xs
xsm
sm
md
lg

หมอเผยโฉมของเล่นสุดเสี่ยง 9 ประเภท ระบุมีเด็กกว่า 7 หมื่นรายตกเป็นเหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมอเผยของเล่นสุดเสี่ยง 9 ประเภท ระบุ มีเด็กกว่า 7 หมื่นราย เป็นเหยื่อของเล่น-สนามเด็กเล่น-สวนสนุก เซ็งภัยสวนสนุกทำเด็กตาย-เจ็บ แต่ยังไร้ กม.คุม แค่จ่ายค่าประกันภัยไม่ถึง 2 แสน ก็เปิดได้ ระบุ 30 เม.ย.วันคุ้มครองผู้บริโภค ให้เป็น “ปีแห่งของเล่น การเล่น ปลอดภัยสำหรับเด็ก” เปิดสายด่วนแจ้งภัยของเล่น

นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการโครงการเด็กไทยปลอดภัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในแต่ละปีเด็กไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและความรุนแรงกว่า 3 พันราย บาดเจ็บกว่า 2 ล้านราย ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 เกิดจากวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์รอบตัวเด็ก โดยมีรายงานพบการบาดเจ็บจากของเล่น สนามเด็กเล่นกว่า 72,400 รายต่อปี เกิน 50% เจ็บจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ซึ่งมักเกิดจากพื้นสนามแข็งไม่ดูดซับแรงกระแทก เครื่องเล่นไม่มั่นคง ติดตั้งโดยไม่ยึดติดฐานรากทำให้ล้มทับเด็ก

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับของเล่นอื่นที่พบการบาดเจ็บรุนแรง ได้แก่ 1.ของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็กกว่า 3.2*6 ซม เป็นส่วนประกอบ เช่น ลิปสติกของตุ๊กตาหัวอุลตร้าแมน ทำให้สำลักอุดตันทางเดินหายใจ 2.ของเล่นมีสายยาวกว่า 22 ซม. ขดเป็นวงทำให้รัดคอเด็ก เช่น โทรศัพท์ กีตาร์ รถลาก 3.ของเล่นที่มีช่องรูไม่เหมาะ ทำให้นิ้วติด มือติด หัวติด เช่น ปราสาท ชุดครัว 4.ของเล่นลูกกระสุนที่แรงกว่า .08 จูล เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก หากโดนที่ลูกนัยน์ตาอาจอันตรายถึงขั้นตาบอด 5.ของเล่นที่แหลมคม รถเด็กเล่นที่ท้ายรถแหลม ลูกข่าง หุ่นยนต์หัวแหลม

ประเภทที่ 6.ของเล่นเคลื่อนที่เร็ว ม้าโยก รถไถ จักรยานสองล้อสามล้อ สกูตเตอร์ แล้วออกแบบมาไม่เหมาะสม ล้มง่าย หรือขาดคำเตือน 7.ของเล่นประเภทติดไฟง่าย เช่น ผ้าหรือตุ๊กตา 8.ของเล่นที่ระเบิดได้ เช่น รถบังคับ เครื่องบินบังคับ 9.ของเล่นที่เสียงดังกว่า 110 เดซิเบล ทำลายเซลล์ประสาทการรับเสียง เช่น พวกของเล่นไฟฟ้า รถไฟ ลูกยางที่กดแล้วมีเสียงดัง และยังต้องระวังของเล่นที่สารตะกั่วที่ละลายได้มากกว่า 90 ppm ซึ่งจะทำลายเซลล์สมอง

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ของเล่นเด็กเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมตามกฎหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม มาตรฐานของเล่นจะถูกกำหนดให้คุมความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมา ของเล่นที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่ยังไม่มีระบบการรายงานชนิดของเล่นที่ก่อเหตุจากโรงพยาบาลต่างๆ ขณะที่การควบคุมของเล่นในตลาดยังอ่อนแอ มีทั้งของเล่นลักลอบ ไม่ผ่านการตรวจสอบ เครื่องหมายมาตรฐานปลอม ได้รับอนุญาตแบบหนึ่งแต่ผลิตอีกแบบหนึ่ง ไม่ส่งผลิตภัณฑ์เข้าตรวจสอบเพิ่มเติม ผู้ค้าบางกลุ่มยังพยายามหากำไรสูงสุดจากเด็ก เจ้าหน้าที่รัฐยังทำงานไม่เต็มที่ ส่วนพ่อแม่ยังขาดความตระหนัก ซื้อของเล่นโดยไม่พิจารณาให้ดี

“ส่วนเครื่องเล่นสนาม และสวนสนุก แม้มีข่าวเด็กตายเด็กเจ็บ แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีมาตรฐานควบคุมเป็นทางการ ทั้งจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย เครื่องเล่นสนามทั้ง ชิงช้า กระดานลื่น เครื่องเล่นปีนป่าย ยังขายเกลื่อนข้างถนน ใครจะคิดว่าเปิดสวนสนุกใหญ่ๆ ใน กทม.แค่มีเงินสั่งของจากต่างประเทศ ขออนุญาตฝ่ายสิ่งแวดล้อมจากเขต ก็เปิดได้แล้ว มาตรฐานเครื่องเล่นเป็นอย่างไร ติดตั้งไม่มั่นคง เสี่ยงตายอย่างไรไม่มีกฎหมายควบคุมดูแล แค่มีประกันภัยหนึ่งแสนสองแสน ยอมเสียค่าปรับเล็กน้อยถ้าเกิดเรื่อง ก็ถือว่าคุ้ม” นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปี 2551 ควรเป็น “ปีแห่งของเล่น การเล่น ปลอดภัยสำหรับเด็ก” วันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เม.ย.นี้ ควรคำนึงถึงผู้บริโภคที่เป็นเด็ก โดยในงานวันคุ้มครองผู้บริโภค 29-30 เม.ย.นี้ ที่ศูนย์สิริกิติ์ ขอเชิญพ่อแม่ที่ลูกประสบอันตรายจากของเล่น เครื่องเล่นสนาม สวนสนุก หรือร้านเกม ไปในงาน เพื่อแจ้งเหตุ ทุกเรื่องจะถูกตรวจสอบ ประกาศให้สาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขป้องกัน ทั้งนี้ หากพบของเล่นอันตราย เครื่องเล่น สวนสนุก อันตราย แจ้งได้ที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ hot line สายด่วนของเล่นอันตราย ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี 02-6449080 หรือ ผ่าน www.thaisafeplay.com
กำลังโหลดความคิดเห็น