มะเร็งเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงและเป็นปัญหาด้านสุขภาพของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เรามีบุคคลสำคัญตลอดจนผู้มีชื่อเสียงที่ต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เช่น กรณีของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นายแพทย์ที่มีผลงานดีเด่นในการบุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จากไปด้วยโรคมะเร็งเช่นกัน
และแน่นอนว่า ในเมื่อมะเร็งเป็นโรคร้ายที่รักษาค่อนข้างยาก ราคายาที่ใช้รักษาโรคนี้ก็เป็นธรรมดาที่ถูกตั้งราคาจากบริษัทยาไว้ที่ตัวเลขที่สูงมาก ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีรายได้น้อยมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงยา ส่งผลให้มีการผลักดันให้มีการทำซีแอลยามะเร็งเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลเพื่อทบทวนเพื่อนำข้อสรุปที่ทบทวนเสนอรัฐมนตรี
แต่ในระหว่างการรออย่างมีความหวังของผู้ป่วยมะเร็งทุกคนนั้น ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ผู้เป็นแพทย์เจ้าของไข้ผู้ป่วยมะเร็งโลหิตจำนวนมาก เปิดเผยประสบการณ์ส่วนตัวว่า นอกจากวิธีการรักษาด้วยยาแล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำเป็นจะต้องดูแลรักษาสุขภาพกาย รวมไปถึงสุขภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่ดีทั้งคู่ รวมถึงยอมรับอาการป่วยด้วยสติ
“นอกจากการรักษาของแพทย์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีความแข็งแรงขึ้น นั่นคือ การดูแลตัวเอง การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ คือสัปดาห์ละ 3 วัน ใช้เวลาประมาณครั้งละ 20-30 นาที รวมถึงกำลังใจจากคนรอบข้างของผู้ป่วยด้วย” ผศ.นพ.นพดล กล่าว
ด้านผู้ป่วยมะเร็งผู้เปี่ยมไปด้วยกำลังใจอย่าง “น้องหนู” - รัตนากร วิทยานนท์ ได้เผยประสบการณ์การป่วยและการรักษาโรคของเธอว่า รู้สึกว่าร่างกายผิดปกติตั้งแต่ พ.ศ.2549 มีอาการคล้ายเป็นหวัดและนอนไม่อิ่ม ทำให้ไปตรวจและพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยพบก้อนมะเร็งที่ขั้วปอด น้องหนูจึงเข้ารับการรักษามะเร็งที่โรงพยาบาลศิริราช โดยเริ่มจากการฉายแสงระหว่างรอผลตรวจชิ้นเนื้อ และมาเป็นคนไข้ของ อ.หมอนพดล เมื่อต้องรับเคมีบำบัด
“ตอนฉายแสงก็มีอาการข้างเคียงที่บริเวณหลอดอาหาร มีอาการระคายเคือง ทำให้กินอาหารลำบาก ฝืดคอกว่าปกติ เมื่อกินอาหารรสจัดก็จะรู้สึกแสบ แต่ตอนนั้นรู้ว่าตัวเองป่วยจึงพยายามกินให้ได้มากๆ ยิ่งพอทำเคโมแล้วคุณหมอบอกว่ามันจะทำลายทั้งเซลล์ดีและไม่ดี เราจำเป็นต้องกินเพื่อช่วยเซลล์ดีที่ถูกทำลาย แต่น้ำหนักก็ยังลด คุณหมอบอกว่าคุณกินไม่ทันมะเร็ง ฟังแบบนี้ยิ่งพยายามกิน เพราะตั้งใจจะเอาชนะมันให้ได้”
เมื่อถามถึงอาหารการกินในช่วงป่วย น้องหนู กล่าวว่า คุณหมอไม่ได้ห้ามกินอะไรเลย ไม่ห้ามทั้งเนื้อสัตว์ แป้ง หรืออะไรทั้งนั้น เพราะขอเพียงแค่กินได้ อยากกิน คุณหมอก็ให้กินหมด เพียงแต่ขอให้กินของสะอาดและสุกใหม่ๆ
“คุณหมอไม่ห้ามอะไรทั้งนั้นค่ะ บอกว่า ถ้ากินได้กินไปเลย ขอให้เป็นอาหารที่สะอาด ครบห้าหมู่ ส่วนผักผลไม้คุณหมอขอให้สะอาดจริงๆ และขอให้เป็นผักสุก เพราะป้องกันเรื่องไข่พยาธิ ส่วนผลไม้คุณหมอขอให้เลือกผลไม้มีเปลือก เช่นพวกมังคุด เงาะ ถ้าเป็นผลไม้กินเปลือกอย่างแอปเปิ้ลต้องปอกและทำความสะอาดให้ดี หรือถ้ากลัวขาดวิตามินจากผลไม้คุณหมอก็แนะนำให้กินน้ำผลไม้ 100% พาสเจอร์ไรซ์” ค่ะ
นอกจากนี้ ในเรื่องของจิตใจ น้องหนูยอมรับว่าในช่วงแรกๆ ที่รู้ว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็รู้สึกแย่แล้ว ยิ่งภายหลังมาตรวจพบว่าเป็นระยะสุดท้ายด้วยก็ยิ่งทำให้ท้อลงไปอีก เธอสารภาพว่าเคยเหมือนกันที่คิดจะฆ่าตัวตาย
“ก็มีที่รู้สึกแย่ ตอนป่วยใหม่ๆ คุณแม่ก็ดูแลเราเหมือนคนป่วย ยกข้าวมาให้กินถึงห้อง ไม่ให้ออกไปไหน วันหนึ่งก็ขอออกไปยืนที่ระเบียง นึกเหมือนกันว่าอยากกระโดดลงไปให้มันจบๆ แต่พอเราเดินไปที่ระเบียง ก็เห็นแม่ขยับเก้าอี้มาใกล้ๆ คือเค้าคงกลัวเราฆ่าตัวตายเหมือนกัน เราก็เลยคิดว่า...เออ เราทำให้แม่ทุกข์เนอะ ก็เลยพยายามเข้มแข็ง”
ผู้ป่วยมะเร็งหัวใจนักสู้รายนี้ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังพอรับยาเคมีบำบัดไปได้ระยะหนึ่งก็อาการดีขึ้นจนรู้สึกว่าสามารถกลับไปทำงานได้ เธอจึงขอที่บ้านเพื่อกลับไปทำงาน
“ตอนกลับไปทำงาน รู้สึกดีมาก โชคดีที่ทั้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานช่วยเหลือเป็นอย่างดี เข้าใจและรวมถึงให้กำลังใจด้วย พวกเขาจะไม่พยายามให้หนูรู้สึกว่าเป็นคนป่วย ทุกคนจะไม่พูดเป็นเชิงเศร้าใจหรือสงสาร แต่จะเอาใจใส่ถามถึงแบบไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้แรงและเราก็ไม่ได้กลายเป็นคนที่ทำงานไม่ได้ หรือต้องมีคนดูแล กลายเป็นภาระสังคม”
น้องหนู ยืนยันว่า การที่ผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้ายอย่างเธอมีโอกาสทำอะไรแบบที่เป็นชีวิตก่อนหน้าป่วยในยามที่ร่างกายปกติ เป็นการเพิ่มกำลังใจที่ดีมาก
“เรามีเพื่อนกินข้าวเป็นสิบ มีเพื่อนคุย มีงานทำ วันหนึ่งๆ หมดไปเร็วมาก เราไม่ต้องหมกมุ่น ไม่ต้องเครียดหรือกังวล แล้วยังรู้สึกว่ายังทำงานได้ มีประโยชน์ต่อสังคม หนูว่าความรู้สึกนี้ช่วยให้อาการของหนูดีขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
แถมเราได้กำลังใจเยอะมากจากครอบครัว จากแฟน จากเพื่อนๆ ทำให้เรามีกำลังใจพอที่จะเชียร์ตัวเองได้ หนูคิดว่าโรคนี้มันเป็นขึ้นมาเอง เชื่อว่ามันจะหายไปเอง และเราจะไม่ยอมแพ้มัน...”
น้องหนูในวันนี้ต่างจากหญิงสาวที่จำเป็นต้องโกนผม เนื่องจากฤทธิ์ยาเคมีบำบัด เธอผมยาวขึ้นพร้อมๆ กับสุขภาพที่ดีจนขนาดที่เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดได้ จากผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาล เพราะโรคร้ายรุมเร้า รวมไปถึงอาการข้างเคียง เช่น เกล็ดเลือดต่ำ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบรุนแรงจากคีโม วันนี้เธอมีความหวังและพลังใจในการต่อสู้กับโรคร้าย จากก้อนมะเร็งขนาด 9 ซม.ภายหลังการรักษา 2 ปี ตอนนี้ก้อนเนื้อร้ายมีขนาดลดลง เหลือเพียง 3 ซม.ซึ่งเป็นผลที่น่าพอใจยิ่ง
“หนูจะสู้กับมันต่อไป”
น้องหนูทิ้งท้ายอย่างเข้มแข็ง ก่อนจะฝากไปถึงคนสุขภาพดีทั้งหลาย ว่า ก่อนหน้าที่จะป่วย เธอเชื่อว่าเธอเป็นคนที่มีพลังเหลือเฟือ อายุยังน้อย มีไฟในการทำงาน เธอจึงไม่ค่อยได้พักผ่อน บางครั้งทำงานหนักทั้งคืนโดยไม่ได้นอน อาหารที่กินเป็นมื้อหลักมีเพียงมื้อเดียวคือกลางวัน เช้ากินนมเปรี้ยว น้ำผลไม้ เย็นก็แทบไม่กินอะไรเพราะห่วงสวยตามประสาผู้หญิง ซึ่งเธอไม่เคยเฉลียวใจเลยว่ารูปแบบชีวิตของเธอนั้น จะส่งผลให้เธอต้องป่วยเป็นโรคร้าย เธอกล่าวว่า ไม่ว่าจะรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงแค่ไหน หรือมีพลังเท่าไหร่ อาหารที่ครบทุกมื้อที่มีประโยชน์ กับการพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกาย