นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ ซึ่งรัชกาลที่ 3 ให้จารึกลงในแผ่นศิลาติดไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีดังกล่าว ซึ่งเป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณผู้ไม่รู้หนังสือได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด และเวลาใด โดยสมมติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ เพราะคนสมัยก่อนไม่มีปฏิทินเช่นสมัยนี้ การจะรู้ว่าวันเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ตรงกับวันใดจะต้องรอให้โหรคำนวณเสียก่อน โดยแต่ละปีจะไม่ตรงกัน
จากนั้นทางราชการก็จะออก “ประกาศสงกรานต์” ของปีนั้นๆ ไปป่าวประกาศแจ้งให้ราษฎรได้ทราบถึงวัน เวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ กำหนดการพระราชพิธี ศาสนพิธี วันมงคล วันอวมงคลที่ควร/ไม่ควรประกอบกิจการ เกณฑ์น้ำฝน และชื่อนางสงกรานต์ของปีนั้นๆ เป็นต้น ซึ่งประกาศสงกรานต์นี้นับว่ามีสาระประโยชน์ยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม เพราะสมัยโน้นยังไม่มีกรมอุตุนิยมวิทยาหรือสื่ออื่นใดที่จะบอกถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก หรือแจ้งวันสำคัญต่างๆให้ทราบล่วงหน้า ประชาชนจะทราบเรื่องต่างๆ ข้างต้นก็จากประกาศสงกรานต์นี้เอง
อย่างไรก็ดี แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆจะก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังให้ความสนใจกับ “ประกาศสงกรานต์” และ “นางสงกรานต์” ในแต่ละปีอยู่ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำข้อมูลและเรื่องราวเกี่ยวกับนางสงกรานต์ ตลอดจนความเชื่อของโบราณมาเสนอให้ทราบเป็นความรู้ไว้
นางสงกรานต์คือใคร
ตามตำนานกล่าวว่า นางสงกรานต์เป็นเทพธิดาลูกสาวท้าวกบิลพรหม มีด้วยกันเจ็ดนาง และเป็นบาทบริจาริกา(สนม) ของพระอินทร์ เมื่อท้าวกบิลพรหมผู้บิดาซึ่งเป็นผู้แสดงมงคลต่างๆแก่มนุษย์ เกิดไม่พอใจธรรมบาลกุมารที่มาแข่งทำหน้าที่เดียวกับตน จึงไปท้าพนันตอบปริศนากับธรรมบาลกุมาร แล้วแพ้ จึงต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้นไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดินหรือในน้ำ ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับและนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “นางสงกรานต์” ส่วนท้าวกบิลพรหม นั้น โดยนัยจะหมายถึง พระอาทิตย์ เพราะกบิล แปลว่า สีแดง
วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก คือ วันไหน
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า “ก้าวขึ้นหรือเคลื่อนย้าย” อันหมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน แต่เมื่อใดก็ตามที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนสู่ราศีเมษ โบราณถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญ เรียกว่า “มหาสงกรานต์” เพราะถือว่าเป็นการเคลื่อนเข้าสู่วันปีใหม่อันเป็นการนับตามคติเดิม ซึ่งมักจะตกอยู่ในราว 13, 14, 15 เมษายน ซึ่งแต่ละวันก็จะมีชื่อเรียกต่างกันคือ วันที่ 13 เมษายน จะเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษอย่างที่กล่าวข้างต้น และวันนี้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา แปลว่า วันอยู่ คือ วันที่พระอาทิตย์เริ่มอยู่เข้าที่เข้าทางในราศีเมษแล้ว และรัฐบาลได้กำหนดให้วันนี้ เป็นวันครอบครัว ส่วนวันที่ 15 เมษายนเรียกว่า วันเถลิงศก คือวันเปลี่ยนจุลศักราช ใหม่ ทั้งสามวันนี้ กำหนดเรียกแบบตายตัวไว้ก็เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ แต่หากดูตามประกาศสงกรานต์อันเป็นการคำนวณทางโหราศาสตร์แล้ว ในบางปีอาจจะมีการคลาดเคลื่อนกันบ้าง
ประกาศสงกรานต์ พ.ศ.2551
“ปีชวด” เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ สัมฤทธิศก จุลศักราช 1370 ทางจันทรคติ เป็นปกติมาสวาร ทางสุริยคติ เป็นอธิกสุรทิน (อธิกสุรทิน คือ ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน /สัมฤทธิศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย ๐ ศูนย์)
วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 เวลา 18 นาฬิกา 24 นาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า “ทุงสะเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จนั่งมาเหนือหลังครุฑ เป็นพาหนะ
วันที่ 15 เมษายน เวลา 22 นาฬิกา 53 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1370 ปีนี้ วันพุธเป็นธงชัย วันอังคารเป็นอธิบดี วันอังคารเป็นอุบาทว์ วันพฤหัสบดีเป็นโลกาวินาศ
ปีนี้ วันอาทิตย์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหินพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว
เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 2 ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย
วันมหาสงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ ท่านว่าพืชพรรณธัญญาหารไม่สู้งอกงามนัก ส่วนวันจันทร์เป็นวันเนา มักจะเกิดความไข้ต่างๆ เกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ วันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล ส่วนทางล้านนาว่า ถ้าวันสังกรานต์ล่อง (หรือวันมหาสงกรานต์) ตรงกับวันอาทิตย์แล้ว ปีนั้นข้าว หมากเกลือจักแพง คนจักเป็นพยาธิ ข้าศึกจะมีแก่บ้านเมือง หนอนแมลงจักกินพืชไร่ แถมนางสงกรานต์เสด็จมา“ท่านั่ง” ซึ่งอิริยาบถนี้ เขาก็ว่าจะนำมาซึ่งความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและจะเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ อ่านโดยรวมแล้ว ดูท่าว่าจากวันปีใหม่สากลจนถึงปีใหม่แบบไทยคือวันสงกรานต์ปีนี้ มีแต่เรื่องชวนหดหู่ไม่น้อย ส่วนดีมีนิดเดียว และแม้จะไม่ดูคำทำนาย แต่จากสภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนดินฟ้าอากาศที่ผ่านมาก็บ่งบอกอนาคตได้อยู่แล้ว ยิ่งมีความเชื่อสมัยก่อนมาตอกย้ำเช่นข้างต้น หลายคนคงแทบหมดหวัง หรือเกิดอาการท้อแท้ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูนางทุงสะเทวี นางสงกรานต์ปีหนูนี้ ถ้าอ่านให้ดีจะพบว่า พระนางนั้นนอกจากจะดูไม่ดุแล้ว ยังทรงครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ผู้เป็นหนึ่งในสามมหาเทพของพราหมณ์ และในพระหัตถ์ยังทรงจักรและสังข์ ที่เป็นอาวุธของพระนารายณ์อีกเช่นกัน
ดังนั้น หากจะมองในด้านบวก นางทุงสะเทวีก็เป็นเสมือน “นอมินี” ของพระนารายณ์ที่ทรงมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองโลก และปราบปรามเหล่ายักษ์อสูรที่คอยมาสร้างความเดือดร้อนแก่มนุษย์ ส่วนภักษาหารที่เป็นผลมะเดื่อนี้ ทางฮินดูถือเป็นไม้มงคล และตามหลักวิทยาศาสตร์ก็เป็นผลไม้ที่มีแคลเซียมสูง สัตว์ต่างๆ จึงชอบกินผลมะเดื่อ อีกทั้งเปลือก รากและผลของมะเดื่อ ก็มีสรรพคุณทางยา โดยสามารถแก้ท้องร่วง ชะล้างบาดแผล สมานแผล ถอนพิษไข้ และเป็นยาระบายอีกด้วย
ดังนั้น หากเรามีความเชื่อมั่นว่า “เมืองไทยไม่สิ้นคนดี” พร้อมยึดพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต คือ รู้จัก “พอ” ในการกิน การอยู่ และใช้ชีวิตแล้ว ก็เชื่อว่าเหล่ามารทั้งหลายไม่ว่าจะมาจากระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ฯลฯ ก็มิอาจมาทำร้ายเราได้
..............................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม