หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า หนังเทียมที่นำมาผลิต เป็นวัสดุในอุตสาหกรรมรถยนต์ วัสดุหุ้มเบาะ และตกแต่งภายในรถยนต์นั้นจะก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งอันตรายที่กล่าวถึงนั้น คือ สารพิษที่เกิดจากสารเติมแต่งที่ใส่ในพีวีซี เพื่อปรับปรุงสมบัติให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งสารเติมแต่งที่ใช้ เมื่อถูกความร้อน หรือแสงอัลตราไวโอเลต จะเกิดการระเหยของสารพิษจำพวกกรดไฮโดรคลอริก ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อร่างกายแล้วยัง ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้เอง นายวิชยุตม์ อัศวพาคุณ นายอรุณ ภูกริ่งศรี และนางสาวนงเยาว์ เขื่อนเพ็ชร นักศึกษา จากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จึงร่วมกันคิดค้น และพัฒนาวัสดุทดแทนพีวีซีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมหนังเทียมขึ้น โดยมี อาจารย์วีราภรณ์ ผิวสะอาด เป็นอาจารที่ปรึกษาตลอดโครงการ ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ IRPUS
นายวิชยุตม์ ตัวแทนกลุ่มเล่าว่า “เป้าหมายของการศึกษา คือ เราต้องการหาว่าวัสดุชนิดใดที่ใช้แทนพีวีซีแล้ว ปราศจากสารพิษ และ มีความถ่วงจำเพาะสูงเพื่อใช้กันเสียงระหว่างห้องเครื่องยนต์กับห้องผู้โดยสารได้ โดยโครงงานนี้เราได้ใช้วัสดุทดแทนพีวีซี คือ พอลิโอเลฟินอิลาสโตเมอร์ (POEs) ซึ่งเป็นสารที่ปราศจากสารพิษ และคุณภาพใกล้เคียงกับพีวีซี
และจากการศึกษาสารเสริมแต่งที่เหมาะสมที่จะเติมลงไปในกระบวนการขึ้นรูป เพื่อให้ทดแทนพีวีซีนั้นมีความถ่วงจำเพาะสูงขึ้น ได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCo3), ทัลค์ (Talc) และคาร์บอนแบล็ก (Carbon Black) โดยในการทดลองเราได้ทำการหาอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างวัสดุแทนพีวีซี กับสารเสริมแต่งแต่ละชนิด ที่ 80:20, 70:30, 60:40 จากนั้นทำการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเครื่องบดผสมสองลูกกลิ้ง และเครื่องอัดขึ้นรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีค่าความถ่วงจำเพาะสูงขึ้น
ส่วนการเลือกว่าจะผสมวัสดุแทนพีวีซี (พอลิโอเลฟินอิลาสโตเมอร์ (POEs) กับสารชนิดใด นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตต้องการผลิตภัณฑ์ที่คุณสมบัติเป็นอย่างไร เพราะสารเสริมแต่งแต่ละชนิดกมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นสารเสริมแต่งที่มีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างเช่น มีความบริสุทธิ์ทางเคมีสูงและไม่มีไอออนของโลหะหนักปนเปื้อน สามารถกระจายตัวได้ดีในพลาสติก ไม่มีกลิ่น ทนความร้อน 600 องศาเซลเซียส
ส่วน ทัลค์ (talc) การผสมทัลค์ในเทอร์โมพลาสติก จะทำให้พลาสติกมีความแข็งตึง ทนแรงดัดโค้ง และ HDT สูงขึ้นช่วยเพิ่มเสถียรทางด้านรูปร่าง ลดการหดตัวและบิดเบี้ยวของชิ้นงาน ทำให้ชิ้นงานมีความต้านทานต่อการคืบที่อุณหภูมิสูง
และคาร์บนแบล็ก (Carbon Black) นอกจากจะช่วยเสริมแรงแล้วยังช่วยเพิ่มคุณสมบัติการนำไฟฟ้า โดยคาร์บอนแบล็กที่มีอนุภาคละเอียดจะเพิ่มสมบัติการนำไฟฟ้าให้กับพลาสติกได้ดีกว่าชนิดที่มีอนุภาคหยาบและสามารถดูดกลืนแสง UV ได้ดี จึงป้องกันกาสรสลายตัวของพลาสติกจากรังสี UV ได้ด้วย”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักศึกษากลุ่มนี้จะค้นคว้าและทดลองจนทราบว่า สารพอลิโอเลฟินอิลาสโตเมอร์ (POEs) ใช้เป็นสารทดแทนพีวีซีได้แล้ว และสารเสริมแต่ง อย่างคาร์บอนแบล็ก, ทัลค์ และแคลเซียมคาร์บอเนต มีคุณสมบัติเพื่อเพิ่มความถ่วงจำเพาะได้แล้วก็ตาม แต่พวกเขายังต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป เพื่อพัฒนาวงการอุตสาหกรรมหนังเทียมต่อไป
สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-4355-1288, 08-4144-4819 และ 08-5059-3313