xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง คกก.สรรหา 5 คน เลือกเลขาฯ สปสช.คนใหม่ แทน “หมอหงวน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด สปสช.ตั้งคณะกรรมการสรรหา 5 คน ทำหน้าที่คัดเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ก่อนส่งให้บอร์ด สปสช.พิจารณาแต่งตั้งภายในเดือนมี.ค.นี้ โดยเปิดรับสมัครคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช.1-15 ก.พ.ขณะที่ แพทยสภา-หมอสุวิทย์ ปฏิเสธไม่ลงชิงเก้าอี้ ขณะที่ “หมอมงคล” เผยมติบอร์ดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่คนชราที่พิการ ป่วยเรื้อรังฟรี เริ่ม มี.ค.นี้
นพ.มงคล ณ สงขลา
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 31 และ 32 เพื่อทำหน้าที่สรรหาเลขาธิการ สปสช.ตามที่มีผู้สมัครมา
ประกอบด้วย 1.ศ.นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2.ศ.พิเศษ นพ.ไพจิตร ปวะบุตร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3.นางชุมศรี พจน์ปรีชา ผู้แทนสำนักงบประมาณ 4.นายอภิชาติ จีรวุฒิ ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ 5.ภญ.สำลี ใจดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย โดยคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกทุกคนล้วนเป็นคณะกรรมการ สปสช ทั้งนี้ การสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ให้ นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการ สปสช.เป็นผู้รักษาการเลขาธิการ สปสช.แทน

นพ.มงคล กล่าวต่อว่า คณะกรรมการสรรหาจะทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาทำสัญญาจ้างและแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ ซึ่งจะมีการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช.ตั้งแต่วันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2551 โดยผู้ที่สนใจสามารถขอรับใบสมัครและยื่นใบสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเวลาราชการ โทร.02-831-4000 ต่อสำนักกฎหมาย ซึ่งคาดว่า ในภายในเดือนมีนาคมนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช.เพื่อทำสัญญาจ้าง และเริ่มปฏิบัติงานสานต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเรื่อง ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เฉพาะผู้ที่พิการ และป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 103 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้จากการประหยัดเงินการจัดซื้อยาต้านไวรัสเอดส์ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนมีนาคมนี้
โดยขั้นตอนการขอรับบริการทางโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ จะมีข้อมูลประวัติคนไข้อยู่แล้ว และจะมีการเชิญกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนเอง โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปติดต่อหรือยื่นเอกสารขอรับบริการใดๆ ทั้งสิ้น และกลุ่มเป้าหมายต่อไปที่จะได้รับวัคซีนฟรี คือ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่เป็นคนปกติ

“สปสช.ใช้เงินลงทุนแค่ 103 ล้านบาท แต่จะสามารถลดค่าใช้ด้านสาธารณสุขมากถึง 1,600 ล้านบาท หรือประหยัดไป 10 เท่า เพราะเมื่อรับวัคซีนป้องกันโรคแล้วก็จะไม่มีการป่วย คนไข้และญาติก็ไม่ต้องเสียเวลาค่าใช้จ่ายมาหาหมอ ไม่ต้องมีการตรวจรักษา หรือจ่ายยา และไม่มีค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ประหยัดไปยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านสังคม ซึ่งผลจากการศึกษาของ สปสช.ที่ จ.สระแก้ว และนครพนม พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หากได้รับวัคซีนป้องกันโรคจะมีประสิทธิภาพสูงสุด” นพ.มงคล กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาเรื่องลดความแออัดในโรงพยาบาล เนื่องจากต้องรอให้ สธ.พัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลปฐมภูมิเสียก่อน ซึ่งทาง สธ.อยู่ระหว่างการเสนอโครงการและงบประมาณต่อรัฐบาลชุดใหม่

ด้านนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุข 11 ชช.ด้านวิจัย กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ลาออกจากการเป็นข้าราชการ สธ.แต่อย่างใด และก็ไม่เคยคิดจะไปเป็นเลขาธิการ สปสช. แทน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.ที่เพิ่งเสียชีวิตไป คิดว่า อย่างน้อยคงต้องใช้ระยะเวลาอีกเป็นเดือนกว่าที่จะสรรหา และได้เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ตามกระบวนการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้มาทาบทามให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.หรือไม่ นพ.สุวิทย์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม แต่พูดติดตลกว่า “ภรรยาผมไม่ให้ไป ผมกลัวเมียต้องเชื่อเมีย”

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป หรือมีการประชุมใดๆ ในการวางแผนที่จะส่งผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.เนื่องจากระหว่างนี้ยังอยู่ในขั้นตอนคัดเลือก และแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่เสียชีวิตลง และไม่ควรที่จะรีบร้อนรวบรัดเกินไป ควรจะตั้งอยู่บนความรอบคอบรอรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารงานแทนจะมีความเหมาะสมกว่า

นพ.สมศักดิ์ กล่าวปฏิเสธกรณีที่แพทยสภาจะส่งระดับผู้ใหญ่ไปลงสมัครเป็นเลขาธิการ สปสช.ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง ที่ผ่านมา แพทยสภาก็ไม่เคยส่งตัวแทนใครลงสมัครอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ที่สมัครเป็นความต้องการเฉพาะบุคคล ที่อาจมีประสบการณ์ในการทำงานที่ตรงกับงานของสปสช.ซึ่งครั้งที่ผ่านมามีคณะกรรมการแพทยสภาลงสมัคร 3 คน แต่ก็ไม่รับการคัดเลือกแต่อย่างใด

“คงจะไม่มีการส่งใครลงในนามของแพทยสภา เพราะจะดูน่าเกียจ ที่สำคัญ คือ แม้จะทำงานกันคนละส่วน โดยแพทยสภากำกับมาตรฐานจริยธรรม แต่การทำงานระหว่างสปสช.กับงานของแพทยสภาก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว โดยมีแพทยสภาได้ส่งตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการ สปสช.” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น