ไชยา” เผยบอร์ดสปสช.มีมติเอกฉันท์เลือก นพ.วินัย สวัสดิวร นั่งเลขาธิการ สปสช.แทน นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ ที่เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง ด้วยคะแนน 24 จาก 30 คะแนน ขณะที่ “นพ.วินัย” พร้อมสานต่อนโยบาย “นพ.สงวน” เตรียมเสนอบอร์ดฯ พิจารณาของบรายหัว งบบริหารงานบุคคลเพิ่ม
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด สปสช. วันนี้ (21 มี.ค.) ว่า บอร์ดฯ 30 คน ลงคะแนนเลือกเลขาธิการ สปสช. ตามรายชื่อที่คณะอนุกรรมการสรรหาเสนอมา ประกอบด้วย นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการ สปสช. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ พ.อ.นพ.สุจริต สุนทรธรรม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช. แต่เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า นพ.พลเดช ขาดคุณสมบัติ ที่ประชุมจึงพิจารณาเลือกเพียง 2 คน ผลปรากฏว่า มีผู้เลือก นพ.วินัย 24 เสียง กรรมการงดออกเสียง 6 เสียง ส่วน พ.อ.นพ.สุรจิต ไม่มีผู้สนับสนุน จึงถือว่า นพ.วินัย ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ ด้วยเสียงส่วนใหญ่ ส่วนตนงดออกเสียงตามมารยาทของประธานบอร์ด อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้หารือถึงการจัดบริการของ สปสช. ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยให้เอกซเรย์ทุกพื้นที่ว่ามีความต้องการแตกต่างกันอย่างไร
ด้าน นพ.วินัย กล่าวว่า จะสานต่อนโยบายของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช. คนแรกที่เสียชีวิต โดยจะสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มีเอกภาพ บริหารรวดเร็ว เป็นมืออาชีพ เชื่อมประสานกับองค์กรพันธมิตร โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ต้องเดินคู่ขนานกัน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดได้เลื่อนการพิจารณางบเหมาจ่ายรายหัวปีงบประมาณ 2552 เป็นวันที่ 28 มีนาคมนี้ เบื้องต้นคณะทำงานของ สปสช. เสนองบเหมาจ่ายรายหัวไว้ที่ 2,312.48 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งมีผู้ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 47 ล้านคน ถือเป็นการเสนองบประมาณเพิ่มร้อยละ 9.57 ซึ่งปี 2551 สปสช. ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัว 2,100 บาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ สปสช. จะเสนอของบสำหรับกองทุนผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคเอดส์ แยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ส่วนงบบริหารบุคลากรปัจจุบันยังได้รับน้อย ไม่สามารถสนับสนุนงานในภูมิภาคได้ ดังนั้น งบประมาณด้านบริหารที่ควรได้รับคือ 1,300 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีนโยบายในการเสนอบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ยา อย่างไร นพ.วินัย กล่าวว่า สปสช. เป็นหน่วยงานดูแลการเข้าถึงบริการของประชาชน หากพบว่าเข้าไม่ถึงบริการเพราะยาราคาแพงก็ต้องมาพิจารณากัน แต่การทำซีแอล นั้น สปสช. ไม่มีอำนาจเสนอ ต้องเสนอให้ สธ.เป็นผู้ดำเนินการ
“ประสบการณ์ทำซีแอลยาเอดส์ ยามะเร็ง ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเครื่องมือต่อรองราคายาที่ดี ทำให้เจ้าของสิทธิบัตรยากระตือรือร้นในการเจรจา แน่นอนต้องมีแรงกดดัน ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน สำหรับยามะเร็ง สปสช. มีนโยบายที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา” นพ.วินัย กล่าว และว่าสำหรับค่าใช้จ่ายยาที่ทำซีแอล ควรแยกงบประมาณต่างหากเหมือนกองทุนยาเอดส์ โรคไต เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ
สำหรับ นพ.วินัย ปัจจุบันอายุ 54 ปี เป็นเลขาธิการ สปสช.คนที่ 2 เกิดวันที่ 3 มกราคม 2497 จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2522 ดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ปี 2536 ซึ่งในช่วงนี้ นพ.วินัย ได้ทำโครงการปฎิรูประบบบริการสาธารณสุข (Health Care Reform) ร่วมกับ นพ.สงวน ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ปี 2541 เป็นรองอธิบดีกรมการแพทย์ ปี 2543 และเป็นรองเลขาธิการ สปสช. ปี 2546