xs
xsm
sm
md
lg

NGO เตรียมบุกกรมกร๊วก โวยเบี้ยวคุมโฆษณากระทบเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้บริโภค-เครือข่ายครอบครัว-สภาที่ปรึกษาฯ รวมตัวบุกกรมประชาสัมพันธ์ 25 ม.ค. นี้ จี้ “ปราโมช” อย่าเบี้ยว เตะถ่วงทำไม่รู้ไม่ชี้ ประกาศคุมโฆษณารายการที่กระทบต่อเด็ก เห็นมติ กกช.และ ครม.ที่หมดวาระไปแล้วไม่มีความหมาย ยันสังคมไทยต้องการกฎหมายควบคุม

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และอีกหลายองค์กร รวมถึงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ขอทวงถามความคืบหน้ากับ นายปราโมช รัฐวินิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กรณีไม่ยอมลงนามออกประกาศกรมประชาสัมพันธ์เรื่อง “หลักเกณฑ์และระยะเวลาสำหรับการโฆษณา และบริการธุรกิจทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อเด็ก” ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อปกป้องเด็กจากภัยสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคขนมกรุบกรอบเกินพอดี เพราะโฆษณาที่ยั่วยุ

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า การผลักดันเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย.2550 จน ครม.มีมติเห็นชอบ ทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต่างเร่งทำงานในส่วนที่รับผิดชอบไปแล้ว ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กกช.) นำเรื่องการออกประกาศเข้าที่ประชุมตั้งแต่ ก.ค.2550 ผ่านประชุมร่วมกับทุกฝ่าย เช่น สมาคมโฆษณา ตัวแทนสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ผู้ผลิตรายการ ทำความเข้าใจร่วมกันจึงได้ร่างนำไปทดลองใช้ 3 เดือน และรับรองไปตั้งแต่ 17 ธ.ค.2550 ทั้งหมดเป็นเวลา 6 เดือน

“อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการและเลขานุการของ กกช.เข้าร่วมประชุมตลอด และไม่ท้วงติงว่ามีข้อขัดข้องใด ทั้งยังส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ท่านก็บอกเองว่ารู้ผลแล้วว่า ลงนามออกประกาศได้ แต่จะรออีก 1-2 เดือน ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องรอ หรือเห็นว่ามติของ กกช. และ ครม. ที่หมดวาระไปแล้วไม่มีความหมาย จึงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่พวกเราเครือข่ายภาคประชาชนขอยืนยันว่า จะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไป จะเดินหน้าเรียกร้องจนกว่าอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะยอมดำเนินการ โดยวันที่ 25 ม.ค. เวลา 11.00 น. เครือข่ายจะไปขอคำตอบที่กรมประชาสัมพันธ์"น.ส.สารี กล่าว

นายวันชัย บุญประชา เครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ประกาศกรมประชาสัมพันธ์เรื่อง “หลักเกณฑ์และระยะเวลาสำหรับการโฆษณา และบริการธุรกิจทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อเด็ก” ซึ่งมีสาระสำคัญให้ รายการเด็กหมายถึงรายการสำหรับเด็กอายุ 3-12 ปี รวมถึงรายการสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็ก เช่น การ์ตูน หุ่นยนต์ ส่วน “โฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็ก” หมายถึง โฆษณาและบริการธุรกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าและบริการของเด็ก ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกาย ใจ โดยกำหนดให้โฆษณาได้ไม่เกิน ชม.ละ 10 นาที นับรวมโฆษณาแฝงด้วย และต้องให้ความรู้การบริโภคที่ส่งเสริมสุขภาพอนามัยไม่น้อยกว่า 2 นาที รวมเป็น 12 นาที ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดีที่พวกเราทุกคนต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น