xs
xsm
sm
md
lg

อย.แก้ระเบียบคุมขายยาลดอ้วน งดจ่ายเด็กต่ำกว่า 18 เผยอันตรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย.เตือนใช้ยาลดอ้วนอันตราย ใช้ต่อเนื่องยาวนานทำให้ติด คล้ายยาบ้า เสี่ยงเป็นโรคกาย โรคจิต แถมกลับมาอ้วนฉุอีก เผยเตรียมแก้ระเบียบอย.ออกประกาศการใช้ยาในคลินิกให้รัดกุม ด้านจิตแพทย์ ชี้น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วเสี่ยงโรคซึมเศร้า ถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

วันนี้ (22 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ชาตรี บานชื่น รักษาการเลขาธิการ อย.กล่าวถึงกรณี นางโสภิดา หมู่วิริยะ วัย 36 ปี ฆ่าตัวตายโดยกระโดดจากขอบทางด่วน ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการรับประทานยาลดความอ้วน ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากยาลดความอ้วนหรือไม่ เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตให้ข้อมูลว่าผู้เสียชีวิตเคยรับประทานยาลดความอ้วน แต่ได้เลิกรับประทานไปนานแล้ว ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับยาลดความอ้วนในข่าวเป็นข้อมูลจากการสันนิษฐานเท่านั้น ทั้งนี้ ยาคล้ายยาลูกกลอนในรถของผู้ตายไม่ได้ระบุชื่อยา หรือข้อมูลใดๆ ที่ภาชนะบรรจุยาแต่อย่างใด สำหรับศพผู้เสียชีวิตได้ส่งตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวชแล้ว คาดว่า จะทราบผลการชันสูตรอีกประมาณ 2 เดือน

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ยาลดความอ้วนที่ส่วนใหญ่มักใช้กัน ได้แก่ ยาเฟนเตอมีน ซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ใช้เป็นยาลดความอยากอาหาร ซึ่งจากข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของการรักษากำหนดให้ใช้ในระยะสั้น คือ 4-6 สัปดาห์ และต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน เพราะมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ อีก ได้แก่ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว หากใช้ไปนานๆ อาจถึงขั้นติดยาได้ หรือทำให้น้ำหนักที่ลดลงคืนกลับมาอีก(yo-yo effect) รวมทั้งอาจพบอาการอื่นๆ อีก คือ ปากแห้ง อาเจียน ท้องผูก เหงื่อออก ตื่นเต้น ม่านตาขยาย ประสาทหลอน อาจทำให้เกิดโรคจิตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ชัก โคม่า และตายได้

“ยาลดความอ้วนไม่เกิดประโยชน์กับผู้ที่อยากผอม แต่ใช้ในคนไข้โรคอ้วนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง เพราะมีผลกระทบต่อสมองและร่างกายหลายส่วน และมีผลข้างเคียงหลายอย่าง มีข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้มากมาย เช่น คนที่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ไม่ควรใช้” นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวด้วยว่า อย.ได้มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหายาลดความอ้วน ยาเฟนเตอมีน โดยกำหนดการอนุมัติการขายให้แก่แพทย์ที่ประสงค์จะขอซื้อเพื่อจ่ายให้แก่ผู้ป่วยของตนกรณีหน่วยงานราชการพิจารณาจากอัตราค่าเฉลี่ยการใช้วัตถุออกฤทธิ์ตามจริงของแต่ละรายการของคำขอซื้อและพิจารณาให้ไม่เกินระยะเวลาที่ควรจะมีใช้ภายใน 6 เดือน กรณีไม่ใช่หน่วยงานราชการ จะพิจารณาค่าเฉลี่ยการใช้วัตถุออกฤทธิ์ตามจริงของแต่ละรายการของคำขอซื้อ และพิจารณาให้ไม่เกินระยะเวลาที่ควรจะมีใช้ภายใน 3 เดือน และจะไม่จำหน่ายเกินกว่า 5,000 เม็ดต่อเดือน

นอกจากนี้ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบวิชาชีพให้พิจารณาไม่จ่ายยาลดความอ้วนให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกด้วย สำหรับผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท ส่วนกรณียาลูกกลอน ควรจะซื้อที่มีเลขทะเบียนตำรับยาถูกต้อง ซื้อจากร้านขายยาถูกกฎหมาย และอย่าหลงเชื่ออวดอ้างลดอ้วน เพราะเสี่ยงได้รับสารสเตียรอยด์ ทำให้ไตไม่ทำงาน เป็นโรคกระดูกพรุน เบาหวาน เป็นอันตรายถึงชีวิต

นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ปริมาณการนำเข้ายาเฟนเตอมีนเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2546 ซึ่งพบมีการใช้ยาดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่มีการควบคุมที่เข้มงวด พบว่ามีปริมาณการนำเข้าสูงถึง 24 ล้านเม็ด โดยในปี 2550 มีปริมาณการนำเข้าเพียง 12 ล้านเม็ดซึ่งถือว่าลดลงอย่างมาก

“ความเห็นส่วนตัวมองว่ายานี้ไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก ผมเคยเสนอให้ยกเลิกยาตัวนี้ แต่ได้รับเสียงคักค้านว่ายังมีความจำเป็นอยู่ จึงจะต้องมีการควบคุมยากลุ่มนี้ให้เข็มงวดขึ้น โดยจากเดิมคลินิกที่มีครอบครองหรือจำหน่ายเกินกว่า 5,000 เม็ด จึงจะต้องขออนุญาต แต่ทางอย.จะแก้ไขระเบียบใหม่ โดยออกเป็นประกาศให้แพทย์ที่มียาในครอบครองจะต้องขออนุญาต แม้จะมีเพียง 100-200 เม็ด เพื่อควบคุมการใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นจะนัดให้มีการหารือและทำประชาพิจารณ์ในกลุ่มแพทย์ด้วย” นพ.นรังสันต์กล่าว

นพ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า หรือ โรคจิตที่มีสาเหตุจากการรับประทานยาลดความอ้วนเป็นจำนวนเท่าใด แต่จากประสบการณ์พบว่า ใรการให้การรักษาผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาทางจิต พบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่มีประวัติการรับประทานยาลดความอ้วน ซึ่งในคนที่มีอาการนอนไม่หลับ กระสับกระสาย ขี้หงุดหงิด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือบางรายถึงขั้นหวาดระแวง คล้ายกับคนติดยาบ้า หรือบางรายไม่มีอาการหวาดระแวงก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยมีหลายรายที่แม้ว่าจะหยุดยากลุ่มนี้แล้วสามารถหายจากอาการต่างๆ เหล่า นี้ขณะที่ส่วนหนึ่งแม้จะหยุดยาก็ไม่หาย และกลายเป็นโรคทางจิตในที่สุด

“กลุ่มยาประเภทนี้แม้จะใช้วิธีกินๆ หยุดๆ แต่ก็ส่งผลต่อร่างกายและจิตประสาทอยู่ดี ซึ่งน่าเป็นห่วงจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้า หากมีสิ่งใดไปกระตุ้น ก็อาจทำให้ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตายได้ จึงขอเตือนวัยรุ่นที่ต้องการลดความอ้วน ควรใช้วิธีออกกำลังกาย ควบคุมอาหารดีกว่า เพราะยาไม่สามารถช่วยให้ผอมได้ และให้อยู่กับโรคของความจริง ยึดหลักวิชาการ ดูดัชนีมวลกาย ถ้าไม่เกิน 27 ก็ไม่ได้เป็นคนอ้วน และควรเชื่อมั่นตัวเองมากกว่า เพราะคนที่อ้วนหลายๆ คนก็มีชีวิตที่มีความสุขอยู่ได้โดยไม่ต้องลดน้ำหนัก” นพ.อภิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น