“การหัวเราะเป็นยาอายุวัฒนะ” เป็นข้อเท็จจริงที่กล่าวขานกันมานาน...เพราะเมื่อยิ้มหรือหัวเราะร่า ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมน “ความสุข” ที่ชื่อ “เอ็นโดรฟิน”
ซึ่งช่วยต่อสู้กับความหวาดกลัว ความเครียด ระบบย่อยอาหารดีขึ้นกระตุ้นการเจริญอาหารและระบบต่างๆ ในร่างกายก็จะผ่อนคลาย การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น สามารถต่อต้านและช่วยบรรเทาอาการกังวล และเจ็บปวดต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ยังช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย ทำหน้าที่เก็บกวาดสิ่งที่ไร้ประโยชน์ในร่างกาย เช่น คอเลสเตอรอล ไขมันส่วนเกิน รวมถึงขยะในจิตใจด้วย การหัวเราะทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลายลง ให้ผลดีกว่าการออกกำลังกายทุกชนิด เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด
ถ้าหัวเราะ 1 นาที เท่ากับได้พักผ่อนนานถึง 45 นาที การหัวเราะถือเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งที่ช่วยให้มีชีวิตยืนยาว แต่วันนี้บรรยากาศ ฝนตก รถติด สภาพเศรษฐกิจ และเรื่องจิปาถะดูเหมือนจะทวีความตึงเครียดกับสังคม ปัจเจกมากขึ้น อัตราความถี่ของการเข้าฉายภาพยนตร์ตลก หรือสื่อรูปแบบที่ทำให้เกิดเสียงหัวเราะจึงมีมากตามไปด้วย
หากแต่จิตแพทย์บอกว่า นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ“มีทางออกเยอะแยะ ที่จะบำบัดความเครียดได้ การเข้าพบจิตแพทย์ การดูละครดูหนังอาจจะช่วยทำให้เราดีขึ้นบ้าง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เราจะดีขึ้นได้ตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร เมื่อสาเหตุที่อยู่ในใจของเรายังไม่ได้ถูกแก้”
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ ให้แง่มุมสำหรับการสร้างอารมณ์ขัน และเสียงหัวเราะ โดยแนะว่าการหาสาเหตุที่อยู่ในใจและแก้ที่ต้นตอ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาสื่อมากนัก ขึ้นอยู่ที่การมองหาคุณค่าในตนเอง การควบคุมอารมณ์ จัดแง่มุมมองที่เป็นลบให้กลายเป็นบวก เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถมองตนเองในมุมที่เป็นบวกได้ ทุกอย่างที่เป็นเรื่องที่เลวร้ายก็จะเป็นเรื่องที่ดีขึ้น และเมื่อสภาพจิตใจดีขึ้นแล้ว ก็สามารถที่จะหยิบจับเรื่องที่ดีนั้นเป็นแง่คิดที่ตลกได้ เพราะจิตบำบัดมีหลายวิธีการโดยไม่ต้องพบแพทย์ โดยเริ่มจากชีวิตประจำวัน
“ถ้าเราเดินสะดุดอะไรสักอย่าง หรือหกล้ม เดินชนโต๊ะ แทนที่จะโทษคนอื่นจนอารมณ์เสีย ก็ต้องมองในอีกมุมหนึ่งโดยกลับกันว่าคงเป็นเพราะความซุ่มซ่ามของเรา เพียงแค่นี้เราก็ยิ้มได้แล้ว มีคำพูด “ไม่เป็นไร”ให้ติดปากอยู่เสมอ ใช้ได้ทั้งกับตัวเองและคนอื่นโฟกัสที่ตัวเรามากขึ้น เพราะความสุข ความทุกข์อยู่ที่วิธีการคิดของเรา ถ้าคิดให้ลบก็จะทุกข์ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าคิดให้เป็นบวก และพร้อมที่จะให้อภัยแล้วหัดหัวเราะ ยิ้ม เรื่องก็จะจบ” นพ.กัมปนาท กล่าว
อย่างที่บอกเราเกิดมาแล้วก็รู้จักกับการหัวเราะกันตั้งแต่ก่อนจะพูดได้เสียอีก ผู้ใหญ่ควรหัวเราะวันละ 20 ครั้ง ส่วนเด็กๆ จะหัวเราะได้ถึงวันละ 200 ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของการมีพื้นฐานสุขภาพจิตที่ดี ย่อมเริ่มต้นจากพื้นฐานทางครอบครัวที่มีอารมณ์ขันด้วย...ว่าแล้ว!! ก็มาหัวเราะกันดีกว่า