรื่องป้องกันโรค จะต้องเล่าให้เขาเห็นภาพ รู้อาการ รู้แหล่งเพาะเชื้อ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรค บางทีก็จะใช้ผญาตั้งแต่รณรงค์ความสะอาดก็มี”

เมื่อรอยต่อของแต่ละฤดูกาลมาถึง ชาวบ้านก็จะได้ยินเสียงจากหอกระจายข่าวดังในตอนเช้า ช่องทางการสื่อสารชั้นดีที่ทุกคนในหมู่บ้านสามารถเข้าถึงได้ ไม่เพียงเท่านั้นฝาบ้านทุกบ้านจะมีบทผญาติดเอาไว้ให้เตือนใจ และย้ำให้ชาวบ้านระวังตัวจากโรคภัยต่างๆ ด้วย

*** สืบทอดภาษา เป็นตำราอีสาน
นอกจากนี้ การให้ความรู้ก็คือการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน พ่อใหญ่จึงเดินสายบรรยายตั้งแต่ใจกลางจังหวัดถึงร้านรวงริมทาง สถานที่ใดที่เอื้อให้แสดง ที่นั่นก็จะได้ยินบทผญาไม่ขาด

“คนที่เข้ามาฟังเรามีตั้งแต่ระดับผู้ว่าฯ หมอ ครู เรื่อยไปจนนักเรียน พ่อถือว่าตัวเองคือครู ก. ที่ให้ความรู้คนที่จะเป็นครูต่อไป แต่กับคนที่หลากหลาย ผญาก็นำมาละลายพฤติกรรมได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าใครเป็นคนฟังเรา จากนั้นก็คิดบทสดๆ ออกมา ซึ่งการคิดบทสดนี้จะต้องมีอาศัยการสังเกต อ่านข้อมูลข่าวสารเพื่อเก็บข้อมูลที่พร้อมใช้ตลอดเวลานั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผญาบทเดียวหรือเพียงแค่วจีที่เปล่งมาจะช่วยเยียวยา หรือป้องกันโรคได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะอิทธิพลของผญาจากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญนั้นบอกว่า สามารถปรับพฤติกรรมผู้ป่วย และชี้นำได้ 60 เปอร์เซ็นต์ สำหรับอีก 40 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะต้องเป็นหน้าที่ของหมอที่จะต้องทำให้เห็นระบบการรักษาอย่างกัลยาณมิตรให้เป็นรูปธรรม โดยมีคาถา 4 ข้อ คือ ไม่หน้างอ (บึ้ง) ไม่รอนาน บริการดี และวจีไพเราะ

พ่อใหญ่สุพิศบอกถึงความมุ่งหมายต่อไปว่า 24 ปี นับจากนี้อยากจะเร่งแต่งผญาไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้ศึกษา ไม่เพียงแต่เป็นตำราแพทย์ชาวบ้านเท่านั้น ยังรวมถึงบทที่เกี่ยวกับต้นไม้ สมุนไพร ต่อต้านยาเสพติดและการพนัน ตลอดจนเก็บร้อยเรื่องราวประวัติศาสตร์มาเล่าสู่คนรุ่นอนาคต

ผญาอีสานต้านไข้เลือดออก
“ไข่เลือดออก มันติดต่อทางยุงลาย
หากมันบินมาใกล้หมู่คนเฮาแท่
กันแล้วหนีไปส้น อยู่ในดงพงป่า

แพร่แต่เชื่อใส้ไว้ มาให้หมู่คนฤดูฝน
หว่างซ่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน

แม่นหน้ายุงลายแท้
หนทางแก้หาดู บ่อนมันไข่

มันโอบวางใส่ไว้ อยู่ในบ่อนน้ำขัง
บริเวณข้างบ้าน คุแตก โอ่งเพ

กะโป๋กะป๋อง ยางรถ คุแครงของไซ่
ภาชนะอันใดที่มีอู๋แอง น้ำแอ๋ง

อย่าให้แมงง่องแง่งมีได้ให้ใส่ใจ
ใจเจ้าหาเบิ่งไว้เทออกให้มันหมด

เฮาเป็นคนกำหนดปราบมันให้ตายเกี้ยง
กลางวันแดดเปรี้ยงๆ อย่าให้ยุงลายกัด

ให้เจ้าหัดเข้านอนในมุ้ง
ยุงลายฮ้าย กลางวันมันออกเที่ยว

มันสิกัดปล่อยเชื้อระวังเป็นส่วนดี
ไข่เลือดออกเที่ยนี้ติดต่อจากยุงลาย

มาขยายติดคน ปล่อยลงให้เป็นได้
เริ่มด้วยการมีไข้ เบื่ออาหารบ่อยาก

หน้าแดงปวดหัว อาเจียน ปวดท้อง
จุดแดงเริ่มออกมานอกจากนั้นมีเลือดออก

กำเดา ถ่ายเป็นสี
เท่าผ่อยดำนำพร้อมซอมดูได้โตเย็น ไข้ล่วงให้ห่วงไว้แท้ หาทางแก้ซอยกันเด้อพี่น้องเอย...”

ผูกผญาโดยพ่อใหญ่สุพิศ หมายดี
กำลังโหลดความคิดเห็น