xs
xsm
sm
md
lg

จอตู้ระส่ำ กรมประชาไม่กล้าทำงาน โฆษณาเหล้าเกลื่อนจอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทำจอตู้ระส่ำ กรมประชาฯ-กทช. งงไม่กล้าทำงาน เหล้าฝ่าโฆษณานอกเวลา ทั้งตรง-แฝง ข่าวกิจกรรม แถมโชว์โลโก้ เกลื่อนจอ จัดเรตติ้งเหลว น.13-น.18 โผล่ทีวีผิดช่วง ช่อง 3 -7 ติดเรตละครไม่ตรงความจริง สวรรค์เบี่ยงต้อง น.18 เศร้าการ์ตูน ปล่อยโฆษณา 1900 สอนเด็กรักพนัน ล่อชิงรางวัล สภาที่ปรึกษาฯ สุดทน จัดเวทีถามหาคนรับผิดชอบ

วันนี้ (24 เม.ย.)ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเสวนา "ใครคุมเรตติ้งและโฆษณาในภาวะเปลี่ยนผ่านกฎหมาย โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 บังคับใช้เมื่อวันที่ 5 มี.ค.โดยได้ยกเลิก พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ทำให้กฎหมายลูกของพ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งประกาศฉบับต่างๆ ของกรมประชาสัมพันธ์ 12 ฉบับและมีกฎกระทรวงอีก 15ฉบับที่เกี่ยวกับการโฆษณา การจัดเรตติ้ง ในโทรทัศน์จะยังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ หากมีการฝ่าฝืนใครจะดำเนินการ

“กรมประชาสัมพันธ์ ยังมีอำนาจดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์อยู่หรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทช.)ที่จะดำเนินการกับผู้กระทำผิด ขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงานทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ขณะนี้พบว่าเป็นช่องว่างกฎหมายที่มีการกระทำผิดกฎหมายอย่างอย่าง อาทิ 1.ประกาศการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อทุกชนิด 05.00 น- 22.00 น. 2.การจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ 3.หลักเกณฑ์และระยะเวลาการโฆษณาและบริการธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเด็ก โดยที่แต่ละฝ่ายอ้างว่าไม่มีอำนาจหน้าที่"นพ.ประวิทย์ กล่าว

นางชุติมา ไทรโกมุท ตัวแทนกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของกรมฯในการกำกับดูแลก็ต้องยุติไปตามกฎหมายใหม่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ รวมถึงการโฆษณาขนมเด็กในรายเด็กเป็นหนึ่งในประกาศของกรมฯตามกฎหมายเดิมก็น่ายุติไปด้วยแส่วนที่มีปัญหาเรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมฯได้สอบถามไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแล้ว ซึ่งทุกช่องยืนยันว่าจะปฏิบัติตามประกาศเดิมไปก่อน แต่การจัดเรตติ้งรายการทีวี หลายช่องยืนยันจะจัดเรตติ้งแสดงตัวอักษรเท่านั้น แต่ไม่จัดเนื้อหารายการให้เหมาะสมกับช่วงเวลา โดยอ้างว่า ไม่มีผู้กำกับดูแลที่ชัดเจน

ศ.พิชัยศักดิ์ หรยางกูร อดีตอาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงมีข้อผูกพันว่า รัฐต้องออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็ก ซึ่งการควบคุมการโฆษณาขนมเด็กในรายการเด็ก และการจัดเรตติ้ง คือการคุ้มครองเด็ก ทั้งที่ความจริงมาตรการอ่อนไปด้วยซ้ำ แต่รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการรโดยเร็ว ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่ปล่อยแบบนี้

“ จริงๆแล้วไม่ยุ่งยาก ออกประกาศโดยมีเนื้อหาเหมือนเดิมไปก่อนได้ เพราะประเทศใดที่ไม่ดูแลเด็ก ก็คือประเทศที่ไม่มีอนาคต หยุดใช้โทรทัศน์ข่มขืนสติปัญญาเด็ก นี่คือการปล้นอนาคตของประเทศ แล้วทุกคนก็อยู่เฉยเพราะไม่ใช่ปัญหาของตนเอง อ้างว่ามีกฎหมายใหม่ ใช้วิธีไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่ตอบเรื่องนี้เร็ว เนื่องจากเป็นคนผ่านกฎหมายที่มีปัญหานี้มาเอง”ศ.พิชัยศักดิ์ กล่าว

นายนคร ชมพูชาติ กรรมการช่วยเหลือประชาชนตามสภาทนายความ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนายจักรภพ เพ็ญแข ในฐานะรมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกำกับกรมประชาสัมพันธ์ ควรมาดูแล ขณะที่ภาคประชาชนเมื่อถูกละเมิดเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ควรฟ้องศาลปกครอง ให้ชัดเจนเลยว่า บ้านเมืองไม่มีกฎหมายมาดูแล ปล่อยให้โทรทัศน์ทำร้ายและสร้างปัญหาสังคม และยังแสดงให้เห็นการฝ่าฝืนกฎหมายของสถานีต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาใบอนุญาต

รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การละเมิดกฎหมายโฆษณาในรายการเด็ก มีทั้งแบบเบาบาง และคลุมเครือ แต่สิ่งที่ฝ่าฝืนอย่างโจ่งแจ้ง คือปล่อยให้มีโฆษณา 1900 หลอกล่อให้เด็กโทรศัพท์ ไปชิงรางวัล ชิงเงิน ผ่านรายการการ์ตูน ซึ่งคือการพนัน ที่ไม่น่าเชื่อว่าปล่อยให้อยู่ในโทรทัศน์ได้ และออกอากาศช่วงที่มีเด็กๆดูมากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะปลูกฝังนิสัยรักการพนันให้เด็ก กติกาที่ไม่ชัดเจน ขาดผู้ดูแลด้านกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาทุกด้าน ทั้งเรื่องเด็ก การโฆษณาเหล้า รายการทีวีที่ไม่เหมาะสม โดยจะทำลายเด็ก เยาวชน และสังคม เพราะสื่อโทรทัศน์คือสื่อที่เข้าถึงประชาชน และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากที่สุด

"สถานการณ์ที่เกิด แสดงให้เห็นว่าจะรอให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ.2551 มาบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ เพราะกระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี และแค่ให้มีคณะกรรมการชั่วคราว 22 คน มาปฏิบัติหน้าที่ก่อน จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งเลย ดังนั้นประเทศชาติจะมีช่วงว่าง ไร้กฎหมายควบคุมไม่ได้ ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะดูแล"รศ.ดร.วิทยา กล่าว

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ประกาศกรมประชาสัมพันธ์ เรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อทุกชนิด 05.00 น- 22.00 น. กำลังถูกละเมิดอย่างรุนแรง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางตรงและแฝงมากขึ้น ทั้งโชว์โล้โก้ และชื่อผลิตภัณฑ์ในรายการข่าว เกมโชว์ ทอล์คโชว์ มีภาพหลังผู้ประกาศข่าวและเกมส์โชว์อย่างโจ๋งครึ่ม ผู้ดูแลกฎหมายควรเร่งจัดการ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม อาศัยช่วงคลุมเครือฝ่าฝืนกฎหมายแบบนี้

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า ประกาศการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์(เรตติ้ง) กำหนดให้เวลา 16.00 น.-20.30 น. เป็นรายการ ป. สำหรับเด็กปฐมวัย และ ด. สำหรับเด็ก 6-12 ปี ส่วน น.13 ออกได้ช่วง 20.30 น. เป็นต้นไป น.18 ออกได้หลัง 21.00 น. เครือข่ายจึงตรวจสอบการจัดเรตติ้ง ตั้งแต่วันที่ 1- 7 เม.ย. ที่ผ่านมา พบ ช่อง 3 มีรายการละคร น.13 ออกอากาศก่อน 20.30 น. ขณะที่ละครบางเรื่องอย่างพยัคฆ์ร้ายแซ่บอีหลี กิ่งแก้วกาฝาก เป็นประเภท น.18 และออกอากาศก่อน 21.00 น. แต่ติดว่าเป็น น.13 เหมือนกับสวรรค์เบี่ยง ที่เป็น น.18 ซึ่งออกอากาศอยู่ตอนนี้

"การตรวจสอบของเครือข่ายเห็นว่า ช่อง 7 ไม่ปฏิบัติตามประกาศมีละคร น.18 ออกอากาศก่อน 21.00 น. มาตลอด ช่อง 9 ติดเรตติ้งไม่ตรงกับรูปแบบ โดยเฉพาะการ์ตูนบางเรื่องเป็น น.13 ส่วนทีวีไทย ทีวีสาธารณะ มีละครเรื่องพ่อจ๋าอย่าร้องไห้ ติดเรตติ้งไม่ตรง ควรเป็น น.13 แต่ติดว่า ท. ขณะที่ช่อง 5 ในช่วงที่ติดตามปฏิบัติตามประกาศ และติดเรตติ้งตรงมากที่สุด ช่อง 11 ก็ติดเรตติ้งไม่ตรง แต่ไม่ตรงในทางที่ดี เพราะบางรายการติด น.13 ความจริงเป็นประเภท ท. ซึ่งควรควบคุมการออกอากาศให้เป็นไปตามประกาศ และติดเรตติ้งให้ตรงรูปแบบรายการ บางเรื่องก็สูงกว่าความเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยแบบนี้ ทั้งที่ช่อง 11และทีพีบีเอสเป็นสื่อของรัฐ "นางอัญญาอร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น