xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลลับ “แบบเรียนเถื่อน” ย้อนรอยปัญหาเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การจับกุมหนังสือแบบเรียนซึ่งพิมพ์ลอกเลียนแบบหนังสือแบบเรียนขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กว่า 50,000 เล่ม โดยสามารถจับผู้กุมผู้ค้าหนังสือเถื่อนในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จำนวนหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นการจับกุมผู้ลักลอบพิมพ์แบบเรียนเถื่อนได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เนื่องจากข่าวการลักลอบพิมพ์แบบเรียนเถื่อน ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่มีมานานหลายยุคหลายสมัย เพียงแต่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้เท่านั้นเอง

จิตรนรา นวรัตน์ อัยการพิเศษ ฝ่ายคดียาเสพติด 5 สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สกสค.ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้การจับกุมผู้กระทำผิดครั้งนี้เห็นผล ได้ย้อนรอยปัญหาแบบเรียนเถื่อนให้ฟัง ว่า กระแสเรื่องการลักลอบพิมพ์แบบเรียนเลียนแบบขององค์การค้าฯ มีมาเป็น 10 ปี ซึ่งในยุคแรกๆ นั้นได้ยินเพียงข่าวลือว่ามีการพิมพ์หนังสือเรียนเถื่อน แต่ไม่เคยมีใครจับตัวผู้กระทำผิดได้

“สาเหตุที่ในยุคแรกๆ เราไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ พบเห็นแบบเรียนต้องสงสัยก็มักจะเข้าไปขอตรวจค้น โดยไม่มีหมายค้น หรือไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปด้วย หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้าไปขอตรวจค้นก็มักจะถูกเจ้าของร้านหนังสือขู่ว่าจะแจ้งความกลับข้อหาบุกรุก และทำให้กลุ่มผู้กระทำผิดไหวตัวทัน จึงไม่สามารถจับกุมใครได้ ประกอบกับในยุคนั้นคนในสังคมยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ปัญหาเรื่องแบบเรียนเถื่อนจึงยังมีให้ได้ยินมาเข้าหูอยู่บ่อยๆ”

จิตรนรา เล่าให้ฟังอีกว่า ปัญหาเรื่องแบบเรียนเถื่อนขององค์การค้าฯ ถูกกล่าวถึงอย่างหนาหูมากขึ้น ในช่วง 3 ปีที่แล้ว เนื่องจากช่วงเวลานั้นสำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปลี่ยนโรงพิมพ์ จากที่เคยจัดพิมพ์แบบเรียนกับทางองค์การค้าฯ กลับไปให้เอกชนรับงานพิมพ์ไปแทน ซึ่งเอกชนรายที่ได้รับงานไปจะได้ทั้งต้นฉบับหนังสือเรียน และเพลทพิมพ์ไปด้วย

หลังจากให้เอกชนพิมพ์หนังสือให้ สสวท.ได้ปีเดียว ก็กลับมาให้องค์การค้าพิมพ์เหมือนเดิม แต่เอกชนรายที่ได้สิทธิ์ในการพิมพ์ไปนั้น แม้ว่าปีต่อมาจะไม่ได้พิมพ์แบบเรียนให้ สสวท.แล้ว เขาก็ยังมีหนังสือออกมาจำหน่ายอยู่ โดยเขาก็อ้างว่า เป็นแบบเรียนที่ยังจำหน่ายไม่หมดจากการพิมพ์ตามสิทธิ์ที่เขาได้รับ แม้ในปีต่อมาเอกชนรายนี้ก็ยังมีหนังสือเรียนออกมาจำหน่ายอีก โดยให้เหตุผลเหมือนเดิม ทำให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระแสเรื่องแบบเรียนเถื่อนรุนแรงมาก เพราะหลายคนเชื่อว่าเอกชนอาจจะนำเพลทไปลักลอบจัดพิมพ์ หรือมีการพิมพ์เกินกว่าจำนวนที่ได้รับอนุญาต”

อัยการพิเศษ กล่าวอีกว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในการจับกุมครั้งนี้ เกิดจาก สสวท.ได้ทำวิจัยการตลาด โดยผลวิจัยจะบอกว่าแต่ละปีนักเรียนมีความต้องการหนังสือประมาณเท่าไหร่ ควรจะจำหน่ายได้เท่าไหร่ และ สสวท.จะมีรายได้ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2549-2550 ตัวเลขรายได้จากการจำหน่ายหนังสือแบบเรียนของ สสวท.ต่ำกว่าตัวเลขที่งานวิจัยประมาณการเอาไว้ ซึ่งทาง สสวท.ก็ได้ประสานเรื่องข้อมูลมาให้ตนได้ทราบมาตลอด

กระทั่งปีนี้ (พ.ศ.2551) เพียงแค่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ รายได้ของ สสวท.หายไป 100 กว่าล้าน ซึ่งเป็นการหายไปที่ผิดสังเกตมาก เพราะ สสวท.ทำวิจัยตลาด จะรู้ว่ามีหนังสือออกมาเท่าไหร่ ความต้องการเท่าไหร่ มันมีข้อมูลที่เชื่อถือได้มารองรับ ทำให้รู้ว่าปีนี้มีหนังสือแบบเรียนเถื่อนออกมาเยอะแน่นอน จึงได้มีการสั่งการให้ตรวจตรา กระทั่งเราพบแบบเรียนต้องสงสัยว่าจะเป็นของปลอม และได้นำกลับมาให้ผู้เชี่ยวชาญที่องค์การค้าฯ ตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นของปลอมที่พิมพ์เลียนแบบขององค์การค้าฯ จริง

หลังเรารู้ว่าพื้นที่ไหน ร้านไหน ผมคิดว่าต้องทำเรื่องนี้ลับที่สุด เพราะกลัวข่าวรั่ว หากข่าวรั่วออกไป เราก็จะคว้าน้ำเหลวอีก ผมตัดสินใจขอเข้าพบคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยตัวเอง และเข้าไปให้ข้อมูลกับคุณหญิงกษมาเพียงคนเดียว ซึ่งคุณหญิงก็เรียกทีมงานของคุณหญิงที่ไว้ใจได้มาช่วยกันทำงาน ร่วมกับทีมของผม ดังนั้น จึงมีคนรู้เรื่องนี้อยู่เพียง 6-7 คนเท่านั้น”

เมื่อถูกถามว่า การเข้าพบคุณหญิงกษมาเป็นเพราะตัวอัยการเอง ก็ไม่มั่นใจคนในกระทรวงศึกษาฯ และองค์การค้าฯ ด้วยใช่หรือไม่ จิตรนรา ตอบทันทีว่า

ผมไม่ไว้ใจใครเลย ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ผมไว้ใจคุณหญิงกษมา และก็ต้องเชื่อใจทีมงานที่คุณหญิงกษมาเรียกมาทำงานด้วย แม้แต่เจ้าหน้าที่ในองค์การค้าฯ ผมก็ไม่ไว้ใจ กำลังคนที่ออกไปในวันจับกุมพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมก็ขอจากฝ่ายผลิตเพราะพวกเขาจะไม่มีสายสัมพันธ์กับร้านค้าจำหน่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจผมก็ประสานกับ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร ผู้บัญชาการกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) ซึ่งเป็นเพื่อนผมโดยตรง”

เมื่อถามต่อว่า แสดงว่า การลักลอบทำแบบเรียนเถื่อนต้องมีคนในรู้เห็นด้วย จิตรนรา กล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีคนในกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะหนังสือแบบเรียนที่ยึดเป็นของกลางเป็นหนังสือที่พิมพ์ตามต้นฉบับที่มีออกวางจำหน่ายทั่วไป ส่วนหนังสือของ สพฐ.ที่อยู่ระหว่างขออนุมัติจัดพิมพ์ 3 รายการ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นข้อมูลจากคนในนั้น ไม่มีอยู่ในของกลางที่ยึดได้ มีเพียงรายการเสนอขายหนังสือ 3 เล่มนี้ของร้านค้าเท่านั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ไม่ใช่ความลับ และเป็นข้อมูลที่โรงเรียนต่างๆ รู้อยู่แล้วว่า สพฐ.มีการปรับปรุงแบบเรียนเล่มไหน เพราะเขาจะต้องเตรียมตัวสำหรับใช้ในการเรียนการสอน ส่วนคนขององค์การค้าฯ นั้น ตนไม่ได้คิดว่าเขาจะพิมพ์แบบเรียนปลอม แต่คิดว่าอาจจะมีสายสัมพันธ์ถึงกัน เมื่อมีการเคลื่อนไหวเรื่องการจับกุมหนังสือเถื่อน ก็อาจจะส่งข่าวถึงกันได้เท่านั้น

“คนที่ทำหนังสือเถื่อนจะต้องมีโรงพิมพ์และมีทุน เพราะพิมพ์น้อยจะไม่ได้กำไร ผมวิเคราะห์ว่าปีที่ผ่านๆ มา ผู้ทำผิดก็คงจะทำหนังสือเรียนเถื่อนออกมา เพียงแต่ทำออกมาไม่มากเท่าปีนี้ พอเห็นว่าขายได้ และเริ่มมีทุนรอนจากการจำหน่ายในปีก่อนๆ ก็เลยคิดการใหญ่ ทำออกมาจำนวนมากขึ้น กระทั่งตัวเลขทางการตลาดมันฟ้องออกมาให้เห็น ทำให้ร้านค้าที่นำมาจำหน่ายถูกจับกุมได้ แต่จะสาวได้ถึงตัวนายทุนและโรงพิมพ์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับร้านค้าที่ถูกจับ ว่าจะซัดทอดหรือไม่ หากไม่ซัดทอดว่ารับมาจากใคร ผมบอกได้เลยว่ายาก

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า ตัวการใหญ่ในการทำแบบเรียนเถื่อนครั้งนี้ มีอยู่เพียงรายเดียว ที่เชื่อว่ามีรายเดียวเพราะการจะขายของผิด ของร้อนจะต้องมีสายสัมพันธ์ที่ไว้ใจได้ต่อกัน จึงจะส่งหนังสือให้ ซึ่งแบบเรียนเถื่อนมีกระจายอยู่เฉพาะพื้นที่อีสานเท่านั้น แสดงว่า ตัวการยังไม่ไว้ใจจะส่งหนังสือเถื่อนออกไปภูมิภาคอื่นๆ และน่าจะเป็นคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสืออยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้สอบสวน ซึ่งก็อาจจะต้องสอบไปถึงเอกชนที่เคยได้รับสิทธิพิมพ์หนังสือแบบเรียนของ สสวท.ในอดีตด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น