หมอรามาฯ รุมประณาม หมอผ่าตัดไข่เด็กหวังแปลงเพศ ชี้ผิดจริยธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่มีที่ใดในโลกทำกัน แต่อาศัยช่องโหว่ที่ไม่มีข้อบังคับการแปลงเพศเอาตัวรอด ระบุกินฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินขนาดอันตรายเสี่ยงมะเร็งเต้านม อัลไซเมอร์ เบาหวาน กระดูกเปราะ แถมตัดไข่ตั้งแต่ยังเด็กทำให้ตัวเตี้ย ชี้กรณีทอมตัดนมก็ต้องผ่านการประเมินสภาวะจิตใจเช่นเดียวกับกับการแปลงเพศ
วันนี้ (4 เม.ย.) ที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ชั้น 5 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการแถลงข่าว"ตัดอัณฑะใช่ว่าหมดความเป็นชาย อันตรายทั้งกายจิต?" โดยศ.นพ.วชิร คชการ รองคณบดีฝ่ายวิชาการอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลทางวิชาการไม่ได้ชี้ว่า การผ่าตัดอัณฑะให้ชายที่อยากเป็นหญิง เพื่อหวังผลแปลงเพศผิดหรือถูก ไม่ได้เป็นผู้พิพากษา แต่สังคมจะเป็นผู้ตัดสินเอง ทั้งนี้ ขั้นตอนการผ่าตัดแปลงเพศที่เป็นมาตรฐานได้รับการยอมรับทั่วโลก จะต้องผ่านการประเมินด้านสภาวะจิตใจอย่างเข้มข้น จากนั้นจึงทำการผ่าตัดลูกอัณฑะออก ใช้ถุงอัณฑะสร้างเป็นอวัยวะเพศหญิงและช่องคลอด รวมตั้งตัดองคชาติออกด้วย จากนั้นจึงให้ฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนการผ่าตัดอัณฑะออกนั้นเป็นเพียงการตัดการสร้างฮอร์โมนเพศของร่างกายออกเท่านั้น ยังไม่ถือเป็นการผ่าตัดแปลงเพศ
ต่อข้อถามว่า ถ้ามีแพทย์ในโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ผ่าตัดอัณฑะถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ศ.นพ.วชิร กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีถือเป็นสถาบันศึกษา วิจัย ให้ความรู้สอนบุคลกรทำงานในภาคต่างๆ และมีหน้าที่ในการชี้นำสังคมในทางที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติที่ดี โดยอาจารย์แพทย์ที่สอนลูกศิษย์จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกรอบมาตรฐานที่ถูกต้อง ซึ่งการผ่าตัดในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแน่นอน เพราะรพ.รามาฯ ไม่ให้มีการผ่าตัดแปลงเพศอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการเบียดบังเวลาในการรักษาคนไข้อื่นๆ จำนวนมากที่มีความจำเป็นกว่า
“ถ้ามีการผ่าตัดอัณฑะในเด็กเพื่อหวังผลแปลงเพศในโรงพยาบาลถือเป็นการกระทำผิดจรรรยาบรรณวิชาชีพและจริยธรรม ซึ่งจะต้องมีการลงโทษ ส่วนในภาพใหญ่จริงๆ การควบคุมด้านจริยธรรมวิชาชีพมีกฎระเบียบที่ครอบคลุมอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ผู้นำไปใช้จะมีการตีความอย่างไรเพราะมาตรฐานจริยธรรมเขียนไว้อย่างกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งผู้ที่กระทำผิดมักใช้ช่องโหว่ตรงนี้ บอกว่าไม่ได้ระบุในระเบียบข้อบังคับก็ต้องร่างฯ ระเบียบใหม่ๆ เรื่อยๆ เพื่อคอยอุดช่อง ซึ่งมักตามไม่ทัน ถ้าผู้ได้รับความเสียหายไม่ออกมาเรียกร้อง แล้วถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเวรเป็นกรรม ไม่กล้า ก็จะไม่มีใครรับรู้ และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นก็จะต้องใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายอาญา ในการชี้ถูกผิด”ศ.นพ.วชิร กล่าว
ศ.นพ.วชิร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีข่าวที่มีการผ่าตัดเต้านมในหญิงที่อยากเป็นชาย หรือ ทอม เพื่อให้มีสภาพร่างกายคล้ายกับเพศชาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรค ถือเทียบเคียงกันกับผ่าตัดอัณฑะ ที่เป็นการผ่าตัดอวัยวะของร่างกาย ซึ่งการตัดสินใจต้องอยู่ภายใต้วุฒิภาวะที่เหมาะสม และหากเป็นการกระทำในเด็กก็ถือว่าไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน แม้ว่าเต้านมจะไม่มีผลต่อฮอร์โมนเพศเป็นเพียงการแสดงความเป็นเพศหญิงที่ชัดเจน และทำหน้าที่ให้นมบุตร ขณะที่ในอัณฑะของเพศชายนั้นผลิตอสุจิและฮอร์โมนเพศ ดังนั้น หากจะมีการผ่าตัดเต้านมก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับการผ่าตัดอัณฑะ โดยจะต้องผ่านการประเมินสภาวะจิตใจอย่างเข้มงวด ได้รับข้อมูลรอบด้าน ทั้งบวกและลบ
นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา อาจารย์ประจำหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กรณีนี้ที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะไม่ใช่มาตรฐานการรักษา และไม่เคยมีการสอนให้แพทย์ดำเนินการ ในระดับนานาชาติก็ถือว่าผิดจริยธรรมอย่างไม่ต้องมีอะไรสงสัย ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ เหมือนกับการทำในตลาดมืด
“ผมเป็นศิษย์เก่าของโรงพยาบาลรามาธิบดีรุ่นที่ 13 และในบรรดาศิษย์เก่ารามาธิบดีก็มีผู้ที่คิดนอกแถวนอกกรอบไปบ้าง มองแค่การทำงานได้เงินง่ายๆ ไม่ได้มองทุกอย่างอย่างรอบด้าน ผมได้ติดต่ออาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านอวัยวะเพศและต่อมไร้ท่อในประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับเรื่องการผ่าตัดลูกอัณฑะในเด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจารย์หมอคนนั้นได้บอกว่า รับไม่ได้และไม่ยอมรับในเรื่องนี้และในต่างประเทศไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ และจำเป็นต้องต่อต้านและประณามอย่างรุนแรง”นพ.พัฒน์ กล่าว
นพ.พัฒน์ กล่าวว่า การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงไม่ใช่ผู้ต้องการแปลงเพศเดินเข้ามายังสถานพยาบาลก็ดำเนินการผ่าตัดให้ทันที ในต่างประเทศแพทย์จะให้ฮอร์โมนเพศหญิงและให้ทดลองใช้ชีวิตเป็นเพศที่ต้องการ เพื่อให้มั่นใจและเป็นที่ยอมรับว่ามีความสุขจริง จึงจะตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศอย่างถาวร และในต่างประเทศการผ่าตัดแปลงเพศจะไม่ทำก่อนอายุ 18 ปี อีกทั้งในระยะยาวยังไม่มีการติดตามผลว่าเด็กที่ผ่าตัดอัณฑะไปแล้วมีอาการอย่างไร
“มาตรฐานการรักษาที่ดีแพทย์จะค่อยๆ เพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงทีละน้อยๆ ทำให้ร่างกายค่อยๆปรับตัว เริ่มสร้างเต้านม ผิวพรรณจะปรับตัว ซึ่งการซื้อฮอร์โมนเพศหญิงหรือยาคุมกำเนิดมาทาน หากทานฮอร์โมนเพศหญิงน้อยร่างกายจะเปลี่ยนแปลงน้อย แต่ถ้ากินมากอย่างในสาวประเภทสองตามสถานบันเทิงจะกินเยอะมากจนเกิดผลเสียกับร่างกาย ซึ่งพบว่าคนกลุ่มนี้จะกินยามากกว่าหญิงธรรมดาทาน3-5 เท่า ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม หลอดเลือดหัวใจอุดตันและอัลไซเมอร์ก็จะมากกว่าหญิงทั่วไป และเมื่อเป็นมะเร็งเต้านมแล้วจะมีความรุนแรงมากกว่าหญิงปกติ”นพ.พัฒน์ กล่าว
นพ.พัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องโรคเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นจากการทานฮอร์โมนเพศหญิงเป็นปริมาณมากแล้ว การผ่าตัดอัณฑะตั้งแต่วัยเด็กมีผลต่อความสูงของร่างกายจากที่จะมีความสูงได้ 170 เซนติเมตร เมื่อขาดฮอร์โมนเพศชายจะมีความสูงเพียง 155 เซนติเมตรเท่านั้นและยังจะทำให้กระดูกเปราะบาง รวมถึงโอกาสเป็นโรคเบาหวาน และเกี่ยวกับการทำงานของต่อมในสมองด้วย
“การตัดสินใจผ่าตัดลูกอัณฑะออกเพื่อแปลงเพศเป็นหญิง จำเป็นต้องได้รับการประเมินอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยคณะแพทย์ผู้รับผิดชอบร่วมกันต้องประกอบด้วย จิตแพทย์ ศัลยแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมน โดยคณะแพทย์จำเป็นต้องปรึกษาหารือกันอย่างถี่ถ้วน ก่อนการผ่าตัด รวมทั้งการวางแผนดูแลรักษาหลังการผ่าตัดและการให้ฮอร์โมนเสริมตลอดชีวิต”นพ.พัฒน์ กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจะผ่าตัดอัณฑะหรือผ่าตัดเต้านม หรือการผ่าตัดใดๆเพื่อเปลี่ยนเพศจากชายเป็นหญิง หรือหญิงเป็นชาย ควรจะมีการประเมินเบื้องต้นจากคณะแพทย์ทั้งด้านกายและจิต ซึ่งตามมาตรฐานสากลและกฎหมายในต่างประเทศ กำหนดชัดว่าก่อนการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องมีใบประเมินด้านจิตใจจากจิตแพทย์ร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์สาขาอื่นด้วย โดยจิตแพทย์จะให้ผู้ต้องการเปลี่ยนเพศ ทดลองใช้ชีวิตเป็นเพศที่ต้องการอย่างน้อย 2 ปี มีการให้ฮอร์โมนเพศอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องมาพบจิตแพทย์เป็นระยะเพื่อติดตามผล ขณะที่ในประเทศไทยเท่าที่ตนทราบก่อนการผ่าตัดไม่เคยมีผู้ต้องการแปลงเพศเข้าพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ และเห็นว่าขั้นตอนเหล่านี้มีความยุ่งยาก จึงต้องการใช้วิธีทางลัดเพื่อความสะดวก
“ที่ผ่านมาแทบไม่มีผู้ต้องการผ่าตัดแปลงเพศมาเข้ารับการประเมิน ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะที่พ่อแม่พาหรือบังคับให้มาพบจิตแพทย์ ให้ช่วยตรวจดูว่าลูกเป็นผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศจริงหรือไม่ เป็นมากแค่ไหน และจะรักษาหายได้หรือไม่ ผมคิดว่าหากพ่อแม่ยอมรับและให้คำปรึกษากับลูกอย่างถูกต้องว่าให้ใช้ชีวิตตามเพศที่ต้องการไปก่อน ในอนาคตถ้ามีความแน่ชัดแล้วค่อยไปผ่าตัดแปลงเพศที่หลังก็ยังไม่สาย สิ่งนี้อาจจะช่วยชลอการไปผ่าตัดอัณฑะหรือแปลงเพศของบุตรหลานได้ดีกว่าการคัดค้านหัวชนฝา”ผศ.นพ.ปราโมทย์กล่าว
อนึ่งนพ.เทพ เวชวิสิฐ เจ้าของและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลประตูน้ำการแพทย์จบจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีรุ่นที่ 20 ด้วย