xs
xsm
sm
md
lg

“Cyber Parent” เครือข่ายพ่อแม่เฝ้าระวังลูกติดเกม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันสื่ออินเทอร์เน็ตถือได้ว่าเป็นสื่อที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก หากมองเฉพาะในเมืองไทย การขยายตัวนี้จะได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ที่มีการเติบโตเร็วที่สุด ยิ่งการพัฒนาของสื่อรวดเร็วมากขึ้นแค่ไหน...ผู้ปกครองก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง ชี้นำให้ลูกใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ มากกว่าใช้ในทางที่ผิดมากขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ตัวของผู้ปกครองเองมีความพร้อมมากแค่ไหนในการรับมือ

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยมี เครือข่ายผู้ปกครองออนไลน์ หรือ ไซเบอร์พาเร้นท์ (Cyber Parents) จึงจัดตั้งขึ้น สำหรับที่มาของการจัดตั้ง และการทำงานของเครือข่ายฯ นั้น ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผจก.มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ให้คำอธิบายว่า ต้องการให้ความรู้ความเข้าใจสังคมในเรื่องของการใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมให้มีการใช้งานในทางที่สร้างสรรค์ ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา คือ ผู้ปกครองบางรายไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต โดยทั่วไปแล้วจะเป็นพื้นที่ตามต่างจังหวัด ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถตามลูกได้ทัน ไม่สามารถควบคุมดูแล การใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกได้ ทางเครือข่ายฯ จึงต้องการสะท้อนภาพให้สังคมได้เห็นด้านลบของการใช้งานอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งแนะนำด้านดีให้กับผู้ใช้ โดยที่เป้าหมายหลักคือ กลุ่มเยาวชน และ ผู้ปกครองที่จะเป็นผู้คอยแนะนำดูแล

** ลูกติดเกมปัญหาใหญ่รับปิดเทอม

สำหรับปัญหาที่ผู้ปกครองเกือบทุกคนต้องพบเจอกับพฤติกรรมของลูก ที่น่าห่วง คือ ช่วงนี้อยู่ในช่วงปิดเทอมนั่นคือ ปัญหาลูกติดเกม โดยที่ปัญหานี้พบบ่อยมากในช่วงของอายุ 7-8 ขวบ ไปจนถึง อายุ 30 ปี ซึ่งจากการรวบรวมสถิติของกลุ่มเครือข่ายฯ สามารถแยกประเภทของเด็กติดเกมได้เป็น 4 ระดับ คือ 1.ชอบเกม คือ เล่นเพื่อความสนุกสนาน คลายเครียด ใช้เวลาเล่นไม่มาก และทำกิจกรรมอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย สามารถควบคุมการเล่นได้ 2.คิดคำนึงถึงเกม คือ อยากจะเล่น ใช้เวลาการเล่นมากขึ้น เมื่อผู้ปกครองชวนไปไหนก็ไม่อยากไป พยายามกันเวลาไว้เพื่อเล่นเกมเพียงอย่างเดียว 3.เริ่มปฏิเสธ กิจกรรมต่างๆ ทั้งสังคม และกิจกรรมของครอบครัว โดยจะเล่นเกมอย่างเดียว และสุดท้าย 4.อยู่กับเกมตลอดเวลา จะเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ไปไหนขลุกตัวอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ เมื่อมีใครมาขัดก็จะหงุดหงิด สุขภาพจิตเสีย หากถึงระดับนี้ต้องรักษาโดยการพบจิตแพทย์อย่างเดียว

“เนื้อหาของเกมบางเกมนั้น ไม่เหมาะที่เด็กจะเล่น อย่างเช่น เกมที่มีเนื้อหารุนแรง ยิง ทำลายล้างกัน โดยบางครั้งเกมก็มีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรม คือ ให้ผู้เล่นรับบทเป็นโจร และไล่ยิงตำรวจ ขับรถไล่ชนคนอื่น เกมประเภทนี้เด็กเองจะเข้าใจ และซึมซับว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เมื่อเขาเล่นชนะก็ได้เป็นฮีโร่ ซึ่งเด็กที่อายุน้อยๆ หากได้เล่นเกมประเภทนี้บ่อยๆ เขาจะไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และยากที่จะควบคุม”


** ปล่อยลูกท่องเว็บลำพัง เสี่ยงปัญหารุนแรง

ผจก.มูลนิธิ ยังบอกอีกว่า ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยเด็กให้เล่นอินเทอร์เน็ตตามลำพัง ต้องคอยแนะนำ คอยเอาใจใส่ พยายามหาเวลาเพื่อเข้ามาดูแล เนื่องจากสมัยนี้มีเว็บไซต์เกิดใหม่อย่างมากมาย จึงไม่สามารถที่จะควบคุมเนื้อหาได้ นอกจากนั้นต้องหมั่นฝึกระเบียบวินัยให้แก่ลูก โดยการควบคุมเรื่องเวลา รู้เท่าทันสื่อ ว่าอันไหนควรอันไหนไม่ควร เช่น เมื่อเด็กไปดูเว็บไซต์ลามก แล้วเกิดอารมณ์ทางเพศเด็กอาจหาทางออกโดยการสำเร็จความใคร่ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะเป็นไปตามธรรมชาติของวัยรุ่นที่ต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสรีระ เกี่ยวกับอารมณ์ทางเพศมาเกี่ยวข้อง การที่เด็กหาทางออกเช่นนั้นจึงไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแค่อย่าหมกมุ่นจนเกินไป

แต่สิ่งที่อันตรายมากกว่านั้น คือ เด็กบางราย กลับไปแสดงออกโดยการล่อลวง เพื่อนผู้หญิงมารุมโทรม ข่มขืน ขายบริการ ถ่ายคลิปวิดีโอ ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ผิดอย่างร้ายแรง ตรงนี้เป็นส่วนที่น่าห่วง พ่อแม่ต้องดูแล และสอนลูก ให้เลือกในสิ่งที่เหมาะสม หรือเมื่อดูแล้วต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง อีกปัญหาหนึ่งมาจากสังคมในทุกวันนี้มีความสัมพันธ์ที่ห่างกัน ไม่สามารถรู้ว่าลูกต้องการอะไร ลูกทำอะไร เป็นสิ่งที่คนภายในครอบครัวไม่ได้คุยกัน ทำให้ลูกหาทางออกโดยใช้วิธีการเช่นนี้

“ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม แต่ผู้ปกครองต้องทำงานจึงไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ทางออกของผู้ปกครองในสมัยนี้ คือ เลือกที่จะให้ลูกอยู่บ้าน จะเล่นเกม ดูทีวี หรือทำอะไรก็ขอให้อยู่ที่บ้าน มากกว่าการให้ลูกไปเล่นข้างนอก โดยที่อาจจะทิ้งเงินไว้ให้ ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นการเลี้ยงลูกโดยใช้สื่อ และเงินเลี้ยงลูก ถึงช่วงปิดเทอมครั้งใดผู้ปกครองเองก็เป็นห่วงลูกแต่ทำอะไรได้น้อยมาก ดังนั้นภายในครอบครัวจึงต้องมีการวางแผนกันล่วงหน้าก่อนปิดเทอมว่าจะทำกิจกรรมใดร่วมกันบ้าง เช่น ลูกอยากทำอะไร อยากเรียนอะไร อยากไปไหน ต้องมีการวางตารางกิจกรรมไว้ล่วงหน้า และก็ปฏิบัติตามที่ได้นัดหมายกันไว้ เพื่อเป็นการแยกลูกให้ออกห่างจากเกม และสื่อไม่ดีต่างๆ ให้มากที่สุด เบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่นที่ลูกต้องการแทน แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองบังคับให้ลูกทำทุกอย่าง ตรงนี้เองเป็นการฝึกทั้งการวางแผน ฝึกระเบียบวินัยในตัวลูกด้วย” ศรีดา ฝากคำแนะนำ

** ครอบครัวเข้มแข็ง ขจัดปัญหาได้

ด้านอลิสา กุนฑลบุตร นักจิตวิทยา 6ว กลุ่มงานจิตวิทยา รพ.ราชวิถี ให้คำแนะนำอีกว่า ปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตผิดวัตถุประสงค์ และปัญหาเด็กติดเกมนั้นจะมีผลเสียต่อสภาพร่างกายเป็นอย่างมาก หากในรายของผู้ที่ติดเกมในระดับที่ถอนตัวไม่ขึ้น เล่นเกมจนถึงขนาดไม่ยอมออกห่างจากหน้าจอเป็นเวลานานๆ ร่างกายจะหลั่งสารที่ชื่อ โดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันที่พบในคนติดบุหรี่ ติดยาเสพติด หรือคนที่ทำพฤติกรรมอะไรซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานๆ เมื่อผู้ป่วยไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ หรือไม่ได้เล่นเกม จะทำให้สารนี้ไม่หลั่ง ซึ่งจะมีผลให้เกิดความกระวนกระวาย ไม่มีความสุข บางรายแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวออกมา เป็นปัญหาที่เด็กติดเกมควรระวัง ถ้าหากเกิดขึ้นก็ต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และพบจิตแพทย์เพื่อปรับสภาพจิตใจให้หายเป็นปกติ

อีกผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก คือ การเล่นเกมนั้นเด็กจะอยู่ในโลกของจินตนาการ เมื่อแพ้ หรือไม่พอใจ ก็สามารถออกจากเกม เข้ามาเล่นใหม่ได้ ซึ่งผิดไปจากการใช้ชีวิตจริง ในส่วนนี้เด็กจะไม่สามารถเข้าใจชีวิตได้ ทำให้สัมพันธภาพในโลกแห่งความจริงของพวกเขาเสียไป การสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับครอบครัว คนรอบข้างจะลดลง

นักจิตวิทยา ยังบอกถึงวิธีแก้ไขปัญหา ว่า ต้องรับฟังทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดกับเด็กก่อนว่าเกิดสาเหตุใด แต่โดยพื้นฐานแล้ว การที่เด็กติดเกมนั้น เด็กเพียงแค่ต้องการการยอมรับ ต้องการเป็นฮีโร่ ต้องการคำยกย่องชื่นชม ซึ่งในการเล่นเกมหาได้ง่าย แต่ในชีวิตจริงหายาก เพราะเมื่อเด็กเล่นเกมชนะ หรือได้คะแนนสูงๆ ก็จะมีเพื่อนในหมู่เดียวกันคอยชื่นชม คอยสนับสนุน ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเก่ง แต่ในโลกความจริงหาไม่ได้อย่างนั้น ผู้ปกครองเองต้องคอยดูลูกว่าลูกชอบ หรือต้องการอะไร ก็ต้องคอยส่งเสริมสนับสนุน ไปในทางนั้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเด็กให้เกิดขึ้น แล้วจะเป็นการความสัมพันธ์ที่ดีของคนภายในครอบครัว

“ผู้ปกครองควรดูแลลูกให้อยู่ในสายตาขณะใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือเล่นเกม ดังนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ควรวางอยู่ในส่วนกลางของบ้าน หรือที่ใดที่ผู้ปกครองสามารถดูแลได้ โดยไม่ควรจะไปอยู่ในห้องนอนของลูก เนื่องจากผู้ปกครองอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง เราจะไม่รู้ว่าเขาใช้เวลากับส่วนนี้มากแค่ไหน แต่จะว่าไปแล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งที่ต้องเอาใจใส่ อย่างจริงจังคือเรื่องของความรักความอบอุ่นในครอบครัว การให้คนในครอบครัวได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน หากลูกสามารถไว้วางใจ ผู้ปกครองรับฟังปัญหาของลูกได้ทุกเรื่อง เมื่อพูด ตักเตือนอะไรออกไป เขาก็จะรับรู้และปฏิบัติตามได้ง่ายกว่า และหากต้องการเล่นเกมก็หาเกมที่สามารถเล่นได้ทั้งครอบครัวทุกคนช่วยกันเล่น ดังนั้นความเข้มแข็งของครอบครัวจึงมีความสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาเด็กติดเกมได้” อลิสา ฝากทิ้งท้าย


ศรีดา ตันทะอธิพานิช
อลิสา กุนฑลบุตร

กำลังโหลดความคิดเห็น