xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” สั่งรับมือสุขภาพจิตคนไทยแย่ยุค “เงินเฟ้อ” เปิดสายด่วน 24 ชม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไชยา” ตื่นเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง ถกปัญหารับมือยุคเงินเฟ้อ สั่งศึกษาผลกระทบสุขภาพจิต พร้อมให้โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลจิตเวชทุกจังหวัด เปิดคลินิกบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เปิดสายด่วน 1323 และ 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง แนะคนไทยยึดหลักสัจธรรมว่า “ทุกคนต้องเผชิญกับปัญหา และปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม”
นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ.เพื่อปรับแผนรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นตาม ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้นกว่าเดิม ที่น่ากังวลในอนาคตอันใกล้ ก็คือ เรื่องสุขภาพจิตประชาชนที่ต้องปรับตัว โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตายที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ถี่ขึ้นในรอบ 2-3 เดือนมานี้ ซึ่งมีสถิติพบว่า ในทุกๆ ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน จะมีผู้กำลังฆ่าพยายามตัวตายอีก 10-20 คน จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 94 แห่ง ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และโรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ สังกัดกรมสุขภาพจิต 16 แห่งทั่วประเทศ เปิดคลินิกคลายเครียดเพื่อบริการปรึกษาแนะนำประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น และให้กรมสุขภาพจิตเปิดสายด่วน 1323 และ 1667 บริการให้ความรู้ประชาชนในเรื่องวิธีการคลายเครียด คลายวิตกกังวล ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงฟรี

“อยากให้กำลังใจประชาชนทุกคนให้ต่อสู้ปัญหา โดยให้ยึดสัจธรรม ที่ว่า ทุกคนต้องเผชิญกับปัญหา และปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงานมา พบว่า ปัญหาจากวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจคงไม่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตายในทันที แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ไปแล้วประมาณ 2 ปี โดยจากการที่ประเทศไทยเคยมีวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แต่พบปัญหาสุขภาพจิตในปี 2542 ซึ่งมีสถิติฆ่าตัวตายสูงสุดประมาณ 17-18 รายต่อวัน ซึ่งปัจจุบันลดลงเหลือ 3,400 คนต่อปี หรือ 9 รายต่อวัน อย่างไรก็ตาม ได้ให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการสำรวจความเครียดประชาชนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลของความเครียดจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะตกอยู่ในภาวะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด” นายไชยา กล่าว

ด้าน นพ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดำเนินการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ที่ใช้กันหลักๆ ทั่วโลกขณะนี้มี 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.การจัดการความเครียด 2.การควบคุมความอ้วน และ 3.การออกกำลังกาย หากปฏิบัติได้ทั้งหมดนี้ ปัญหาสุขภาพทั่วโลกจะลดลง โดยการจัดการความเครียดที่ดีที่สุด และเป็นที่ยอมรับระดับโลก คือ การออกกำลังกาย ซึ่งมีผลให้การรักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้การพึ่งยารักษาน้อยลง

“ผู้ที่เสี่ยงฆ่าตัวตายมักจะส่งสัญญาณให้ผู้ใกล้ชิดทราบ แต่ผู้ใกล้ชิดส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นความสำคัญ จึงไม่ได้ใส่ใจสัญญาณเตือน อาทิ การบ่นไม่อยากมีชีวิตอยู่ ฝากลูกหลานทำพินัยกรรม ยกมรดก ดื่มเหล้าหนักขึ้น บ่อยขึ้น หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน หรือ 3 เดือนที่ผ่านมา เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว ฉะนั้น ทุกครอบครัวจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังด้วย”นพ.หม่อมหลวงสมชาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น